เรื่องของ’นายกฯ’ ใน-นอกตะกร้า และปม’สง่างาม’

บรรยากาศการเตรียมการสำหรับการเลือกตั้ง และนายกรัฐมนตรีคนต่อไป เข้มข้นร้อนแรงเป็นลำดับ

ที่น่าสนใจ คือ สเปกของนายกฯ คนต่อไป จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า “…(นายกฯ) จะมาจากไหนก็มาเถอะ สิ่งสำคัญต้องสง่างาม นอกนั้นผมไม่รู้ ขอร้องวันนี้ขอให้ประเทศชาติได้สงบบ้างเถอะ”

แม้จะไม่ได้กล่าวอย่างลงลึกถึงรายละเอียดของความสง่างามของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ก็ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร
แนวโน้มที่มาของนายกฯ ในขณะนี้ มี 2 ช่องทางด้วยกัน

Advertisement

ทั้งนี้ เป็นไปตามร่างรัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาล และเนื้อหาจากคำถามพ่วง ซึ่งทั้งหมดผ่านประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2559 มาแล้ว

ช่องทางแรก ภายใต้การจัดการของสภาผู้แทนฯที่ประกอบด้วย ส.ส.500 คน จากการเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ

เริ่มจาก พรรคการเมืองแต่ละพรรค จะต้องเสนอบัญชีผู้เหมาะสมเป็นนายกฯ พรรคละไม่เกิน 3 คน ต่อ กกต.

โดยต้องมีคุณสมบัติ ตามรายละเอียดที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ

ภายหลังเลือกตั้ง ประกาศผลแล้ว จะมีการประชุมสภาผู้แทนฯ เพื่อพิจารณาบุคคลเป็นนายกฯ โดยนำชื่อจากบัญชีมาโหวต ใครได้เสียงเกินครึ่งก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน อาจทำให้สถานการณ์การเลือกนายกฯ ยุ่งยากมากขึ้น โดยเฉพาะหากพรรคการเมืองได้เสียงเข้ามาไม่เด็ดขาด

และไม่สามารถตกลงกันได้ จะเป็นโอกาสให้เกิดการหาตัวนายกฯในอีกช่องทางหนึ่ง

บทเฉพาะกาลกำหนดว่า หากไม่สามารถหาตัวนายกฯได้ตามวิธีการดังกล่าวข้างต้น

ให้ที่ประชุมรัฐสภา ที่ประกอบด้วย ส.ส.และ ส.ว. สามารถมีมติให้ยกเว้นการใช้วิธีการดังกล่าว ซึ่งจะเปิดโอกาสให้มีการนำเอาบุคคลที่มิได้มีชื่อในบัญชี หรือในตะกร้า ให้มารับการโหวตเป็นนายกฯได้

จากเดิม ที่ ส.ว.เข้ามาปลดล็อกให้นำเอาบุคคลนอกตะกร้ามารับการโหวตได้ แล้วให้การหาตัว ส.ส. เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนฯ

คำถามพ่วงที่ผ่านประชามติ เพิ่มอำนาจเปิดทางสะดวก ให้ ส.ว. ร่วมกับสภาผู้แทนฯโหวตเลือกนายกฯได้

และที่กำลังจะเพิ่มเข้ามา ก็คือ กรณีที่ สนช.เสนอให้ กรธ. เพิ่มเติมในร่างรัฐธรรมนูญ ให้ ส.ว.เสนอชื่อนายกฯได้ด้วย แทนที่จะเป็นเฉพาะบทบาทของสภาผู้แทนฯ

ในช่องทางนี้ ส.ว.250 คน จะมีบทบาทเป็นอย่างสูง ในการกำหนดตัวนายกรัฐมนตรี

หากกล่าวถึงความสง่างาม ก็น่าจะมีนัยถึงความถูกต้อง ชอบธรรม

ความสง่างามของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี น่าจะผูกโยงกับเรื่องของครรลองระบอบประชาธิปไตย นั่นคือ มีที่มาจากประชาชน

แต่หากพิจารณาจากช่องทางที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในกรณีที่จะต้องให้ ส.ว.เข้ามาร่วมในกระบวนการต่างๆ คำว่า สง่างาม อาจจะมีปัญหาต้องถกเถียงกัน

ที่น่าสนใจยังได้แก่ อรรถาธิบายจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่กล่าวเมื่อวันที่ 24 ส.ค.ถึงรายละเอียดของการให้ ส.ว.เสนอชื่อ และร่วมเลือกนายกฯ

และตอนหนึ่ง ยังกล่าวถึงเรื่องความสง่างาม ที่นายกฯประยุทธ์ได้เอ่ยถึงก่อนหน้านั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากต้องมีนายกฯคนนอก กลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์เหมือนปี 2535 ที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่

นายวิษณุกล่าวว่า “ไม่ทราบและไม่ตอบ เพราะวันนั้นยังไม่มาถึง เคยฟังที่พระพุทธเจ้าเคยสอนหรือไม่ว่า อย่ากังวลในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง”

อย่างไรก็ตาม พิจารณาจากสถานการณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน

“อนาคต” ที่ยังมาไม่ถึงมีประเด็นชวนให้ขบคิดเป็นพิเศษ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image