คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ‘ใจแผ่นดิน’ที่ยอก‘ใจรัฐ’

ปฏิบัติการบุกเข้าสลาย “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ในย่ำรุ่งของวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม 2564 อาจเกินคาดคิด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดคาด แถมเมื่อมีการชุมนุมเพื่อแสดงออกถึงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการสลายหมู่บ้านทะลุฟ้าอีกครั้งในบ่ายถึงค่ำวันเดียวกัน ก็ถูกสลาย และจับกุมผู้ชุมนุมไปอีก

จากการเปิดเผยของตำรวจ ในวันเดียวนั้นสามารถจับกุมผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้เกือบร้อยคน ซึ่งอาจจะเป็นการจับกุมผู้ชุมนุมประท้วงจำนวนมากที่สุดรอบหนึ่งนับแต่การเริ่มต้นการต่อสู้ทางการเมืองรอบใหม่ตั้งแต่กลางปี 2563 เลยก็ว่าได้ ทำไมเรื่องของ “หมู่บ้านทะลุฟ้า” และการชุมนุมที่เกี่ยวข้องจึงเป็นเรื่องอ่อนไหวยอมไม่ได้ถึงระดับนี้

อาจเพราะการต่อสู้ของชาวพื้นเมืองท้องถิ่นดั้งเดิมเชื้อสายกะเหรี่ยงที่เรียกสั้นๆ ให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ผู้อยู่อาศัย ณ ใจแผ่นดิน เป็นเรื่องที่ยอกอกยอกใจรัฐไทยตลอดมา แม้พยายามจะกำราบ หรือทำให้หลงลบลืมสูญไปคล้ายว่า สำเร็จ

ก่อนหน้านี้ หลายปีก่อน กระแสเรียกร้องสิทธิในการอยู่อาศัย และดำรงชีวิตอย่างชนพื้นถิ่นดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย หรือคนที่อาศัยอยู่ในป่าที่ไหนๆ ก็ตามนั้น ถือเป็นเพียงเสียงรบกวนกระแสรอง ด้วยความสำเร็จของการกล่อมเกลาผ่านการศึกษาและวัฒนธรรมที่ทำให้การ “ทำไร่หมุนเวียน” อันเป็นวิถีชีวิตการเกษตรดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงและผู้คนที่อยู่ในป่า พร่าเลือนปะปนไปกับการ “ทำไร่เลื่อนลอย” ที่เขียนไว้ในตำราวิชา สปช.ว่าเป็นการทำลายป่า ซึ่งเป็นทรัพยากรอันมีค่าของประเทศที่พลเมืองรุ่น X ได้ร่ำเรียนสมัยประถม ส่วนคนรุ่น Y ก็ได้รับการปลูกฝังให้มองผืนป่าเป็นภาพฝันโรแมนติกของธรรมชาติอันบริสุทธิ์ที่สงวนไว้ไม่สมควรที่มนุษย์ผู้ใดจะย่างกรายไปแตะต้อง

Advertisement

เราถูกสั่งสอนและสั่งสมค่านิยมเช่นนั้นเพื่อให้อยู่ในสังคมเมืองและใช้ชีวิตโดยผลาญพร่าทรัพยากรธรรมชาติและทำลายสิ่งแวดล้อมไปด้วยการบริโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกนานาได้อย่างสะดวกใจไม่ต้องรู้สึกผิด ตราบใดที่ยังเหลือผืนป่าในอุทยานแห่งชาติในบางจังหวัดไว้ให้เราไปเที่ยวไปเล่นได้บ้าง เป็นป่าในจินตกรรมที่สงวนหวงแหนไว้ไม่ให้ชาวป่าเมืองเถื่อนที่พิสูจน์สัญชาติได้ไม่แน่ชัดเข้าไปรุกรานตัดรังผึ้ง เก็บของป่า ตัดไม้สักต้น หรือยิงค่าง บ่าง กระรอก ที่เราเห็นว่าช่างร้าย แรงละโมบทำร้ายต่อผืนป่าตามธรรมชาติผู้บริสุทธิ์ บวกกับความคิดแบบรัฐชาตินิยมก็ยิ่งมองว่าชาวกะเหรี่ยงที่อาจจะพิสูจน์สัญชาติไม่ได้นั้นไม่ใช่คนไทยที่ควรได้รับการเคารพปกป้องภายใต้กฎหมายเยี่ยงเรา หรือในอีกทางหนึ่งก็สุดโต่งลงไปว่าถ้าคนไทยก็ต้องเป็น “คนไทย” แบบในตำราเรียนที่จะต้องถูกบังคับลงภายใต้กฎหมายที่ออกมาจากส่วนกลาง โดยไม่สนใจว่านั่นสอดคล้องกับวิถีชีวิตของพวกเขาหรือไม่

คนรุ่นก่อนหน้าเติบโตกันมาด้วยทัศนคติและจินตกรรมเช่นนั้น จึงเข้าใจได้ยากเต็มทีเมื่อมีคนพยายามนำปัญหาออกมาบอกว่า มีผู้คนกลุ่มหนึ่งที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในป่ามาก่อน และอยู่ร่วมกับธรรมชาติมาได้โดยดีดีเสียจนป่านั้นอยู่ในสภาพสมบูรณ์ถึงขนาดรัฐประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ และพยายามจะส่งไปประกวดเป็นมรดกโลก (โดยกวาดเรื่องการละเมิดสิทธิผู้คนลงไปใต้แม่น้ำ) เสียได้ด้วยซ้ำ

หากก็ปรากฏว่าอยู่ดีๆ เรื่องนี้ก็กลับมาหลอกหลอนรัฐไทยอีกครั้งเมื่อได้รับความสนใจของคนรุ่นใหม่ ที่นับรวมเรื่องนี้เป็นหนึ่งในประเด็นที่พวกเขาร่วมแสดงภราดรภาพด้วย เป็นที่มาของแฮชแท็ก #saveบางกลอย

ชื่อของหมู่บ้าน “ใจแผ่นดิน” ที่ราวกับเป็นนามของดินแดนลึกลับในนิยายรัก หรือตำนานพาฝันนั้นเป็นสถานที่ที่มีอยู่จริง ในดงลึกแห่งป่าแก่งกระจาน ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของชาวกะเหรี่ยงผู้มีวิถีชีวิตดั้งเดิมอยู่กลมกลืนกับธรรมชาติที่เชื่อกันว่าอยู่กันมาที่นั่นแล้วกว่าร้อยปี ตามบันทึกเก่าแก่ที่สุดของทางราชการที่บันทึกถึงพิกัดของหมู่บ้านที่ชื่อ “ใจแผ่นดิน” ไว้ในแผนที่ทหารเมื่อปี พ.ศ.2455 ก่อนจะมีการประกาศให้พื้นที่นั้นเป็นอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในปี 2524 ก็เกิดความขัดแย้งขึ้นกับฝ่ายผู้ถืออำนาจรัฐ

เรื่องราวความขัดแย้งนี้คงมีเบื้องหลังเงื่อนงำไม่ธรรมดา ด้วยผู้คนที่พยายามเรียกร้องสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ชาวบ้านถูกสังหาร หรืออุ้มหายอย่างหาตัวคนผิดไม่ได้ ครูป๊อด ทัศน์กมล โอบอ้อม บุคคลแรกๆ ที่นำเรื่องของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยออกมาสู่ความรับรู้ของโลกภายนอก ถูกลอบสังหารเมื่อปี 2554 โดยที่หาตัวใครมารับผิดไม่ได้ ตามด้วยการหายตัวไปของ บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นคนชาติพันธุ์ในพื้นที่ในปี 2557 ก่อนจะมาพบชิ้นส่วนกระดูกและกะโหลกที่มี DNA ตรงกับเขาในปี 2562

ทั้งนี้ บุคคลกลุ่มสุดท้ายที่มีพยานรู้เห็นว่าอยู่กับบิลลี่ก่อนหายตัวไป คือ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นบุคคลคนเดียวกับที่เพิ่งมีข่าวไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมติให้ปลดออกจากราชการ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ชี้มูลความผิดว่ากระทำผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งอ้างอิงจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดกรณีสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ถอนเผาทำลายรื้อถอนบ้านเรือนของชาวกะเหรี่ยงที่หมู่บ้านบางกลอยบนและใจแผ่นดินราว 100 หลังคาเรือน

ในคดีที่ฟ้องต่อศาลปกครองเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย (หรือที่เรียกกันว่า “คดีละเมิดทางปกครอง”)
ซึ่งแม้ศาลปกครองจะไม่มีอำนาจวินิจฉัยเกี่ยวกับความผิดทางอาญา แต่โดยเนื้อหาตามคำพิพากษาที่ศาลได้วินิจฉัยว่าการกระทำของนายชัยวัฒน์กับพวก ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีนั้นเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากใช้อำนาจเกินความจำเป็นโดยไม่สมควรแก่เหตุ ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญของการใช้อำนาจดังกล่าวตลอดจนฝ่าฝืนกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีโดยจงใจอย่างไร ด้วยข้อเท็จจริงอย่างไรและมีการฝ่าฝืนต่อกฎหมายอย่างไร ทั้งหมดก็เข้าองค์ประกอบที่จำเป็นจะต้องมีการดำเนินคดีอาญาและดำเนินการทางวินัยต่อไป

ซึ่งก็สรุปผลออกมาเป็นมติให้ปลดออกจากราชการข้างต้น ซึ่งคำสั่งดังกล่าวก็ยังไม่ถึงที่สุด เพราะยังสามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) และฟ้องต่อศาลปกครองต่อไปได้

แต่เรื่องที่น่าสนใจคือ “ท่าที” ของบุคคลผู้ที่รู้จักนายชัยวัฒน์ที่แสดงออกตอบรับต่อคำสั่งดังกล่าว

กรณีของ “แอ๊ด คาราบาว” ยืนยง โอภากุล ที่ออกมาประกาศ “saveชัยวัฒน์” นั้นอาจจะเรียกเสียงฮือฮาขึ้นมานิดหน่อย ค่าที่ก่อนหน้านี้เขาเคยแต่งเพลงสดุดีวีรกรรมของผู้พิทักษ์ป่าคือ คุณสืบ นาคะเสถียร ที่ถือเป็นเพลงในตำนานที่ซาบซึ้งกินใจที่สุดเพลงหนึ่ง แต่สำหรับคนรุ่นใหม่แล้ว บทบาทเชิงสังคมและการเมืองของ “น้าแอ๊ด” ในช่วงเวลาสิบกว่าปีนี้ ประกอบกับคุณภาพ “เพลงตามคำขอ” ที่เขาแต่งได้สารพัดตามแต่โจทย์จะกำหนดให้ในช่วงหลังๆ นั้นก็ได้ลบล้างตำนานทางดนตรีและตัวบุคคลที่เคยเป็นตำนานของเขาไปจนเกือบ
หมดสิ้นในสายตาของคนรุ่นปัจจุบันแล้ว

ยิ่งการที่เขาใช้ถ้อยคำในทำนองว่าหัวหน้าชัยวัฒน์ “น้องรักของผม” เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่เยี่ยงข้าราชการที่ดี ก็ทำลายน้ำหนักของข้อเรียกร้องลงไปด้วยตัวมันเองว่าในที่สุดแล้ว นี่อาจจะเป็นแค่ “เรื่องส่วนบุคคล” ประสาพี่ชายปกป้องน้องรักที่ไม่ได้นำพาอะไรกับประเด็นสาธารณะ กับทั้งแสดงให้เห็นว่าผู้ที่เลือกใช้ถ้อยคำในลักษณะนี้หากกลั่นกรองแล้ว ก็ยังคงเป็นคนรุ่นเก่าที่หลงอยู่ในคุณค่าของสังคมในระบอบอุปถัมภ์อำนาจนิยมประเภทเอาพวกเอาพ้องนับน้องนับพี่

หากที่ควรให้ความสนใจมากกว่า คือ ท่าทีของ คุณจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ ที่ถือเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของคุณชัยวัฒน์ในสายของข้าราชการประจำมากกว่า โดยเฉพาะความเห็นของเขาที่ว่า
“…การปลดนายชัยวัฒน์ออกจากราชการ นับเป็นความสูญเสียบุคลากรที่มีศักยภาพ มีความมุ่งมั่น ทุ่มเทในการทำงาน…” และถือเป็นกรณีที่กระทรวงต้องสูญเสียบุคลากรที่มีคุณภาพไป ซึ่งถ้าเราอ่านระหว่างบรรทัดแล้วก็จะสดับน้ำเสียงแสดงถึง “ความจำใจ” ที่ต้องลงโทษทางวินัยโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เนื่องจากผูกมัดด้วยผลของกฎหมายและคำพิพากษาอันเป็นที่สุดของศาล

หากกล่าวกันอย่างเป็นธรรม การทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่านั้น เป็นงานประเภทปิดทองหลังพระโดยแท้ เพราะเมื่อเขาทำงานกันอย่างดี สาธารณชนก็ไม่ได้มองเห็นผลงานนั้นได้โดยง่าย เช่นนี้เราจึงไม่รู้ว่าผลงานอันใดบ้างที่คุณชัยวัฒน์ได้มุ่งมั่นทุ่มเทในการทำงานถึงขนาดที่ปลัดกระทรวงมองว่าการต้องปลดจำใจปลดออกจากราชการนั้นเป็นเรื่องน่าเสียดาย

เพื่อความเป็นธรรมเช่นกัน เราจะไม่เอากรณีสีเทาๆ ที่ยังเป็นข้อหาในกระบวนยุติธรรมอยู่ เช่น เรื่องการหายตัวไปของบิลลี่มากล่าวถึงก็ได้ เอาแค่ถ้าลองหาคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีที่อ้างถึง
(คดีหมายเลขแดงที่ อส.4/2561) มาศึกษาวิธีการ “ใช้อำนาจ” ของท่านหัวหน้าชัยวัฒน์ดูก็แล้วกันว่า การปฏิบัติหน้าที่ และใช้อำนาจอย่างที่บรรยายในคำพิพากษานั้น คือการทำงานอย่างมุ่งมั่นทุ่มเทเยี่ยงบุคลากรคุณภาพของกระทรวงที่น่าเสียดายว่าจะต้องสูญเสียคนที่ “ใช้อำนาจ” ได้ผลเด็ดขาด แต่ปราศจากความชอบกฎหมายในวิธีการเยี่ยงนี้ไป

มันก็อดทำให้คนนอกที่ติดตามข่าวแต่อาจจะไม่ได้อยู่ในแวดวงอำนาจ หรือเป็นนักนิยมไพรที่ได้สนิทชิดเชื้อกับเขารู้สึกผะอืดผะอมมวนท้องชอบกลว่านี่เราเป็นฝ่ายผิด หรือเขาเป็นฝ่ายถูก นั่นต่างหาก หรือคือตัวอย่างของข้าราชการ หรือวิธีการใช้อำนาจรัฐที่ควรแก่การยกย่อง แม้แต่ต้องจำนนด้วยกระบวนการตามกฎหมาย แต่ภาครัฐก็จะไม่ถือว่าเขากระทำผิดอะไร นอกจากอาจจะถือว่าพลาด ส่วนจะพลาดเพราะใช้อำนาจโดยไม่เป็นไปตามกฎหมาย หรือพลาด เพราะหลงเหลือพยานหลักฐานให้มีผู้นำเรื่องไปเป็นคดีความต่อกระบวนยุติธรรมทางตุลาการจนเลยพ้นจากปีกที่ฝ่ายปกครองจะปกป้องกันเองได้ก็ไม่รู้แท้

การสลายการชุมนุมอันรุนแรง เด็ดขาด แต่ขาดไร้ซึ่งเมตตา ความได้สัดส่วนพอสมควรแก่เหตุทั้งช่วงรุ่งสาง และเมื่อย่ำเย็นของวันอาทิตย์นั้นเองที่เป็นการเฉลยให้เห็นว่า บุคลากรแบบใดที่รัฐไทยเห็นว่าทรงคุณค่า และการใช้อำนาจอย่างไรที่พวกเขาอยากเห็น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image