‘วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม’

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.2412 ภายหลังเสด็จขึ้นครองราชสมบัติได้ 1 ปี สืบเนื่องจากพระราชศรัทธาอันยิ่งใหญ่ และตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์จะทรงสถาปนา หรือทรงปฏิสังขรณ์พระอารามขึ้น เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเพื่อทำนุบำรุงพระศาสนา

ประวัติการสร้างวัด ปรากฏหลักฐานในงานพระนิพนธ์ของ “พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” ในหนังสือแถลงการณ์คณะสงฆ์ วันที่ 11 พ.ศ.2466 กล่าวโดยสรุปว่า…

วัดราชบพิธสร้างขึ้นโดยพระราชประสงค์ของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินที่เคยเป็นวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ และบ้านเรือนราษฎรริมคลองสะพานถ่าน เพื่อสร้างเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม

ในบันทึกเป็น พ.ศ.2412 จึงเริ่มก่อสร้างวัด โปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ เป็นแม่กองอำนวยการสร้างพระองค์แรก เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2412 เป็นวันก่อพระฤกษ์ และวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2412 ทรงพระราชอุทิศพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรก และได้ทรงตั้งการพระราชพิธีทรงพระราชอุทิศพระราชทานวิสุงคามสีมาอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2413 และในวันที่ 17-19 พฤษภาคม พ.ศ.2413 มีพิธีผูกพัทธสีมาพื้นที่วิสุงคามสีมาทั้งวัด ประดิษฐานสีมาที่กำแพงทั้ง 8 ทิศ และได้สร้างกุฏิเสร็จเรียบร้อย

Advertisement

จากนั้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2413 ได้นิมนต์พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ที่ “สมเด็จพระพุฒาจารย์” และพระสงฆ์ 20 รูป จากวัดโสมนัสวิหารมาจำพรรษา

วันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2415 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ “พระพุทธอังคีรส” มาประดิษฐานในพระอุโบสถ เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2416 มีพระราชพิธียกช่อฟ้าพระอุโบสถ

วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2417 มีพิธียกแกนยอดพระเจดีย์ใหญ่

Advertisement

อย่างไรก็ตาม การสร้างวัดยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ ยังมีการก่อสร้างต่อเนื่องเรื่อยมา เมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ สิ้นพระชนม์ลงเมื่อพ.ศ.2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ” เป็นแม่กองอำนวยการสร้าง ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ “เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี” (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) เป็นแม่กองอำนวยการสร้างส่วนที่ยังค้างอยู่จนแล้วเสร็จในรัชกาลนั้น

ต่อมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ.2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปประทับ ณ สหราชอาณาจักร ซึ่งเดิมมีพระราชประสงค์จะซ่อมแปลงพระอุโบสถให้งามขึ้นกว่าเดิม ไม่ได้ดำเนินการต่อ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงทำเป็นลวดลายประดับผนังระหว่างช่องหน้าต่างแทน โดยทำสีพื้นและใส่ตัวอักษร “จ” อักษรพระปรมาภิไธยย่อ “จุฬาลงกรณ์” ในรัชกาลที่ 5 สลับกับรูปอุณาโลมแทน

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชศรัทธาต่อวัดราชบพิธอย่างมาก ด้วยเหตุที่ในรัชกาลพระองค์มิได้ทรงสถาปนาวัดใหม่ จึงถือการบูรณาวัดใหญ่เป็นพระราชศรัทธาที่สำคัญ เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว จึงได้มีการนำพระบรมราชสรีรางคารมาบรรจุ ณ “พุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส” พระประธานพระอุโบสถ และอนุโลมว่าวัดราชบพิธเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 7 อีกรัชกาลหนึ่ง

ลุถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร แม้ทรงมีเวลาปฏิบัติพระราชกิจในราชอาณาจักรเพียงน้อย หากยังทรงพระราชอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระอารามนี้ดุจเดียวกับพระราชกุศลจริยาของสมเด็จพระบรมราชบุพการี จนกระทั่งรัชสมัย “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ทรงประสิทธิ์ประสาทความสถาวรวัฒนาให้บังเกิดแก่พระอารามอย่างมหาศาล ได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์บำรุงมาต่อเนื่องและยาวนาน แม้ช่วงปัจฉิมกาลแห่งพระชนม์ชีพ ยังทรงพระกรุณารับโครงการปฏิสังขรณ์ เนื่องในศุภวาระสมโภช 150 ปี แห่งการสถาปนาพระอารามไว้ใน “พระบรมชูปถัมภ์”

สมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า รัชกาลปัจจุบัน ผู้ทรงคุณอันประเสริฐทรงทำนุบำรุงสรรพกิจอันเนื่องด้วยวัดราชบพิธ ด้วยพระราชศรัทธาพิเศษมานับแต่ทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเคารพเลื่อมใสในเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ พระราชอุปัธยาจารย์ เป็นบุญเขตราชปูชนียฐานแห่งพระองค์ มีพระมนัสเลื่อมใสในพระรัตนตรัยอย่างมั่นคงมิแปรผัน ในการบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามครั้งใหญ่ ในศุภวาระสมโภช 150 ปี แห่งการสถาปนาพระอารามก็มีพระมหากรุณาทรงรับเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของโครงการพระราชกุศลจริยาทุกสถานเป็นที่ปีติซาบซึ้งและเป็นที่ตั้งแห่งปัตตานุโมทนามัยสาธุการแซ่ซ้องตลอดมา

วัดราชบพิธฯ มีเจ้าอาวาส ดังนี้

เจ้าประคุณ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นปฐม

เจ้าพระคุณ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า

พระเดชพระคุณ พระศาสนโศภน (จินฺตากรเถร)

เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ

เจ้าประคุณ สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (จินฺตากรเถร)

ปัจจุบัน : สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ

นามและความหมายนาม “วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” มาจากคำว่า “ราชบพิธ” หมายถึง “พระราชาทรงสร้าง” ส่วนคำว่า “สถิตมหาสีมาราม” หมายถึง วัดที่เป็นมหาสีมา หรือเขตสีมาใหญ่ตั้งอยู่ ทั้งนี้ มีรูปหลักสีมาเป็นเสาศิลาสลักเป็นรูปเสมาธรรมจักรที่หัวเสา และปักที่กำแพงวัดทั้ง 8 ทิศ ในความหมายคือ…

วัดนี้มีการฝังนิมิตสีมาที่กำแพงวัดทั้งแปดทิศ ประกาศเป็นเขต “พัทธสีมา” ทั้งวัด จึงเรียกว่า “มหาสีมาราม” เช่นเดียวกับ “วัดราชประดิษฐสถิตสีมาราม” สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายที่มาของคำว่า “มหาสีมาราม” ว่าเมื่อสร้างวัดพระราชบพิธ เจริญรอยตามวัดราชประดิษฐหมดทุกอย่างเลย จนกระทั่งทำมหาสีมาราม และชื่อวัดให้คล้ายกันชะรอยจนคิดเปลี่ยนสร้อยชื่อ วัดราชประดิษฐเป็นสถิตธรรมยุติการาม เอาสร้อยเดิมของวัดราชประดิษฐไปใช้วัดราชบพิธว่า “สถิตมหาสีมาราม” ทั้งรูปแบบแผนผัง แนวคิด คติการสร้างและรูปแบบศิลปกรรมของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามล้วนได้รับแบบมาจาก “วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม” ซึ่งสถาปนาขึ้นโดย “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

“พระพุทธอังคีรส” พระประธานประจำพระอุโบสถ “พระพุทธอังคีรส” มีความหมายว่า พระพุทธรูปที่มีพระรัศมีแผ่ซ่านจากพระวรกาย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า “พระพุทธอังคีรส” หล่อขึ้นเมื่อปลายรัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระพุทธรูปที่หล่อด้วยสำริดและกะไหล่ทองคำทั้งองค์ เนื้อทองที่กะไหล่เป็นทองเนื้อแปดหน้า 180 บาท เดิมเป็นทองของเครื่องทรงในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังพระเยาว์ และโปรดเกล้าฯให้หล่อบัลลังก์กะไหล่ทองเนื้อหก หนัก 48 บาท เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เชิญมาประดิษฐานเป็น “พระพุทธรูปประธาน” ที่พระอุโบสถวัดราชบพิธ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ ประทับนั่งเหนือฐานสิงห์ ที่บัวหงายมีลายกลีบบัวรองรับ

ตลอดกาลสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 10 ปัจจุบัน ระยะกว่า 150 ปี มี “สมเด็จพระสังฆราช” 3 องค์ คือ

1.พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า

ทรงประสูติ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2402 สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2480

พระนามเดิม : หม่อมเจ้าภุชงค์ มีพระฉายาว่า “สิริวฑฺฒโน”

ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ยุคที่ 2

พระรูปปั้น เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2480 โดยมี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล ทรงเป็นประธานในพิธี

2.สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ

ทรงประสูติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2440

สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2531

พระนามเดิม วาสน์ นิลประภา มีพระฉายาว่า “วาสโน”

ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ยุคที่ 4

พระรูปนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเททองหล่อพระรูป เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2551 ต่อมา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบรรจุพระสรีรางคารที่ฐานพระรูป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2532

3.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร)

ทรงประสูติ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2470 (93 ปี) ณ จังหวัดราชบุรี

พระนามเดิม อัมพร ประสัตถพงศ์ มีฉายาว่า อมฺพโร

ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระชนนี ตาล ประสัตถพงศ์

พระชนก นับ ประสัตถพงศ์

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สถาปนาเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 ; วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงเป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต แม่กองงานธรรมทูต

อนึ่ง ผู้เขียนและหนังสือพิมพ์มติชน ขอเชิญชวนพี่น้องคนไทยทุกคน และชาวต่างชาติที่เป็นนักท่องเที่ยว ฝรั่ง คนจีน คนญี่ปุ่น คนอินเดีย แขก ฯลฯ ยุคโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้วทั่วโลก พร้อมบางหลายประเทศได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 บ้างแล้ว และประเทศไทยได้สร้างความเชื่อมั่น โดยทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ได้ดำเนินการควบคุมโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี จนองค์การอนามัยโลกให้ความไว้วางใจประเทศไทย “ยุค New Normal” ขอให้ได้มาเที่ยวที่วัดราชบพิธ นอกจาก “พระอุโบสถ” ทั้งภายนอกและภายในที่สวยงามมาก ลวดลายศิลปกรรม ละเอียดอ่อนช้อย
สีสวยงาม ลวดลายตระการตา ภายในโบสถ์ศิลปกรรมตกแต่งแบบตะวันตก บรรยากาศภายในเหมือนโบสถ์ของคริสต์ในศิลปะแบบ “โกธิค” ฝ้าเพดาน
เป็นวงโค้งประดับลวดลายดอกไม้ ใบไม้ พื้นผนังสีฟ้า มีเสาแซะร่องแบบศิลปะละม้ายฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี ดีๆ นั่นเอง

ผู้เขียนได้ข้อมูลนี้มาจากหนังสือ “นำชมวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” มีสิ่งที่ผู้เขียนยังไม่ได้เขียนถึงซึ่งมากมายด้วยความหมาย และสวยสดงดงามจริงๆ เช่น พระธาตุเจดีย์ พระวิหาร ศาลาราย พลับพลาเปลื้องเครื่อง พระบรมราชานุสาวรีย์ เสด็จพ่อ ร.5 ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ฯลฯ ตลอดจนสิ่งศักดิ์มากมาย กราบไหว้แล้วสบายใจ อยากเชิญชวนให้เที่ยวที่ดีสบายใจ ปลอดโรคปลอดภัย ยุค New Norma ต้องเที่ยวที่ “วัดราชบพิธ” ไงเล่าครับ

นพ.วิชัย เทียนถาวร
อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image