“สามัคคี”ที่พร่ำหา โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

แฟ้มภาพ

เป็นเรื่องที่สร้างความดีใจอย่างยิ่งที่นับจากนี้ คำว่า “สามัคคี” น่าจะกลับมาเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกฝ่ายควรจะตระหนักว่าประเทศมีเป้าหมายที่จะบรรลุถึงภาวะแห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ที่เกิดความเชื่อว่าจะเป็นอย่างนี้เพราะการเปิดบ้านให้คณะรัฐมนตรีที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าอวยพรเนื่องในวาระครบรอบวันเกิดปีที่ 96 ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

สิ่งที่ “พล.อ.เปรม” เน้นย้ำเป็นพิเศษต่อคณะผู้นำประเทศคือ “ทำให้ประเทศกลับสู่ความสามัคคี”

ที่สมควรดีใจเพราะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าปัญหาของประเทศไทยขณะนี้คือ ความแตกร้าวของคนในชาติที่เกิดจากความเห็นต่างทางการเมือง

Advertisement

“ความเชื่อที่แตกต่าง” ทำให้เกิดความคิดที่ขัดแย้งกันได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่

และความแตกแยกนี้ได้สร้างปัญหาต่อเนื่องไปสารพัด ลุกลามตั้งแต่การอยู่ร่วมกันระดับสังคมเล็กๆ กระทั่งขยายไปสู่ระดับความมั่นคงของชาติ

ที่น่าเศร้าใจก็คือ มีคนบางกลุ่มบางพวกเห็นดีเห็นงามกับการแก้ปัญหาด้วยวิธีไล่ทำลายล้างฝ่ายตรงกันข้าม เพราะเชื่อว่าการทำให้ประเทศอยู่ในบัญชาการของกลุ่มที่มีความคิดเห็นในฝ่ายตัว โดยพยายามทุกวิถีทางที่จะกดข่มฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับพวกตัวไม่ให้เผยอขึ้นมาคัดค้าน ต่อต้าน เห็นต่างใดๆ

Advertisement

โดยเชื่อว่ามีแต่วิธีนี้เท่านั้นที่จะทำให้ประเทศชาติมีความเป็นหนึ่งเดียว

เป็นหนึ่งเดียวในทางที่พวกตัวกำหนด

ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เพียงไม่มีทางเป็นไปได้ ซ้ำยังจะกลับทำให้ปัญหาฝังลึกจนยากจะเยียวยายิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่มีการเสนอ “ความสามัคคี” กลับมาสู่เป้าหมายการจัดการประเทศ

เพราะอย่างไรก็ตาม ประเทศไทยนั้นหลักธรรมของพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งยึดเหนียวจิตใจของคนในทุกระดับ ไม่ว่าจะคิดทำอะไร ส่วนใหญ่จะกลับมาไปค้นหาหนทางจากหลักพระธรรมคำสอน

และในเรื่อง “สามัคคี” นี้ หลักธรรมที่แพร่หลายคือ “สาราณียธรรม 6 สำหรับฆราวาส” อันประกอบด้วย

1. เมตตากายกรรม แห่งสาราณียธรรม 6 คือ ทำต่อกันด้วยเมตตา หมายถึง ทำสิ่งใดก็ทำด้วยความปรารถนาดีต่อผู้อื่นเช่น แสดงไมตรีจิต และหวังดีต่อมิตรสหาย เพื่อนร่วมงาน บุคคลรอบข้าง โดยช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ด้วยความเต็มอกเต็มใจ พร้อมกับประพฤติตนอย่างสุภาพ สม่ำเสมอ ให้ความเคารพ และจริงใจต่อผู้อื่นแม้ในยามหน้า และลับหลัง

2. เมตตาวจีกรรม แห่งสาราณียธรรม 6 คือ พูดกันด้วยเมตตา หมายถึง จะพูดอะไรก็พูดด้วยความปรารถนาดีต่อกัน เช่น การให้ความรู้ หรือคำแนะนำที่ดีต่อผู้อื่น กล่าววาจาสุภาพ พูดจริง ไม่พูดเพื่อผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ตนเองฝ่ายเดียว

3. เมตตามโนกรรม แห่งสาราณียธรรม 6 คือ คิดต่อกันด้วยเมตตา หมายถึง จะคิดสิ่งใดก็ให้คิดในสิ่งที่ดี และคิดด้วยความปรารถนาดีต่อผู้อื่น เช่น ตั้งจิตปรารถนาที่จะทำคุณงามความดี คิดมั่นในการสร้างบุญกุศล และมีจิตเมตตาช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความหวังดี

4. สาธารณโภคี แห่งสาราณียธรรม 6 คือ แบ่งปันสิ่งที่ได้มาโดยชอบธรรม หมายถึง แบ่งปันลาภผลที่ร่วมกัน หาร่วมกันทำโดยยุติธรรมแม้สิ่งของที่ได้มาจะน้อย แต่ก็แจกจ่ายให้ได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วถึงกันนั้น คือ การร่วมสุข ร่วมทุกข์กัน

5. สีลสามัญญตา แห่งสาราณียธรรม 6 คือ มีความประพฤติเสมอภาคกัน หมายถึง ประพฤติสุจริตในสิ่งที่ดีงามอย่างสม่ำเสมอ ประพฤติตนอย่างมีระเบียบวินัยเหมือนผู้อื่น ไม่ประพฤติตนในทางแตกแยกจนเป็นที่ขัดข้องหมองใจต่อผู้อื่นหรือเสื่อมเสียแก่หมู่คณะ

6. ทิฏฐิสามัญญตา แห่งสาราณียธรรม 6 คือ มีความเสมอภาคกันทางความคิด และเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น หมายถึง ปรับความคิดความเห็นให้มีเหตุมีผลถูกต้องเหมือนกับผู้อื่น และหมู่คณะภายใต้เหตุและผลในทางที่ดีงาม พร้อมกับเคารพเหตุผล ยึดหลักความดีงามเป็นอุดมคติอย่างสม่ำเสมอ

หลักธรรมนี้ มีรายละเอียดที่เริ่มต้นในทิศทางตรงกันข้ามกับการทำลายล้าง และการกดข่ม

เป็นหลักธรรมที่ไม่เพียงนำสู่การปฏิบัติที่มีความหวังเท่านั้น

แต่จะเป็นหลักธรรมที่ใช้ชี้ว่า “สามัคคี” ที่พร่ำถึงกันนั้น

ใครมีความจริงใจที่จะสร้างให้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ แค่ไหนด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image