ผู้ตรวจฯรับดะ

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติเสียงข้างมากเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2563 อนุมัติให้ควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท โลตัส สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด) พร้อมเงื่อนไข 7 ข้อ

หลังเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ชนะการประมูลซื้อกิจการเทสโก้ในไทยและมาเลเซียมูลค่า 3.38 แสนล้านบาท จากเทสโก้ โฮลดิ้ง ของอังกฤษ ถือเป็นการซื้อกิจการคืนกลับมาเป็นของคนไทย

กขค. เสียงข้างมากให้เหตุผลว่าแม้การรวมธุรกิจดังกล่าวส่งผลให้มีอำนาจเหนือตลาดมากขึ้นในตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่ สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก แต่ไม่ถือเป็นการผูกขาด

นอกจากนี้ การรวมธุรกิจดังกล่าวมีความจำเป็นตามควรทางธุรกิจและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม

Advertisement

ส่วนเงื่อนไขที่พ่วงมา อาทิ ให้เพิ่มสัดส่วนยอดขายสินค้าที่มาจากเอสเอ็มอี ทั้งกลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรชุมชน สินค้าวิสาหกิจชุมชน หรือโอท็อป เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี ทำให้เกษตรกร และเอสเอ็มอี กว่า 1 ล้านราย ได้ประโยชน์จากเงื่อนไขข้อนี้

ถือว่า กขค.เสียงข้างมากมองในหลากหลายมิติ และดูจากสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน เพราะยุคนี้เป็นไปได้ยากมากที่ธุรกิจค้าปลีกรายใดจะผูกขาดได้ เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกมากมาย อีกทั้งการแข่งขันกันสูง

โดยเฉพาะการค้าออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซ ที่มูลค่าสูงถึง 220,000 ล้านบาท เติบโตถึง 35% เพราะคนหันมาช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะช่วงโควิดระบาด

Advertisement

นอกจากนี้ร้านโชห่วย ที่คิดว่าจะได้รับผลกระทบ แต่จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์พบว่ามีร้านโชห่วยเปิดกิจการมากกว่าขอปิด ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 500,000 ร้านค้า และมีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท

หลัง กขค.มีมติไป ก็เปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยยื่นคัดค้านภายใน 90 วัน ก็ไม่มีใครมายื่น ทางเครือซีพีจึงจ่ายเงินค่าประมูลไป

แต่ต่อมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่าย รวมทั้งอ้างว่ามีผู้บริโภคจากทั่วประเทศร่วมด้วย (ก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร มาจากไหนบ้าง แล้วได้รับผลกระทบอะไร อย่างไร) ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองว่ามติ กขค.ดังกล่าวอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย…ก็ต้องรอดูว่าศาลปกครองจะว่ายังไง

นอกจากนี้กลุ่มดังกล่าวยังไปยื่นร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย แต่ที่น่าแปลกใจก็คือผู้ตรวจการแผ่นดินดันรับเรื่องไว้พิจารณาซะด้วย ทั้งที่เรื่องอยู่ที่ศาลปกครองแล้ว

ทั้งที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 มาตรา 37 (2) ห้ามมิให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรับเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล

การห้ามไม่ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาเรื่องที่ศาลกำลังพิจารณาอยู่ ไม่เพียงแค่จะทำให้งานซ้ำซ้อนกันเท่านั้น แต่ยังเสี่ยงที่ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจจะละเมิดอำนาจศาลด้วย

หากต่อมาศาลมีคำพิพากษาแล้ว แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินกลับมีคำวินิจฉัยที่แตกต่างไป จะกลายเป็นการไปกลับคำพิพากษา

ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ตรวจการแผ่นดินก็รับสารพัดเรื่องจากบรรดานักร้อง (เรียน) ทั้งหลาย ปีละกว่า 4-5 พันเรื่อง และยังมีค้างการพิจารณาอีกมากมาย

ดังนั้น ในการพิจารณารับเรื่องร้องเรียนของผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็ควรกลั่นกรอง ตรวจสอบก่อน เมื่อรู้ว่าผู้ร้องเรียนไปยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ก็ไม่ควรรับเรื่องไว้พิจารณา…อย่าเป็นผู้ตรวจฯ รับดะไปซะทุกเรื่อง

วุฒิ สรา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image