วิเคราะห์การเลือกตั้ง ส.ส. ภาคตะวันออก 2554

การเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ หรือท้องถิ่น ได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนนับล้าน การเลือกคนไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติแน่นอนว่ามีความสำคัญระดับชาติ สำหรับมุมมองแบบบ้านๆ เป็นเรื่องสนุก (คอการเมือง/สภากาแฟชอบมาตั้งวงคุยกันว่า พรรคจะส่งใครเข้าเลือกตั้ง จะโฆษณาหาเสียงอย่างไร คาดการณ์ว่าใครน่าจะมาวิน ฯลฯ) ในปี 2564 จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นอีกหลายครั้ง ซึ่งล้วนได้รับความสนใจอย่างสูง เชื่อว่าขณะนี้คนสมัครนับพันคน และพรรคการเมืองหลายสิบพรรคกำลังเตรียมการเลือกเฟ้นตัวผู้สมัคร ในโอกาสนี้ขอนำผลเลือกตั้ง ส.ส.ใน 8 จังหวัดภาคตะวันออกนำมาวิเคราะห์เชิงวิชาการ โดยหวังว่าจะเป็นข้อมูลที่มีคุณประโยชน์และอยู่ในความสนใจของสาธารณชน

คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) นอกจากมีหน้าที่จัดการเลือกตั้งทุกระดับยังได้จดบันทึกข้อมูลเป็นรายละเอียดผลการเลือกตั้ง รายชื่อและบันทึกคะแนนของผู้สมัครแต่ละราย ช่วยให้นักวิชาการนำมาวิเคราะห์เรื่องราวที่น่าสนใจ กรณีศึกษาในที่นี้หมายถึง 8 จังหวัดในภาคตะวันออก แบ่งออกเป็น 27 เขต มีจำนวนผู้สมัคร 165 คน ประเด็นที่นักวิจัยอยากรู้เกี่ยวข้องกับ ก) อัตราการมาใช้สิทธิ ข) อัตราส่วนของบัตรเสียและการกา ไม่เลือกใคร หรือ no_vote ค) การได้รับชัยชนะแบบถล่มทลาย หรือว่าฉิวเฉียดในเขตเลือกตั้งใด เป็นต้น ทั้งหมดนี้จะนำเป็นข้อสังเกต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ลักษณะพิเศษ” หรือ “เอกลักษณ์” ของแต่ละภูมิภาค ดังจะอภิปรายต่อไป

รูปกราฟที่ 1 แสดงร้อยละของการกาบัตรเสีย และ “ไม่กาให้ใคร” ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 5 และ 6 ตามลำดับ รวมๆ ว่าประมาณ 11% ของการเสียคะแนน-ซึ่งน่าจะวิจัยเชิงลึกกันต่อไปว่าเพราะเหตุใด? และจะลดความสูญเสียทำนองนี้อย่างไรในครั้งต่อๆ ไป

Advertisement

การสืบค้นว่าการเป็นผู้ชนะในเขตนั้นๆ เป็นการชนะแบบท่วมท้น หรือว่าฉิวเฉียด? โดยสร้างตัวแปรที่เรียกว่า winner และ runner พร้อมกับบันทึก ร้อยละที่ได้คะแนนเสียง (เทียบกับคะแนนเสียงทั้งหมด) เป็นที่ทราบกันดีว่า ถ้าได้เกินกว่า 50% ย่อมเป็นผู้ชนะอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ในบางโอกาส คะแนนไม่ถึง 50% ก็สามารถเป็นผู้ชนะได้เหมือนกัน เช่น คนแรกได้ 35% คนที่สองได้ 33% คนที่สามได้ 30% เป็นต้น

รูปกราฟที่ 2 และ 3 แสดงผู้ชนะและพรรคที่สังกัด และคะแนนเสียงที่ได้รับ (ร้อยละของคะแนนทั้งหมด) เราพบว่า การชนะอย่างท่วมท้นเกิดขึ้นในกรณีพรรคเพื่อไทย (น.ส.ตรีนุช เทียนทอง) ได้รับคะแนนถึง 74% ของคะแนนเสียงทั้งหมด ในทางตรงกันข้ามมีกรณีผู้ชนะ–แต่ว่าได้คะแนนไม่ถึง 35% นั่นคือกรณีพรรคภูมิใจไทย (นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร) ถือว่าเป็นการชนะแบบฉิวเฉียดมากๆ

กรณีการแพ้ชนะแบบฉิวเฉียดคือ นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร พรรคภูมิใจไทย ได้รับคะแนน 46,073 คิดเป็นร้อยละ 33.69 ส่วนรองผู้ชนะ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ พรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนน 45,960 ร้อยละ 33.60

ข้อสังเกตของนักวิจัยคือ การแข่งขันในภาคตะวันออกถือว่าเข้มข้น ใน 27 เขตเลือกตั้งผู้ชนะมาจาก 5 พรรคการเมืองด้วยกัน คือ ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังชน และชาติไทยพัฒนา อนึ่ง กรณีพรรคพลัชล สะท้อนลักษณะ “ภูมิภาคนิยม” (regionalism) หมายถึงชูธงว่าต้องการเป็นตัวแทนของคนชลบุรี และตะวันออกในการผลักดันความเจริญก้าวหน้าในภูมิภาค โดยมิได้หวังว่าจะเป็นพรรคใหญ่ หรือแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่คาดหวังการเข้าร่วมรัฐบาลและผลักดันนโยบายเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น-ภูมิภาค นี่เป็นการเมืองแบบไทยๆ (ในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปมีลักษณะแบบนี้หรือไม่-ต้องสืบค้นต่อ) ความสำเร็จของพรรคพลังชลอาจจะเป็น “ตัวแบบ” ให้เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นๆ ก็ได้

ข้อคิดเห็น เราน่าจะสืบค้นข้อมูลต่อว่า พรรคพลังชลได้ทำบทบาทอย่างไรภายหลังเลือกตั้ง และมีส่วนผลักดันความเจริญในภูมิภาคเพียงใด สมกับจั่วหัวว่า “พลังชล” หรือไม่เพียงใด อีกประการหนึ่งผู้สมัครลำดับที่สอง (runner-up) ยังคงมีปฏิสัมพันธ์กับพรรคอย่างไร- เช่น การต่างตอบแทน (reciprocity) โดยพรรคเชิญให้เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาหรือเป็นคณะกรรมาธิการ หรือวางตัวสำหรับการเลือกตั้งในครั้งต่อไป เพราะการได้ลำดับที่สองนับป็นผลงานที่ดี–สะท้อนแววและศักยภาพที่จะเติบโตในตลาดทางการเมืองในอนาคต

พิชิต รัชตพิบุลภพ

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image