สุจิตต์ วงษ์เทศ: พ่อขุนศรีนาวนำถุม สถาปนากรุงสุโขทัย ไม่ใช่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ตามที่บอกในตำรา

นักวิชาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดีกรมศิลปากร ถือตนและยกตนว่ารอบรู้หลักฐานมากกว่าและดีกว่าใครในไทยและในโลก เมื่อพบว่าแท้จริงแล้ว “สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย” จึงปลดข้อความนี้ออกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุโขทัย แล้วไม่เขียนใส่ในหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย (เล่มใหม่)
แต่ไม่แถลงข่าวเป็นทางการ ไม่มีเอกสารวิชาการอธิบายให้รู้ทั่วกันทั้งสังคมไทยและทั้งโลก อย่างนี้ไม่ดี ไม่เหมาะ
ช่วงนี้เป็นกาละเทศะเหมาะสมที่สุด (และเหมาะสมนานหลายสิบปีแล้ว) ที่กรมศิลปากรควรบอกความจริงแก่สังคมว่า “สุโขทัย ไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย” และไม่มีอาณาเขตกว้างขวางใหญ่โตถึงแหลมมลายูตามที่เคยเข้าใจ ทั้งนี้เพื่อความปรองดองสมานฉันท์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ถ้าทำนอนหลับไม่รู้นอนคู้ไม่เห็น ก็เท่ากับหลอกลวงแล้วให้ร้ายสังคมไทยต่อไปอีกให้หลงผิด เข้าใจผิด แล้วขัดแย้งรุนแรงกับเพื่อนบ้านโดยรอบ เหมือนที่เคยเป็นมานานมาก
นอกจากนั้นก็เท่ากับกรมศิลปากรและกระทรวงวัฒนธรรม สมคบกันหากำไรจากการโฆษณาหลอกลวงให้คนไปเที่ยวราชธานีแห่งแรกของไทย ทั้งๆ รู้เต็มอกว่าไม่จริง

ศรีนาวนำถุม ไม่ใช่ศรีอินทราทิตย์

พ่อขุนศรีนาวนำถุม เป็นนามเจ้านายผู้นำมีอำนาจเหนือลุ่มน้ำน่าน-ยม
นามนี้พบในศิลาจารึกวัดศรีชุม (ในเมืองเก่าสุโขทัย) ซึ่งเป็นจารึกเก่าสุดขณะนี้ที่พบบริเวณลุ่มน้ำนี้ ผมเขียนเล่าไว้ในหนังสือกรุงสุโขทัย มาจากไหน? (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2548) จะคัดมาดังต่อไปนี้
ข้อความในจารึกบอกเล่าเหตุการณ์หลัง พ.ศ. 1700 จับใจความสำคัญได้ว่า พ่อขุนศรีนาวนำถุมเป็นผู้สถาปนากรุงสุโขทัยขึ้นบริเวณลุ่มน้ำยม
ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าพ่อขุนศรีนาวนำถุม พูดตระกูลภาษาใด? และเป็นชนเผ่าชาติพันธุ์ไหน?
แต่นักวิชาการด้านภาษาอธิบายว่าคำ “นำถุม” มีต้นเค้าจากชื่ออื่นๆ ในสมัยหลังลงมาว่าาหมายถึง “น้ำท่วม” เป็นคติเก่าแก่ของคนพื้นเมืองดั้งเดิมตั้งชื่อลูกที่เกิดปีน้ำท่วมว่า “นำถุม” ส่วนคำว่า “ศรี” เป็นภาษาสันสกฤต และคำว่า “นาว” อาจมาจากภาษาบาลี-สันสกฤต หรือมาจากคำในภาษาอื่นก็ได้

เมืองสุโขทัยแรกสถาปนาบริเวณวัดพระพายหลวง พุทธสถานแบบมหายาน อยู่ทางทิศเหนือ นอกกำแพงเมืองเก่าสุโขทัย มีปรางค์สามองค์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน เหมือนปรางค์สามยอดเมืองละโว้ (ลพบุรี)
เมืองสุโขทัยแรกสถาปนาบริเวณวัดพระพายหลวง พุทธสถานแบบมหายาน อยู่ทางทิศเหนือ นอกกำแพงเมืองเก่าสุโขทัย มีปรางค์สามองค์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน เหมือนปรางค์สามยอดเมืองละโว้ (ลพบุรี)

ตระกูลใหญ่ลุ่มน้ำน่าน

พ่อขุนศรีนาวนำถุม เป็นผู้นำของตระกูลใหญ่ มีหลักแหล่งอยู่ทางลุ่มน้ำน่านเขตอุตรดิตถ์-พิษณุโลก ที่มีพัฒนาการเป็นชุมชนเมื่อราว 2,500 ปีมาแล้ว
จากนั้นเติบโตขึ้นเป็นชุมชนใหญ่ หรือสถานีการค้าตั้งแต่หลัง พ.ศ. 1000 ซึ่งเป็นยุค “ทวารวดี”
ครั้นถึงหลัง พ.ศ. 1500 ก็เป็นดินแดนในเครือข่ายอำนาจทางการเมืองและการค้าของรัฐละโว้ (กัมโพชที่ลพบุรี) จึงมีชื่อในตำนานว่า “กัมโพช” ด้วย
มีพยานหลักฐานไม่น้อยน่าเชื่อว่าตระกูลใหญ่ของพ่อขุนศรีนาวนำถุม มีศูนย์อำนาจอยู่บริเวณเมืองพิษณุโลก (ชื่อในยุคหลังๆ สืบจนปัจจุบัน) แล้วมีลูกนามว่าพ่อขุนผาเมือง ที่จะมีในประวัติศาสตร์ยุคต้นของกรุงสุโขทัยต่อไป
บริเวณเมืองพิษณุโลกสมัยโบราณ ตั้งอยู่บนลำน้ำสองสายขนาบ คือ แม่น้ำน่าน (มีชื่อในเอกสารสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกแม่น้ำโพ เป็นเหตุให้มีชื่อปากน้ำโพ อยู่ จ. นครสวรรค์) ที่ชาวบ้านเรียกแควใหญ่ กับแม่น้ำอีกสายหนึ่งชาวบ้านเรียกแควน้อย มีต้นน้ำอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของพิษณุโลกไปทางเขต อ. นครไทย แล้วมีช่องทางระหว่างหุบเขาต่อเนื่องถึง อ. ด่านซ้าย จ. เลย สู่แม่น้ำโขงที่ อ. เชียงคาน
มีร่องรอยในจารึกวัดศรีชุมกับเอกสารอื่นๆ เช่น พงศาวดารเหนือ ฯลฯ ระบุตรงกันว่าตระกูลใหญ่ของพ่อขุนศรีนาวนำถุม มีความสัมพันธ์เป็น “เครือญาติ” เกี่ยวดองไปทางบริเวณสองฝั่งโขงตั้งแต่เมืองเชียงแสน ( จ. เชียงราย) เมืองหลวงพระบาง (ล้านช้าง) เมืองเวียงจัน (ศรีโคตรบูร) ขณะเดียวกันก็เป็น “เครือข่าย” ของรัฐละโว้ บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่อยู่ใกล้ทะเลอ่าวไทยด้วย

รัฐละโว้ สนับสนุนให้เกิดรัฐสุโขทัย นับถือพุทธมหายาน

รัฐละโว้สมัยนั้นนับถือศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธฝ่ายมหายานเป็นแหล่งสรรพวิทยาการและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมืองสำคัญที่สุดสมัยนั้น
คนทั่วไป (ภายนอก) เรียกชาวละโว้ครั้งนั้นอย่างยกย่องว่า “ขอม” โดยไม่ระบุเผ่าพันธุ์ แต่เหมารวมๆ ไม่ว่าจะเป็นตระกูลภาษากลุ่มชาติพันธุ์ใดก็ตาม ถ้าอยู่ในขอบเขตเมืองละโว้ แล้วนับถือฮินดูกับมหายาน มีความรู้ตัวอักษรเขมรก็เรียกอย่างยกย่องเป็น “ขอม” ทั้งนั้น
ฉะนั้น “ขอม” จึงไม่ใช่ชนชาติใดชนชาติหนึ่งโดยเฉพาะ แม้จะอยู่ในตระกูลภาษาลาว-ไทย ก็ถูกเรียกอย่างยกย่องเป็น “ขอม” ได้ ถ้าเข้ารีตนับถือฮินดูหรือมหายาน ใช้ตัวอักษรเขมร (หรือปะปนกันทั้งฮินดู ทั้งมหายาน) ครั้นหลังจากนั้นต่อมาอีกนาน จึงโอนชื่อ “ขอม” ให้หมายถึงพวกเขมรในกัมพูชา เพราะใช้ตัวอักษรเขมรสืบเนื่องมา
เมื่อรัฐละโว้เป็นศูนย์กลางของศาสนาพราหมณ์กับศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน แล้วอุดหนุนให้เกิดบ้านเมืองขึ้นทางลุ่มน้ำน่าน-ยม
จะเห็นว่ามีการสร้างเทวสถานปู่จาขึ้นบริเวณเชิงเขาหลวง กับศาลตาผาแดง บริเวณเมืองเก่าสุโขทัย แล้วกระจายไปที่อื่นๆ อีก เช่น บริเวณที่เป็นเมืองศรีสัชนาลัยบนลุ่มน้ำยมเดียวกัน
แต่ร่องรอยของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมีอยู่ที่วัดพระพายหลวง เมืองเก่าสุโขทัย
บริเวณวัดพระพายหลวง ที่อยู่ทางทิศเหนือนอกกำแพงเมืองเก่าสุโขทัยปัจจุบัน คือขอบเขตเก่าสุดของ “เมือง” ที่พ่อขุนศรีนาวนำถุมปกครองเป็น “เครือข่าย” ของรัฐละโว้ (ที่ขณะนั้นมีศูนย์กลางอยู่เมืองอโยธยาศรีรามเทพ หรือกรุงศรีอยุธยาในสมัยหลังต่อมา)
ที่วัดพระพายหลวง มีพุทธสถานทางมหายาน มีปรางค์สามองค์ตั้งบนฐานเดียวกัน เช่นเดียวกับปรางค์สามยอดเมืองละโว้ (ลพบุรี) และมีคูน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบปรางค์สามองค์นั้นในลักษณะเดียวกับปราสาทขอมทั้งในอีสานและกัมพูชาเป็นพยานสำคัญ
ชี้ให้เห็นว่าบริเวณนี้มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับรัฐละโว้อย่างแยกไม่ได้ ซึ่งหมายความว่า ยกย่องพุทธศาสนามหายานเป็นสำคัญเหมือนรัฐละโว้

Advertisement

[พรุ่งนี้อ่านประวัติศาสตร์สุโขทัย แรกสถาปนา ได้จากจารึกวัดศรีชุม ไม่มีในจารึกพ่อขุนฯ]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image