ฝันไปเถอะ 3 พรรคถอนตัว

พรรคประชาธิปัตย์ได้รับมอบหมายจากพรรคภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนาให้เป็นผู้ยกร่างญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 รายมาตรา ได้แก่ มาตรา 256 ว่าด้วยวิธีการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 คน และไม่ต้องใช้เสียงฝ่ายค้านร้อยละ 20 โดยให้ใช้เสียง 3 ใน 5 ของที่ประชุมรัฐสภา หรือ 450 คน จากทั้งหมด 750 คน มาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการโหวตหาตัวนายกรัฐมนตรี และแก้ไขการกระจายอำนาจและสิทธิเสรีภาพประชาชน แก้การใช้บัตรเลือกตั้งจากใบเดียวเป็นสองใบ

ขณะเดียวกันพรรคพลังประชารัฐยื่นแก้ไขแต่ไม่แตะต้องประเด็นเกี่ยวกับอำนาจ ส.ว.ใดๆ ทั้งสิ้น ให้คงไว้อย่างเดิมทุกอย่าง อ้างว่าหากไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งและแก้ไขไม่ได้

ติดตามท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลแบ่งออกเป็นสองขั้ว แต่เนื้อในต่างฝ่ายต่างอยากอยู่เป็นรัฐบาลต่อไป ฝ่ายหนึ่งยืนหยัดหลักการประชาธิปไตย อีกฝ่ายไม่สนใจ ขอเป็นนั่งร้านต่ออายุระบอบ คสช.ต่อไปให้นานที่สุด เลยเข้าทางเป็นเงื่อนไขให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนกลางได้ประโยชน์ มีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น

แม้ว่านายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะย้ำในการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งว่า “เคยเตือนซีกรัฐบาลแล้วว่าอย่าสร้างเงื่อนไขทางการเมืองโดยไม่จำเป็น หากไม่สนับสนุนเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญตามนโยบายของรัฐบาลที่เคยแถลงต่อรัฐสภาก็จะนำไปสู่การก่อเหตุทางการเมืองได้ สุดท้ายก็เริ่มเกิดเหตุดังที่เคยเตือนไว้แล้ว” ก็ตาม

Advertisement

ผู้คนในสังคมเลยมีคำถามตามมาว่า เตือนใครบ้าง ในซีกรัฐบาล หมายความรวมถึงตัวนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ แม้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ระบุถึงตัวบุคคลชัดเจน แต่วิญญูชนคนไม่ได้กินแกลบก็อ่านเกมออก เป็นการพูดแบบรักษามรรยาท ถนอมน้ำใจกันไว้ ถึงอย่างไรก็เป็นรัฐบาลด้วยกัน

สำคัญว่าเจ้าตัว คนฟัง ฟังแล้วได้ยินหรือไม่ เท่านั้น

ท่าทีล่าสุดที่ปรากฏออกมาก่อนหน้านั้นจากคำสัมภาษณ์ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายตัวจริง เสียงจริง บอกว่า นายกฯพูดในที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ถึงการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขอให้ไปคิดแนวทางกันให้ตกผลึก และให้นำกลับมาแจ้งให้ทราบ

“ผมไม่กล้าแปรความเป็นอย่างอื่นว่า หากตกผลึกแล้วรัฐบาลพร้อมเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่”

ขณะที่ความเห็นพรรคร่วมรัฐบาลแตกเป็นสองขั้ว คนกลางยังลอยตัว ไม่ออกแรงแสดงจุดยืนชัดเจนในเนื้อหาว่าควรจะแก้อย่างไร ความเป็นไปได้ในการหาจุดลงตัวคงผ่านได้เฉพาะประเด็นที่เห็นตรงกัน ส่วนที่ขัดแย้งกันเอาไปลุ้นในที่ประชุมรัฐสภาเช่นเดิม ซึ่งแน่นอนว่า

ยากที่จะผ่านด่านความเห็นชอบจาก 84 ส.ว.ไปได้อีกเช่นเคย

แนวโน้มสถานการณ์น่าจะออกรูปนี้ จึงเป็นไปได้มาก การที่พรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา จะกล้าประกาศถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล จึงเป็นความฝันกลางวัน เป็นไปได้ยากอีกเช่นกัน เพราะผลประโยชน์จากการเป็นรัฐบาลมีมากกว่าออกไปเป็นฝ่ายค้าน

แม้สถานการณ์ภายนอกสภาจะเริ่มมีสัญญาณร้อนแรงขึ้นจากนักเคลื่อนไหวรุ่นใหญ่ทุกสีเสื้อออกมารวมตัวกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลงจากอำนาจ

การอมพะนำท่าทีในการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ยอมรับว่า ตัวเองเป็นปัญหา แต่ล้วนเกิดจากฝ่ายอื่นๆ ทั้งสิ้น ยิ่งทำให้สถานการณ์เกิดความไม่แน่นอน จะนำไปสู่รอยร้าวระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมรัฐบาลกับวุฒิสมาชิก บานปลายถึงหัวหน้ารัฐบาลต้องลงมาห้ามทัพ หรือตัดสินใจยุบสภาในที่สุด สถานการณ์กำลังพัฒนาไปตามลำดับ

หัวขบวนกลุ่มราษฎรยังไม่ได้รับการประกันตัว ยิ่งเป็นเงื่อนไขเพิ่มความชอบธรรมให้กับการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลเป็นอย่างดี

ม็อบรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง รุ่นเล็ก ออกมารวมพลกันคราวนี้ จะจบลงอย่างไรอีกไม่นานก็จะเห็น แม้ไม่ยอมลาออก อำนาจยุบสภาอยู่ในมือยังเป็นทางเลือกให้ตัดสินใจ

ประเด็นมีว่า ขืนยังดึงดันโทษแต่คนอื่นอยู่ต่อไป ด้วยคำถามเดิมๆ ว่า “ต้องการให้เหตุการณ์ก่อน 22 พฤษภาคม 2557 กลับคืนมาอีกหรือ” การดื้อแพ่ง ไม่ยอมมองย้อนกลับมาถึงตัวเอง ไม่ทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้หลายต่อหลายเรื่อง แก้รัฐธรรมนูญเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น การซื้อเวลาจึงสุ่มเสี่ยงให้การเมืองร้อนแรงและลุกเป็นไฟ ก่อนจบลงด้วยความรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง

สมหมาย ปาริจฉัตต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image