ปาหี่ รธน. …ลอยตัวอยู่ต่อ

ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยกลางกรณีที่หนึ่ง ส.ส.และหนึ่ง สว.ยื่นร้องให้ตัดสินว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ดำเนินการยกร่างใหม่ สามารถทำได้หรือไม่

คำวินิจฉัยย้ำว่า แม้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หากแต่เป็นอำนาจที่ได้รับมอบมาซึ่งถูกจำกัดทั้งรูปแบบ กระบวนการและเนื้อหา รัฐสภาจึงต้องทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบอย่างเคร่งครัด โดยไม่อาจกระทำนอกขอบของหน้าที่และอำนาจที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ได้

“ไม่มีบทบัญญัติให้จัดทำขึ้นใหม่ทั้งฉบับ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยวิธีการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด 15/1 ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อน”

สาระคำแถลงข้างต้น เท่ากับยืนยันว่า มติที่ประชุมรัฐสภา ให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสองที่เพิ่งผ่านไปเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 และการยกร่างรัฐธรรมใหม่โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญต้องผ่านการลงประชามติก่อน หากไม่ผ่านประชามติก็ไม่สามารถมี ส.ส.ร.ได้

Advertisement

ผลของคำตัดสินทำให้ท่าทีของ ส.ส. และ ส.ว.แตกออกเป็นสองฝ่ายใหญ่ๆ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ที่ประชุมรัฐสภาสามารถดำเนินการประชุมโหวตลงมติวาระสามต่อไปได้ การลงประชามติสามารถดำเนินการภายหลังที่ประชุมรัฐสภามีมติ

นอกจากนี้การทำประชามติยังไม่สามารถทำได้เพราะร่าง พ.ร.บ.ลงประชามติอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา ยังไม่มีผลใช้บังคับ

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่ารัฐสภาไม่สามารถดำเนินการพิจารณาวาระสามต่อไปได้ เพราะอาจถูกร้องต่อศาลว่ากระทำการขัดรัฐธรรมนูญ เข้าข่ายเป็นความผิด ถูกตัดสินลงโทษได้ การทำประชามติต้องทำประชามติก่อนร่างใหม่ทั้งฉบับ

Advertisement

เมื่อความเห็นแตกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขโดยยกร่างใหม่ทั้งฉบับ และแพ้มติวาระ 2 คงได้จังหวะไม่เอาด้วย อาจใช้โอกาสนี้ไม่เข้าร่วมประชุม ทำให้องค์ประชุมไม่ครบประชุมต่อไม่ได้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ถูกคว่ำแต่ค้างคาสภาอยู่ต่อไป

หรืออีกทางหนึ่งหากองค์ประชุมครบแต่เสียงรับรองไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเสียง ส.ว.รับรองไม่ถึง 1 ใน 3 หรือ 84 คน ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านวาระสาม ต้องตกไป การดำเนินงานที่ผ่านมาทั้งหมดกลายเป็นสูญเปล่า

ฉะนั้น การเข้าร่วมประชุมไม่ว่าจะลงมติเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยให้ผ่านก็ตาม เท่ากับขัดคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ มีโอกาสเป็นความผิดได้ ทั้งสิ้น

ประเด็นปัญหามีว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้มี ส.ส.ร.มาดำเนินการ ผ่านที่ประชุมรัฐสภาวาระสอง คุณชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้สั่งให้บรรจุระเบียบวาระแล้ว รอลงมติวาระสามวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา

ครับ คาดการณ์ล่วงหน้าได้เลยว่าหวยออกสองแนวทาง หนึ่งองค์ประชุมไม่ครบ สมาชิกส่วนใหญ่ไม่เข้าร่วมประชุม กับองค์ประชุมครบแต่การลงมติไม่ผ่าน

ถึงแม้ก่อนหน้านี้ หลังจากศาลมีคำสั่งพิพากษา มีข้อเสนอของฝ่ายสนับสนุนการแก้ไข ให้ตีความคำพิพากษาไปในทางที่เกิดประโยชน์ เพื่อไม่ให้สิ่งที่ทำมาทั้งหมดเสียเปล่าก็ตาม

แต่เมื่อฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการยกร่างใหม่ทั้งฉบับมีมากกว่า ทำให้แนวทางการตีความเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเปล่า กลายเป็นความฝันของพวกโลกสวยไปทันที

ปาหี่แก้ไขรัฐธรรมนูญเที่ยวนี้จะส่งผลทำให้สถานการณ์นอกสภาร้อนแรงขึ้นหรือไม่ แค่ไหน ไม่หวาดหวั่น เพราะประเมินว่าพลังนอกสภาของฝ่ายเรียกร้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่อ่อนพลังลง

สถานการณ์ที่ต้องติดตามต่อไป คือท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ที่ประกาศเป็นเงื่อนไขและจุดยืนในการร่วมรัฐบาลว่า จะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมี ส.ส.ร. จะเดินต่ออย่างไร หากรัฐสภามีมติคว่ำร่างญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสาม

หรือปล่อยให้ค้างไว้โดยการประชุมองค์ประชุมไม่ครบ

ทำนายไว้ได้เลยว่า ต่างฝ่ายต่างจะอ้างที่ผ่านมาพยายามดันเต็มที่แล้ว แต่ก็ได้แค่นี้ จะสะบัดก้นออกจากรัฐบาลก็มีแต่เสียมากกว่าได้

ฉะนั้น อยู่ต่อดีกว่า ได้ประโยชน์มากกว่าเป็นไหนๆ นโยบาย อุดมการณ์ จุดยืนทางการเมือง เป็นความฝันของพวกโลกสวยอีกครั้ง

นี่แหละครับ การเมืองต้องมองอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่มองอย่างที่เราอยากให้เป็น

ของจริงจากการเมืองเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเที่ยวนี้ ก็คือ คนมีอำนาจได้ประโยชน์ ฝ่ายลอยตัวกินรวบ ได้อยู่ต่อไปอีกนาน นั่นเอง

สมหมาย ปาริจฉัตต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image