วันกองทัพ-วันวิปโยค

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ระหว่างเข้าพบครูบาแสงหล้า พระเกจิดังแห่งท่าขี้เหล็ก, 28 มีนาคม 2021

วันที่ 27 มีนาคมของทุกปีเป็นวันกองทัพ (Armed Forces Day) หรือวันแห่งการต่อต้าน (Resistance Day) ของพม่า มีที่มาจากที่กองทัพแห่งชาติพม่า (BNA) เคยต้านทานกองทัพญี่ปุ่น เรื่องเล่ามีอยู่ว่ากองทัพพม่าเคยเข้ากับญี่ปุ่นมาก่อน แต่ด้วยการปกครองของญี่ปุ่นที่เด็ดขาดเข้มงวด ทำให้คนพม่าที่แต่เดิมมองว่าญี่ปุ่นเป็นพระเอกขี่ม้าขาวที่จะปลดแอกประเทศของตนจากการปกครองของอังกฤษลุกขึ้นมาต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น และหันไปขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลอังกฤษ ที่ในขณะนั้นไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ที่เมืองสิมลาในอินเดีย ด้วยความช่วยเหลือจากอังกฤษ BNA ตบเท้าเข้าไปยึดย่างกุ้งได้บางส่วน และประกาศสงครามกับญี่ปุ่นในวันที่ 27 มีนาคม 1945 นับแต่นั้นก็เกิดกบฏต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นทั่วพม่าภายใต้การควบคุมของ BNA

ในช่วงกลางปี 1945 BNA ปราบกองทัพญี่ปุ่นให้จนมุมได้แล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีบางส่วนที่ยังต่อสู้กันอยู่จนญี่ปุ่นประกาศแพ้สงครามอย่างเป็นทางการเมื่อกองทัพสหรัฐทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและเมืองท่านางาซากิในต้นเดือนสิงหาคม รัฐบาลอังกฤษกลับเข้ามาบริหารงานในพม่าต่อช่วงสั้นๆ ก่อนส่งมอบอำนาจและมอบเอกราชให้พม่าในอีกไม่กี่ปีต่อมา ก่อนอังกฤษกลับไปพม่า เกิดข้อถกเถียงสำคัญในรัฐบาลพลัดถิ่นที่
สิมลาว่าควรจัดการกับออง ซานอย่างไร เพราะออง ซาน และกองทัพพม่าเลือกเข้ากับญี่ปุ่น ก่อนจะแปรพักตร์และขอความช่วยเหลือจากอังกฤษในภายหลัง ฝ่ายเรจินัลด์ ดอร์แมน-สมิธ (Reginald Dorman-Smith) ข้าหลวงพม่า และพลเอกวิลเลียม สลิม (William Slim) ผู้บัญชาการทัพอังกฤษในสมรภูมิที่พม่า เห็นว่าควรลงโทษออง ซานและกองทัพของพม่าทั้งหมด แต่ด้วยการเจรจาของลอร์ด หลุยส์ เมานต์แบตเทน (Lord Louis Mountbatten) จึงทำให้อังกฤษและพม่าเข้าสู่โต๊ะเจรจา อันเป็นหมุดหมายสำคัญหนึ่งที่ทำให้พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948

วันกองทัพเป็นวันรำลึกความยิ่งใหญ่ของกองทัพพม่าที่นายพลออง ซาน กรุยทางไว้ให้ แต่จนถึงวันนี้ แนวคิดรักชาติยิ่งชีพ
และการธำรงไว้ซึ่งความเป็นเอกราชและสมัครสมานสามัคคีของชาติยังฝังแน่นอยู่ในห้วงความคิดของคนในกองทัพพม่า การมีเป้าหมายเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ ทำให้ทหารทั้งนายพลระดับสูง หรือทหารชั้นผู้น้อยในกองทัพพม่าส่วนใหญ่ไม่สนใจว่าเขาจะต้องเข่นฆ่าประชาชน หรือจะต้องทำสิ่งใดก็ตามที่ผิดหลักมนุษยชนอย่างรุนแรง เพราะในสายตาพวกเขามีเพียงคำว่า “ชาติ” อันเป็นคอนเซ็ปต์ที่แสนพร่าเลือน และเชื่อเถิดว่าใม่มีใครในกองทัพพม่า (หรือแม้แต่กองทัพไทย) ที่ให้คำจำกัดความของ “ชาติ” เหมือนกัน เพราะแท้จริงแล้วไม่มีใครรู้แน่ว่า “ชาติ” ที่ว่านั้นคืออะไร

จากการรายงานข่าวของฮันนาห์ บีช (Hannah Beech) นักข่าวจากหนังสือพิมพ์ New York Times ในบทความ “Inside Myanmar’s Army : They See Protesters as Criminals” (มองเข้าไปในกองทัพเมียนมา : พวกเขามองผู้ประท้วงว่าเป็นอาชญากร) ที่ได้สัมภาษณ์อดีตทหารที่ลุกขึ้นมาต่อต้านกองทัพอันเป็นที่รักของตัวเอง ในบทสัมภาษณ์พันตรี ทุน เมียต อ่อง (Tun Myat Aung) ทหารจากกองทหารราบเบาที่ 77 ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องความโหดเหี้ยมเด็ดขาด และเป็นกองทหารที่ถูกใช้ปราบปรามกลุ่มชาติพันธุ์มาแล้วหลายครั้ง ทหารผู้นี้กล่าวว่าทหารพม่าถูกฝึกฝนมาให้เป็นมือสังหาร และถูกสอนให้รักชาติเหมือนเป็นหุ่นยนต์ ในขณะที่ทั่วโลกประณามการกระทำเกินกว่าเหตุของกองทัพและตำรวจพม่า แต่รัฐยังเห็นว่าการสังหารประชาชนนี้เป็นหนทางเดียวที่จะฟื้นฟูสันติภาพและนำประเทศกลับมาสู่ภาวะปกติได้

Advertisement

ในวันกองทัพพม่าที่เพิ่งผ่านมาเมื่อวันเสาร์ กองทัพพม่าสังหารประชาชนไปเกือบ 100 คนภายในวันเดียว วันที่แสนชื่นมื่นของคนในกองทัพเริ่มต้นด้วยการเดินขบวนสวนสนามอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีตัวแทนกองทัพจากหลายชาติ รวมทั้งไทย เข้าร่วมด้วย นอกจากนี้ในช่วงเย็นยังมีการแสดงโดรนแปรอักษรเป็นรูปพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำกองทัพพม่า อาจเป็นเรื่องบังเอิญก็ได้ที่การแสดง
โดรนนี้ดูจะละม้ายคล้ายกับการแสดงโดรนแปรอักษรที่เคยแสดงในไทยมาก่อนตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ผู้เสียชีวิตบางคนจากวันมหาวิปโยคนั้นเป็นเด็กที่โดนลูกหลงจากการสู้รบผู้เสียชีวิตที่อายุน้อยที่สุดอายุเพียง 5 ปีเท่านั้น หลายคนอาจตั้งคำถามว่าอะไรเป็นสาเหตุให้กองทัพพม่าเข่นฆ่าประชาชนได้มากเพียงนี้ แม้จะมีเสียงทัดทานจากนานาชาติ จากคำให้การของทหารในบทความของนิวยอร์ก ไทม์ส กองทัพพม่าสอนทหารทุกชั้น ทั้งระดับสูงและระดับล่างว่าทหารมีหน้าที่ปกป้องประเทศและศาสนา และพม่าก็จะแตกสลายหากไม่มีกองทัพ ดังนั้น กองทัพพม่าจึงมีสถานะเป็นเหมือน “รัฐซ้อนรัฐ” หรือ Deep State ที่มีตำแหน่งแห่งที่ของตนเอง และเหมือนมีกำแพงล้อมรอบตนเอง ตลอดจนมีอำนาจคอยควบคุมรัฐบาลพลเรือน แม้ไม่ใช่ทางตรง แต่กองทัพก็ใช้กลไกทางกฎหมายที่ออกแบบมาอย่างดีกดทับอำนาจของรัฐบาลพลเรือนของพรรคเอ็นแอลดี

โฆษณาชวนเชื่อที่ทหารในกองทัพได้ยินได้ฟังซ้ำๆ ผ่านวาทกรรมของโรงเรียนนายร้อยที่เมืองปยินอูลวิน (หรือเมเมี้ยวในอดีต) สร้างนายทหารพม่าให้มีอีกสถานะหนึ่งที่แตกต่างออกไปจากพลเรือนอื่นๆ ทหารชั้นผู้น้อยถูกสอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิดโดยผู้บังคับบัญชา และยังมีการป้อนข้อมูลเพื่อล้างสมองทหารทุกหน่วยว่ารัฐบาลพลเรือนเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ คำอธิบายเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าทหารพม่า (หรือทหารในรัฐแบบอำนาจนิยมทั่วโลก) มองประชาชน นักการเมืองขั้วตรงข้าม และกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นศัตรู ภัยคุกคามที่กองทัพพม่าพยายามกำจัดมาตลอดหลายสิบปีตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชล้วนแล้วแต่เป็นผู้คนภายในพม่าเอง
ก่อนวันกองทัพพม่าจะมาถึง มีการคาดคะเนมาแล้วว่าอาจเกิดความสูญเสีย และอาจมีการปราบปรามประชาชนครั้งใหญ่ “เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่าง” และเพื่อแสดงว่ากองทัพสามารถปราบปราม “ศัตรูของชาติ” ทุกประเภทได้ ไม่เว้นแม้แต่ประชาชนของตนเอง ทหารในกองทัพพม่าที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างเข้มงวดไม่เคยได้สัมผัสรสชาติของประชาธิปไตย พวกเขาเห็นว่าอำนาจนิยมคือสิ่งปกติ ใครที่ไม่เข้มแข็งพอก็พ่ายแพ้ไป แต่สิ่งเดียวที่ต้องดำรงอยู่คือชาติ และตั๊ดม่ะด่อ (กองทัพ) ที่ต้องอยู่เพื่อผดุงความสงบและความงอกงามของชาติ กองทัพกับพลเรือนมองพม่าด้วยมุมมองที่แตกต่างกันแบบสุดขั้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นกองทัพปราบปรามประชาชนที่ออกมาประท้วงอย่างเด็ดขาด

แต่ในขณะเดียวกันเราก็เห็นพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เดินทางไปรัฐฉานเพื่อสักการะ“สะยาดอ” หรือพระผู้ใหญ่ ในมุมมองของมิน อ่อง หล่าย การปราบปรามประชาชนในปัจจุบันมีความชอบธรรม เพราะเท่ากับเขาปกป้องชาติให้พ้นภัยจากภายนอก และสร้างความสงบให้เกิดขึ้น การจะวิเคราะห์กองทัพพม่า เราควรทำความเข้าใจและระลึกอยู่เสมอว่าเราไม่ได้พูดถึงมนุษย์สปีชีส์เดียวกับเรา แต่เป็นมนุษย์ในอีกระดับหนึ่งที่เรียกว่าอาจจะอยู่คนละโลกกับเราเลยก็ได้

Advertisement

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image