การเมืองกับการโกหก

การเมืองกับการโกหกดูจะเป็นเรื่องที่มักถูกจินตนาการว่าเชื่อมโยงกัน ทั้งในบ้านเรา และในต่างประเทศ

แต่การเมืองกับการโกหกมักจะถูกเน้นไปที่เรื่องของ “นักการเมือง” ในฐานะคนที่โกหก ทั้งที่ในหลายสังคมนั้นการเมืองนั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่ถูกขับเคลื่อนโดยนักการเมืองเท่านั้น

แต่ยังหมายถึง “นักการเมืองที่ไม่ใช่นักการเมือง” อีกหลายกลุ่ม เช่น ทหาร ข้าราชการประจำ หรือบรรดาคนดี ที่ทั้งหมดเล่นการเมืองโดยอ้างว่าพวกเขาไม่ใช่นักการเมือง

ถ้าการโกหกนั้นถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีทางการเมือง เราก็อาจจะต้องมองย้อนกลับไปใหม่ว่า การโกหกอาจไม่ได้เป็นวิถีทางการเมือง แต่เป็นข้ออ้างของการเมืองแบบหนึ่งมากกว่า

Advertisement

เพื่อให้การอภิปรายในเรื่องการเมืองกับการโกหกไม่ใช่เรื่องของการเน้นไปที่นักการเมือง หรือไม่ใช่นักการเมือง ผมจะรวมเอาทั้งสองกลุ่มเป็นกลุ่มเดียวกันแล้วเรียกว่า ชนชั้นปกครอง หรือชนชั้นนำทางการเมือง หรือเรียกว่าผู้มีอำนาจในความหมายกว้าง

ในทางการเมืองนั้นการโกหกนั้นเป็นเรื่องของนำเสนอสิ่งที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงอย่างตั้งใจและเป็นระบบ

หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่บ่อยครั้งที่ผู้มีอำนาจนั้นทำลงไปอย่างจงใจ และอาจจะไม่รู้สึกผิด

Advertisement

แถมบางคนที่เป็นผู้สนับสนุน หรือเป็นพวกเดียวกันกับผู้มีอำนาจ อาจไม่ได้รู้สึกว่าคนที่โกหกเรานั้นผิดด้วย และบ่อยครั้งอาจจะหาเหตุผลมาช่วยอธิบายว่าทำไมผู้ปกครองที่ตนสนับสนุนนั้นจะต้องโกหก

ซึ่งการโกหก (lie) นั้นสมัยนี้อาจจะรวมไปถึงเรื่องที่เรียกว่า ความ (ไม่) จริงครึ่งเดียว ที่เรียกกันว่า half truth ซึ่งก็หมายถึงความจริง/ข้อเท็จจริงบางส่วนของเรื่องที่ถูกจงใจเล่าขึ้นมาเพื่อใช้หลอกลวงให้ผู้คนเชื่อเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง หรืออาจจะหมายถึงการพยายามใช้ถ้อยคำให้ดูสละสลวย เพื่อทำให้ผู้รับข้อมูลรู้สึกดีขึ้น หรือเข้าใจไปทางที่เราต้องการ แต่ทั้งนี้อาจเพราะต้องการซ่อนเร้นความจริงบางอย่างไม่ให้รู้

ความจริงที่ต้องการซ่อนเร้นอาจจะมีหลายแบบ อาจจะมีตั้งแต่การปกปิดหลอกลวง หรือการจูงใจให้เชื่อมั่นในข้อเสนอ/นโยบาย หรือเพียงแค่ทำให้เป็นที่ประทับใจให้ได้รับความนิยมก็ได้

และที่สำคัญสื่ออาจจะมีส่วนทำให้การ/คำโกหกนั้นถูกเผยแพร่ออกไปก็ได้ โดยเฉพาะสื่อที่เราเรียกว่า สื่อกระแสหลัก ซึ่งในยุคก่อนที่เราจะสนใจเรื่องที่เรียกว่าความผิดปกติในข้อมูลข่าวสาร เพราะในช่วงก่อนหน้านี้ไปสักสิบปี เรื่องที่เป็นที่ตั้งคำถามในยุคนั้นก็คือเรื่องของการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อ มาจนถึงยุคปัจจุบันที่ส่วนหนึ่งที่ทำให้สื่อทางเลือกเฟื่องฟูนั้นอาจไม่ใช่เพราะเทคโนโลยีหรือราคาที่เข้ามาแข่งขันหรือทดแทนกับสื่อหลัก แต่เป็นเรื่องของข้อมูลข่าวสารในมุมอื่นๆ ที่ไม่ได้ปรากฏในสื่อหลัก ไม่ว่าจะหมายถึงข้อเท็จจริง หรือมุมมองของผู้นำเสนอ

ในระดับโลก การโกหกในทางการเมืองหรือในปริมณฑลทางการเมืองของผู้มีอำนาจในวันนี้มีประเด็นตัวอย่างที่น่าสนใจอีกหลายประการ

1.การโกหกถูกยกระดับให้กลายเป็นปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารอย่างจริงจัง ราวกับเป็น “สงครามกับความจริง” เพราะการโกหกกับการพูดความจริงไม่หมดนั้นมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของคนเหล่านั้น (ทรัมป์และทีมงานคือตัวอย่างที่มักมีการชอบพูดกัน)

ในอดีตนั้น รัฐที่ถูกยึดกุมโดยผู้มีอำนาจ อาจจะทำสงครามกับหลายเรื่อง เช่น สงครามกับอาณานิคม สงครามกับความไม่รู้ สงครามกับจากความหิวโหย แต่เมื่อพิจารณากับเรื่องสงครามต่อความจริงแล้ว มันก็ดูจะย้อนแย้งอยู่พิกล เพราะสงครามต่อความจริงไม่น่าจะปลดปล่อยผู้คนออกไปจากการครอบงำใดๆ เหมือนกับสงครามกับสิ่งอื่นที่ผ่านมาที่ต้องการปลดปล่อยตัวเองจากสิ่งนั้น

2.วิธีการแก้ตัวในการโกหกนั้นอาจกระทำโดยการโทษสื่อว่าเขียนไม่ครบ มีการบิดเบือน โดยไม่ยอมรับว่าได้เคยพูดสิ่งนั้นไปแล้ว หรืออาจจะเน้นความเป็นกันเองกับสื่อด้วยความเมตตา ว่าที่พูดไปแบบนั้นอยากจะลองใจสื่อว่าตามทันไหม (เนทันยาฮูของอิสราเอลก็เคยทำเรื่องนี้)

3.วิธีการแก้ตัวอีกแบบหนึ่ง ที่บางคนอาจจะมองว่าเป็นวิธีหลบเลี่ยงการถูกกล่าวหาว่าโกหก ก็คือการบัญญัติศัพท์ใหม่ หรือให้คำนิยามว่าสิ่งที่พูดไม่ได้หมายความตามที่เข้าใจกัน การหลบเลี่ยงด้วยการนิยามศัพท์ก็มีส่วนช่วยลดความรุนแรง-เร่งด่วนของปัญหาได้ เช่น ฝนตกเป็นหมื่นปี น้ำรอการระบายและน้ำท่วมขังไม่เหมือนกัน ฝุ่นพิษกับฝุ่นจิ๋วไม่เหมือนกัน

4.อีกวิธีการแก้ตัวก็คือ อ้างว่าจำเป็นต้องโกหกในบางเรื่อง บางสถานการณ์เนื่องจากเป็นความจำเป็นด้านความมั่นคง เป็นเรื่องของชาติบ้านเมือง

5.การโกหกนั้นมีความยอกย้อนและผลิตซ้ำไปเรื่อยๆ โดยชนชั้นปกครองเชื่อว่าการโกหกนั้นเป็นเรื่องต้องดำเนินต่อไป กล่าวคือเมื่อถูกจับได้ หรือถูกท้าทาย แทนที่คนที่โกหกจะหยุดการโกหก เขากลับโกหกต่อไปอีกเรื่อยๆ (lying about lying) เรื่องราวจึงยิ่งซับซ้อน เป็นเรื่องโกหกที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ พูดง่ายๆ ว่าเมื่อถูกจับได้ก็ไม่ยอมรับผิดแต่เพิ่มเรื่องโกหกลงไปอีก

6.บางครั้งยิ่งหนักไปกว่านั้น เพราะผู้มีอำนาจนั้นบางครั้งโกหกจนหลงเข้าไปอยู่ในโลกของการโกหกเสียเอง ถลำลึกจนแยกความเป็นจริงกับเรื่องโกหกที่ตัวเองเล่าไม่ออก แถมยังพยายามที่จะทำให้คนอื่นเชื่อตามไปด้วย ไม่ใช่เพราะตนยังมีสติว่าเรื่องที่ตนเล่านั้นโกหก แต่เพราะตนเองก็ถูกหลอกทั้งจากคนรอบข้างและตัวเองด้วย จนหลุดเข้าไปอยู่ในโลกนั้นเสียเอง

7.ในบางสังคมเรื่องโกหกที่หลอกกันไปมาทั้งหมดจนหลงลืมที่มาที่ไปกันไปหมด ไม่ว่าจะจริงหรือลวงตัวเองหรือคนอื่นมันก็อาจจะเกิดจากการที่ทั้งผู้ที่มีอำนาจ และคนทั่วไปนั้นยังถูกกดจากอำนาจที่เหนือกว่านั้น จนทำให้การอธิบายในหลายเรื่องในสังคมทำไม่ได้ พูดไม่ได้

จนทำให้ฝ่ายผู้มีอำนาจที่มีอำนาจมากกว่านั้นจำต้องสร้างเรื่องราวใหม่ๆ ซ้อนเข้ามาเรื่อยๆ เพื่อให้ตัวเองรอดจากสถานการณ์ที่ต้องยอมรับความจริง

แต่กรณีนี้ต่างจากกรณีที่เคยยกไปแล้ว เพราะว่าเป็นกรณีที่ผู้มีอำนาจนั้นเอาเข้าจริงก็ไม่ได้มีอำนาจสูงสุด แต่ยังคงต้องเชื่อมโยง-เกาะเกี่ยวอำนาจตัวเองกับอำนาจอื่นๆ

8.ในส่วนของประชาชนเอง ก็มีหลายเรื่องที่จำต้องโกหกทั้งผู้มีอำนาจและตัวเองเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด จากการถูกสอดส่อง และจากการที่จะต้องมีความปั่นป่วนในแง่การตัดสินใจและประเมินค่ากับสิ่งที่พวกเขาเผชิญ

9.ระบอบที่ขับเคลื่อนได้โดยการที่ทุกคนต้องโกหกจึงเป็นระบอบที่พาเอาสังคมเสื่อมสลายลงอย่างช้าๆ

เพื่อรอถึงวันที่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันนั้นแยกขาดจากกัน

ดังที่มักชอบพูดกันว่า “เมื่อสิ่งเดิมๆ ที่มีอยู่เริ่มเสื่อมมนต์ขลัง และสิ่งใหม่ก็ยังลงหลักปักฐานไม่ได้”

ผมอดนึกถึงบรรยากาศที่ศรีบูรพา ได้เคยเขียนเอาไว้นานมาแล้ว ถึง “มนุษยภาพ” ที่กำลังสั่นคลอน …

หมายเหตุ ได้รับแรงบันดาลใจจาก Lying and Politics: A Brief Primer. https://www.open.
edu/openlearn/society-politics-law/politics/lying-and-politics-brief-primer 16/9/19. กุหลาบ สายประดิษฐ์. “มนุษยภาพ”. ศรีกรุง. 10 ม.ค.2474, 16 ม.ค.2474 และ 21 ม.ค.2474. (ศิลปวัฒนธรรม รวบรวมใหม่เมื่อมีนาคม 2548)

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image