‘รัฐนักล่า’ในเศรษฐกิจการเมืองไทยปัจจุบัน

แนวคิดเรื่อง “รัฐนักล่า” (predatory state) เป็นแนวคิดที่ไม่ค่อยได้มีการนำมาพูดถึงกันมากนักในสังคมไทย แม้ว่าจะมีความน่าสนใจและมีคุณประโยชน์ในการนำมาถกเถียงและสร้างมุมมองใหม่ในการทำความเข้าใจบทบาทของรัฐ และระบอบการเมืองเศรษฐกิจสังคมของไทยในห้วงระยะเปลี่ยนผ่านไม่กี่ปีนี้

โดยเฉพาะถ้าจะพิจารณาเศรษฐกิจการเมืองไทยในยุค “หลังทักษิณ”

จะว่าไปแล้วการพูดถึงสภาวะ “หลังทักษิณ” นั้นก็อาจจะไม่เป็นที่ยอมรับของคนจำนวน
หนึ่ง ที่ยังเชื่อและทำมาหากินกับความเชื่อว่าทักษิณนั้นเป็นศูนย์กลางของปัญหาที่เกิด
ขึ้นในสังคมการเมืองและเศรษฐกิจไทย หรือบางคนอาจจะเริ่มคลายความเชื่อนั้นลงแล้ว แต่ก็เชื่อว่าจากทักษิณก็ต้องมาธนาธรนี่แหละครับ

แต่กระนั้นก็ตาม การทำความเข้าใจเศรษฐกิจการเมืองไทยในยุค “หลังทักษิณ” นั้นอาจจะหมายถึงทั้งในแง่พัฒนาการประวัติศาสตร์ที่มองว่าทักษิณไม่ได้เป็นศูนย์กลางอำนาจรัฐและอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศนี้ไปแล้ว หรือจะมองว่าทำไมอิทธิพลของทักษิณยังคงอยู่ทั้งจากการเมืองเศรษฐกิจที่เป็นจริง และจากอุดมการณ์ที่จะต้องยืนขั้วตรงข้ามกับทักษิณอยู่เสมอในแง่ของความเข้าใจทางการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศนี้

Advertisement

ในยุคหนึ่งเคยมีการนำเอาทฤษฎี “รัฐผู้ล่า” มาใช้กับการศึกษาเปรียบเทียบ ระบอบปูติน กับ ระบอบทักษิณ (เช่น งานวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของอาจารย์ ชุมพล อุ่นพัฒนาศิลป์-ความถดถอยของประชาธิปไตยภายใต้รัฐบาลทักษิณและปูติน : ความท้าทายต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย-วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2553) แต่ในปัจจุบันยังไม่ค่อยได้มีการนำเอาแนวคิดเรื่องรัฐนักล่ามาเข้าใจเศรษฐกิจการเมือง และสังคมไทยในช่วงหลังยุคทักษิณอย่างเป็นระบบ

และถ้าย้อนกลับไปในช่วงของความตื่นเต้นในการศึกษาระบอบทักษิณเอง กลับพบว่าเกือบจะตอนท้ายของการอยู่ในอำนาจของทักษิณเองต่างหากที่การศึกษาระบอบอำนาจที่เข้าใจกันว่าถูกท้าทายจากระบอบทักษิณเพิ่งจะเริ่มก่อตัวอย่างเป็นระบบ พูดง่ายๆ ว่าในยุคนั้นความท้าทายจากระบอบทักษิณกลับเป็นที่สนใจมากกว่าตัวระบอบที่อยู่ก่อนหน้าระบอบทักษิณเสียอีก แต่เมื่อตัวทักษิณเองออกจากศูนย์กลางของระบอบ แต่ฐานมวลชนและเครือข่ายของทักษิณเอง
เข้ามาโลดแล่นทางการเมืองเพิ่มขึ้น เราจึงเริ่มเห็นงานที่ว่าด้วยเรื่องของระบอบที่ถูกท้าทาย
จากระบอบทักษิณและการก่อตัวใหม่ๆ ของเครือข่ายดังกล่าวในยุคปัจจุบันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานของพอล แฮนลี่ย์ ดันแคน แมคคาโก เออเชนี่ เมริโอพอล แชมเบอร์ ชนิดา ชิตบัณฑิต งานของประจักษ์ ก้องกีรติ และวีรยุทธ กาญจนชูฉัตร รวมไปถึงงานของ อาษา คำภา ซึ่งมีแนวคิดที่น่าสนใจในทางทฤษฎีหลายประการ อาทิ เรื่องของเครือข่ายอำนาจ การครองความ คิด ระบบทุนนิยมช่วงชั้น รัฐคู่ขนาน หรือรัฐพันลึก แต่ไม่มีการนำเอาแนวคิดเรื่องรัฐนักล่าเข้ามาทำความเข้าใจระบอบอำนาจที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันมากนัก

กอปรกับพัฒนาการและข้อถกเถียงในเรื่องของรัฐนักล่านั้นก็พัฒนาเพิ่มขึ้นอยู่ไม่น้อยในวงวิชาการทั้งด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องการพัฒนา จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่อาจจะมีบางมุมมองที่ทำให้เราได้เห็นมิติใหม่ๆ ของการเข้าใจระบอบอำนาจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้มากขึ้น นอกจากทั้งคำเปรียบเปรยและความรู้สึกที่ว่ารัฐไทยในปัจจุบันนั้นกำลังทั้งล่า และไล่ล่าผู้คนในสังคมอย่างเข้มข้นจริงๆ โดยเฉพาะการทำความเข้าใจรัฐนักล่าที่เปลี่ยนผ่านมาจากระบอบเผด็จการรัฐประหารเต็ม
รูปมาสู่ระบอบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งค่อนข้างแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับการวิเคราะห์เรื่องรัฐผู้ล่าในสมัยระบอบทักษิณ ด้วยว่าเป็นคนละระบอบกัน

Advertisement

ในระดับแนวคิดทฤษฎีนั้น รัฐนักล่า เป็นแนวคิดที่น่าสนใจเพราะทำให้เราสามารถย้อนกลับไปตั้งคำถามกับเงื่อนไขเบื้องต้นที่นักรัฐศาสตร์ชอบสมาทานเป็นสารตั้งต้นในการทำความเข้าใจว่ารัฐนั้นคือองค์กรที่ผูกขาดความรุนแรง และใช้ความรุนแรงได้โดยมีความชอบธรรม เพราะการทำความเข้าใจเรื่องรัฐนักล่านั้นทำให้เราสนใจมากขึ้น ว่าเมื่อไหร่กันที่รัฐนั้นสามารถผูกขาดความรุนแรงได้ และเอาเข้าจริงรัฐนั้นใช้ความรุนแรง และจัดการเราด้วยความรุนแรงมาโดยตลอด

ในแง่นี้การเรียกร้องไม่ให้รัฐใช้ความรุนแรงจึงกลายเป็นการพยายามคิดที่ซับซ้อนขึ้น ว่าเราจะเข้าไปจัดการกับวิธีการใช้ความรุนแรงของรัฐอย่างไร ยิ่งในสังคมที่การทำรัฐประหารเกิดขึ้นบ่อยมาก กองทัพและฝ่ายความมั่นคงนั้นมีอำนาจสูงในทางการเมือง การตั้งคำถามถึงความสามารถและศักยภาพในการใช้ความรุนแรงในการเข้าแทรกแซงและล่าผู้คนในสังคมยิ่งต้องถูกตั้งคำถามมากขึ้นถึงข้อจำกัด หรือจุดที่เรายอมให้รัฐนั้นล่าหรือใช้ความรุนแรงกับเรา

ไม่ใช่วิธีคิดแค่ว่ารัฐต้องไม่ใช้ความรุนแรงเลย แต่ต้องถามว่าใช้ได้แค่ไหน เมื่อไหร่
และจากอดีตนั้นความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยรัฐนั้นมันเริ่มถูกใช้อย่างเป็นระบบอย่างไร ด้วยเงื่อนไขอะไรจากรัฐโบราณ มาสู่รัฐสมัยใหม่ตอนต้น มาจนถึงรัฐร่วมสมัยอย่างปัจจุบัน

ความสำคัญในข้อต่อมาของเรื่องรัฐนักล่าก็คือ การล่าทรัพยากร และประชาชนของรัฐด้วยการข่มขวัญ การทำให้กลัว การทำให้เชื่อฟังนั้นมักจะถูกทำความเข้าใจควบคู่ไปกับเงื่อนไขการพัฒนาเศรษฐกิจ หมายถึงว่าในบางเงื่อนไขการแทรกแซงไล่ล่าประชาชนบังคับขู่เข็ญของรัฐต่อประชาชนอาจจะสร้างผลดีในภาพรวมต่อประเทศ เช่น การบังคับใช้กฎหมายต่างๆ เพื่อให้สวัสดิการทางสังคมมันเพิ่มขึ้น ประเทศมั่งคั่งขึ้น แต่เอาเข้าจริงในแง่ของการเป็นรัฐนักล่านั้น
จะพบว่าการข่มขู่ ขูดรีด เอาประโยชน์จากสังคมของรัฐเหล่านี้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจเอง

การทำความเข้าใจจุดมุ่งหมายของระบอบรัฐนักล่านี้ทำให้เราเริ่มทำความเข้าใจการสร้างพันธมิตรกันในหมู่ชนชั้นนำ ทำให้เราเข้าใจเรื่องชนชั้นนำได้อย่างสลับซับซ้อนขึ้นว่าประกอบด้วยกลุ่มอำนาจใดบ้าง ทั้งฝ่ายนายทุน ฝ่ายคุมอำนาจความมั่นคงและการปราบปราม และฝ่ายที่กุมอำนาจทางความคิดจิตใจของผู้คน

ที่โหดร้ายไปกว่านั้น เสน่ห์ของการทำความเข้าใจเรื่องรัฐนักล่านั้นก็คือการฟันธงว่าเป้าหมายสำคัญของรัฐนักล่าก็คือ การทำให้สังคมเศรษฐกิจและการเมืองนั้นตกต่ำ เพื่อประโยชน์ของเครือข่ายชนชั้นนำเอง หรือพูดอีกอย่างได้ว่ายิ่งสังคมและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจตกต่ำ
รัฐนักล่าโดยเฉพาะเครือข่ายของพวกเขายิ่งได้ประโยชน์ และจะยิ่งกดบังคับผู้คนในรัฐของพวกเขามากขึ้น

การทำความเข้าใจมิติของการอยู่รอดของรัฐนักล่าในห้วงขณะของการตกต่ำทางเศรษฐกิจนี้ทำให้เราเห็นชัดขึ้นว่าการช่วยเหลือผู้คนจะไม่เป็นระบบ จะไม่เป็นไปตามมิติเชิงบวกของการเป็นผู้ล่าหรือสอดส่องดูแลประชาชน (อาทิ การให้สวัสดิการประชาชนอย่างดี ก็จะแลกมาด้วยการที่ประชาชนตกอยู่ในสายตาและการควบคุมของรัฐมากขึ้น) แต่กลับกลายเป็นว่ายิ่งทำเป็นว่าช่วยเหลือประชาชน หรือพยายามจะช่วยแบบไม่มีประสิทธิภาพ แล้วความมั่งคั่งยังยิ่งไหลกลับไปสู่เครือข่ายอำนาจของรัฐผู้ล่ามากขึ้นเรื่อยๆ หรือประชาชนนั้นเป็นผู้ที่เป็นเพียงที่ถ่ายเทความมั่งคั่งกลับไปสู่เครือข่ายของชนชั้นนำในรัฐนักล่ามากขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งมีการร้องเรียน เรียกร้อง ท้าทายรัฐนักล่าเหล่านี้ ประชาชนก็จะยิ่งไม่มั่นคงมากขึ้น

ในแง่นี้เราอาจจะแอบเชื่อว่าที่ใดมีแรงกดที่นั้่นย่อมมีแรงต้าน และเมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ในบรรยากาศอันมืดมนที่รัฐนักล่านั้นทำงานอยู่นั้น โอกาสที่จะได้รับชัยชนะและโค่นล้มระบอบรัฐนักล่ากลับเป็นไปได้ยาก เพราะพลังทางการปราบปราม
พลังแห่งความมั่งคั่ง และพลังในการยึดกุมความคิดจากฐานประเพณี ได้ผนึกรวมกันเป็นอย่างมาก ที่จะกีดกันชนชั้นนำกลุ่มอื่นและกลุ่มผู้คนอื่นๆ ให้เข้ามาร่วมในวงอำนาจของเครือข่ายอำนาจเดิม

การทำความเข้าใจเรื่องของรัฐนักล่า ยังทำให้เราเข้าใจเรื่องของการคอร์รัปชั่นได้เพิ่มเติมขึ้น จากการมองว่านักการเมืองเท่านั้นที่คอร์รัปชั่น หรือแรงจูงใจของการคอร์รัปชั่นมาจากการหาประโยชน์ของผู้เล่นบางคน มาสู่การทำความเข้าใจว่าการคอร์รัปชั่นนั้นกระทำกันอย่างเป็นระบบ และโยงใยทั้งในส่วนของผู้กุมอำนาจรัฐ และเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งเครือข่ายนายทุนนักธุรกิจด้วย และการคอร์รัปชั่นนั้นอยู่ได้โดยการครอบงำทางความคิดว่ามีองค์กรบางองค์กรที่ทำได้ ที่มีข้อยกเว้น หรือเป็นเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมของการเป็น “คนดี” และใครที่ตั้งคำถามกับความไม่ชอบมาพากลของรัฐนักล่านั้น ก็จะต้องถูกไล่ล่า และเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่จะถูกล่า

ในหลายกรณีในโลกนั้น การท้าทายและเอาตัวรอดของประชาชนในรัฐนักล่านั้นไม่ใช่การลุกฮือต่อสู้ แต่กลายเป็นการหนี หรือลี้ภัยออกนอกประเทศ ดังที่จะเห็นกันว่ามีประชาชนที่มีคุณภาพในหลายประเทศที่อพยพออกจากประเทศแม่ของตัวเอง ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็ต้องตั้งคำถามว่าคนที่หนีไม่ได้นั้นจะอยู่อย่างไรในระบอบเหล่านั้น และเอาเข้าจริงการอพยพออกจากประเทศที่ปกครองด้วยรัฐนักล่านี้ก็เป็นผลดีที่ทำให้รัฐนักล่านั้นสามารถใช้อำนาจและมีชีวิตยั่งยืนต่อไปได้ และในบางประเทศพวกรัฐนักล่าก็อาจจะออกไปไล่ล่าคนเหล่านั้นต่ออีก ดังรายละเอียดในรายงานของ Freedom House ปีล่าสุดที่ให้ความสำคัญกับการไล่ล่าข้ามพรมแดนของระบอบเผด็จการในโลกที่ไม่ได้ทำให้คนหายไปเฉพาะในพื้นที่ประเทศของเขาเท่านั้น

ในอีกด้านหนึ่งเรื่องของรัฐนักล่านี้ในมิติของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของการก่อรูปของรัฐสมัยใหม่เอง ก็อาจจะถูกจำกัดอำนาจได้ หากประชาชนสามารถพัฒนาเงื่อนไขเชิงกฎหมาย สถาบัน และวัฒนธรรมที่จะจำกัดกรอบไม่ให้ชนชั้นนำทางอำนาจของรัฐผู้ล่านี้มีพฤติกรรมนักล่าได้

ส่วนหนึ่งที่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับทฤษฎีรัฐนักล่าที่เคยพูดกันมาก็คือในทางทฤษฎีนั้นไม่เชื่อว่ารัฐนักล่านั้นจะสนใจพัฒนาสถาบันทางการเมืองให้เข้มแข็ง เพราะเชื่อว่าถ้าสถาบันทางการเมืองนั้นเข้มแข็งแล้วสังคมและประชาชนก็จะไม่ยอมให้เกิดการล่าและเอาประโยชน์จากพวกเขาอีก ขณะที่ความเป็นจริงแล้ว ถ้าเราพยายามเชื่อมโยงเอาแนวคิดในเรื่องรัฐนักล่าเข้ากับแนวคิดเรื่องการคงอยู่ของเผด็จการ (authoritarian resilience) เราก็จะพบว่ามีความเป็นไปได้ที่รัฐนักล่านั้นจะคงอยู่ในอำนาจได้ยาวนานขึ้นเมื่อสามารถพัฒนาสถาบันทางการเมืองแบบเผด็จการให้ยืนยาวขึ้น และเมื่อเกิดการคงอยู่ยาวนานขึ้นของระบอบเผด็จการ ความเป็นรัฐนักล่าก็จะสามารถคงอยู่ยาวนานขึ้น โดยทำให้การเป็นรัฐนักล่าไม่ใช่เพียงยุทธวิธีในระยะสั้น
ที่จะอยู่รอดของบรรดาชนชั้นนำในระบอบรัฐนักล่า

ในอีกด้านหนึ่ง การยังคงเป็นทั้งรัฐนักล่าอยู่และดำรงความเป็นระบอบเผด็จการที่มีความต่อเนื่องยาวนานได้ ก็ทำให้ระบอบเผด็จการนั้นไม่ถูกกดดันทางสังคมที่จะต้องสร้างผลงานทางเศรษฐกิจที่ดีในแง่ของสัญญาประชาคมใหม่ให้พวกเขาอยู่ในอำนาจได้ จะทำผลงานห่วยๆ จะมีคนรวยกระจุก จนกระจายก็ยังอยู่ได้

หมายถึงว่าต่อให้เศรษฐกิจไม่ดี ระบอบเผด็จการนั้นก็อยู่ได้ต่อไป เพราะเงื่อนไขการล่านั่นแหละครับ

ที่กล่าวมานี้ ทำให้เข้าใจเพิ่มขึ้นว่าบางครั้งเวลาที่เราไปวิจารณ์หรือมีมุมมองว่ารัฐไทยนั้นเป็นรัฐล้มเหลว (failed state) เอาเข้าจริงเราเองต่างหากที่ไม่เข้าใจว่ารัฐที่ดูเหมือนจะล้มเหลว หรือรัฐที่ล้มเหลวเหล่านั้นอยู่รอดได้อย่างไร และแนวคิดเรื่องรัฐนักล่านี่เองที่ทำให้เราเข้าใจเรื่องรัฐล้มเหลวได้ชัดเจนขึ้น ว่าความล้มเหลวของรัฐที่เรามองเห็นนั้นคือวิกฤตที่มีกับเราในฐานะประชาชน แต่กลับเป็นโอกาสให้ชนชั้นนำในรัฐนักล่านี่แหละใช้เป็นโอกาสในการตักตวงความมั่งคั่งของพวกตนต่อไป และอยู่ไปเช่นนี้เรื่อยๆ เหมือนที่เราเห็นว่าในรัฐเผด็จการจำนวนมาก เมื่อมาถึงจุดของการแตกหักหากเกิดขึ้น หรือยิ่งล้มเหลวมาก ความมั่งคั่งกลับกระจุกตัวอยู่กับคนส่วนบนของพีระมิดอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ

ในประการสุดท้าย เงื่อนไขที่แท้จริงของการดำรงอยู่ของรัฐนักล่านั้นอาจไม่ใช่อยู่ที่การท้าทายจากประชาชน เท่ากับข้อกังวลใจในการสืบทอดอำนาจกันเองในหมู่เครือข่ายชนชั้นนำของรัฐนักล่านั่นแหละครับ ไอ้ประเภทคำถามที่ว่าใครจะเป็นผู้นำคนต่อไปนี้นั่นแหละเป็นสิ่งที่จะสั่นคลอนการดำรงอยู่ของระบอบรัฐนักล่ามากที่สุด และถ้าเราเองยังคิดไม่ออกว่าจะท้าทายการสืบทอดอำนาจนั้นได้อย่างไร รัฐนักล่าก็จะอยู่ยั่งยืนยงมากขึ้น แทนที่จะมองว่าเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ในการเอาตัวรอดของชนชั้นนำบางกลุ่มในห้วงเวลาหนึ่งเท่านั้น

(พัฒนาบางส่วนมาจาก W.Reno. 2014. Predatory States and State Transformation. In S.Stibfried. Eds. The Oxford Handbook of Transformation of the State. Oxford: Oxford University Press. และ M.Vahabi. 2019. Introduction: A Symposium on the Predatory
State. Public Choice. 182: 233-242. ขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับ ดร.ชุมพล อุ่นพัฒนาศิลป์ จากสถาบันพัฒนาบริหารศาสตร์ สำหรับความรู้และความเห็นที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาแนวคิดนี้มาใช้ในเงื่อนไขปัจจุบัน)

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image