บทบาท รบ.-รัฐสภา ตีความ คำวินิจฉัย แก้ รธน. ลดขัดแย้ง

บทบาท รบ.-รัฐสภา ตีความ คำวินิจฉัย แก้ รธน. ลดขัดแย้ง

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน นัดประชุมเพื่อลงมติกรณีคำร้องที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1)

ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เสียง วินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้วต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง

คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นที่มาของพาดหัวหนังสือพิมพ์ในวันต่อมา

ศาลรัฐธรรมนูญชี้สภาแก้ไข รธน.ได้ แต่ต้องประชามติ

Advertisement

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ได้เกิดการตีความคำวินิจฉัยว่าทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังค้างอยู่ที่รัฐสภา โดยมีกำหนดการโหวตวาระ 3 ในวันที่ 17 มีนาคม ต้องมีอันเป็นไปหรือไม่

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มองว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระ 1 และ 2 ไม่แท้ง แต่สำหรับวาระ 3 ต้องพิจารณา

ทางหนึ่ง คือ ตัดสินใจเลิก ทางหนึ่ง คือ ตัดสินใจดำเนินการต่อ

แต่นายวิษณุเห็นว่า การดำเนินการต่อจะยุ่งหน่อย โดยจะมีคนเลี้ยวเข้าไปที่ศาลรัฐธรรมนูญอีกหน

ทั้งนี้ ต้องรอฟังทิศทางหลังจากรัฐสภาได้พิจารณาในวันที่ 17 มีนาคม

ขณะที่ นายชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า มองว่า คำวินิจฉัยนี้ทำให้ไม่สามารถลงมติในวาระ 3 ได้ เพราะต้องทำประชามติก่อนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับสามารถทำได้หรือไม่

นายชำนาญสรุปว่า จะต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ทำประชามติถามประชาชนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่

ครั้งที่ 2 เมื่อผ่านการพิจารณาวาระ 3 เสร็จต้องมาทำประชามติว่าเห็นด้วยกับเนื้อหาที่แก้ไขหรือไม่

และหากในร่างแก้ไขมีการให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ก็จะเข้าสู่การทำประชามติ ครั้งที่ 3 เมื่อ ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว

หรืออาจจะต้องทำประชามติ 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 ทำประชามติถามประชาชนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ ซึ่งก็อาจจะระบุไปเลยว่าไม่ต้องมาทำประชามติอีกครั้ง เพราะทำประชามติครั้งแรกไปแล้ว เหมือนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เมื่อผ่านสภาแล้ว ประธานสภาก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย

และครั้งที่ 2 เมื่อ ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็ต้องทำประชามติอีกครั้ง

ทั้งนี้ นายชำนาญตั้งข้อสังเกตว่า ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญบอกให้ทำประชามติใหม่

และในมาตรา 256 ก็ไม่ได้บอกไว้ กรณีคำวินิจฉัยนี้เป็นเพียงความเห็นหรือไม่

ดังนั้น การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ในวันที่ 17 มีนาคม จึงไม่สามารถทำได้ เพราะจะขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าการตั้ง ส.ส.ร.คือการทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จึงต้องทำประชามติก่อน

มีแนวโน้มว่า การพิจารณาวาระ 3 จึงเป็นอันตกไป

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กลับมองอีกมุม

นายชูศักดิ์มองว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยออกมา คือ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านวาระ 3 แล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเสียก่อนว่า จะเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เมื่อประชาชนเห็นชอบก็นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม

หลังจากนั้นต้องเลือก ส.ส.ร.ตามรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม แล้ว ส.ส.ร.ก็ไปยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ให้ไปทำประชามติอีกครั้ง ถ้าประชาชนเห็นชอบก็เข้าสู่กระบวนการประกาศใช้

ทั้งหมดที่ทำอยู่สอดคล้องเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น จากนี้ต้องเดินหน้าลงมติร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 ต่อไป

ทั้งนี้ นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ระบุว่า มีความเห็นหลายมุมในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม หากโหวตวาระ 3 ผ่าน ต้องไปทำประชามติครั้งแรก ใช้เวลา 90-120 วัน พอผ่านการทำประชามติ ก็เลือกตั้ง ส.ส.ร. 200 คน แล้วไปยกร่าง ใช้เวลา 240 วัน เสร็จแล้วก็ไปทำประชามติ ครั้งที่ 2 ผ่านแล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ 60 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

รวมระยะเวลาทั้งสิ้น ราวๆ 20 เดือน

ผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้แต่ละฝ่ายตีความไปตามที่ตัวเองเชื่อ

กลุ่มที่ต้องการล้มร่างแก้รัฐธรรมนูญ ย่อมตีความว่าร่างฉบับที่กำลังจะยกมือโหวตวาระ 3 นั้น แท้งแล้ว

กลุ่มที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ตีความว่า ร่างฉบับที่กำลังดำเนินการอยู่ สามารถดำเนินการได้ต่อไป เพียงแต่เพิ่มการทำประชามติตามที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุ

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งกลับมองว่า ร่างฉบับที่กำลังดำเนินการถือเป็นโมฆะ เพราะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับ ส.ส.ร.ที่จะไปยกร่างใหม่ ทำให้ต้องทำประชามติก่อน

ความเห็นที่แตกต่างนี้ หากรัฐสภาและรัฐบาลในฐานะที่เคยแสดงเจตนาผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นกลไกการลดความขัดแย้งทางการเมืองมาตั้งแต่ต้น แสวงหาหนทางออกที่นำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายได้ ย่อมเป็นเรื่องที่ดี

ดีกว่าการปล่อยให้การตีความคำวินิจฉัยบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น

ดังนั้น ทั้งรัฐบาล และรัฐสภา จึงถือเป็นกลไกในระบบที่ต้องแสวงหาคำตอบร่วมกันในผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

หากสามารถหาคำตอบ และสามารถผลักดันให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. และยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเป็นเจตนาเดิมของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขในปัจจุบันได้ โอกาสที่รัฐบาลและรัฐสภา จะใช้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการลดความขัดแย้ง ย่อมยังคงมีอยู่

แต่ถ้าทั้งรัฐบาลและรัฐสภา ไม่สามารถสร้างความหวังการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เกิดขึ้นได้

รัฐบาลย่อมยินดี เพราะสามารถดำรงอยู่ได้ต่อไป

รัฐสภาย่อมยินดี เพราะสามารถดำรงอยู่ได้ต่อไป

เหลือเพียงสังคมไทยเท่านั้นที่จะรู้สึกยินดีไปกับรัฐบาลและรัฐสภาหรือไม่

ถ้าไม่ ประเทศไทยก็น่าเป็นห่วง เพราะทุกนาทีคือความเสี่ยงทางการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image