คณาธิปไตยในการเมืองไทย (2) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ดังที่กล่าวแล้วว่า คณาธิปัตย์ไทยเกิดขึ้นจากนโยบายพัฒนาของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ระบอบเผด็จการสฤษดิ์ทำให้รัฐมีประสิทธิภาพขึ้นอย่างมาก โดยการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่กระตุ้นการลงทุนในด้านต่างๆ ในขณะเดียวกันก็ใช้อำนาจเผด็จการลดความเสี่ยงของการลงทุนด้วย เช่น ไม่อนุญาตให้แรงงานได้รวมกลุ่มเพื่อการต่อรอง ปราบปรามความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่อยู่ในฝ่ายเดียวกับเผด็จการทหารอย่างเด็ดขาด ทำให้เกิดความสงบทางการเมือง

แต่ในขณะเดียวกัน รัฐที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นนี้ ก็เต็มไปด้วย “เจ้าพ่อ” ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ที่คอยเก็บค่าต๋งจากผู้ประกอบการ ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ คณาธิปัตย์เลือกจ่ายและเป็นพันธมิตรกับเจ้าพ่อที่ถืออำนาจรัฐ ทำให้รอดพ้นจากการเรียกค่าคุ้มครองของเจ้าพ่อท้องถิ่น แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นศัตรูกับเจ้าพ่อท้องถิ่นเสียทีเดียว การมีลำดับขั้นของเจ้าพ่อ และการยอมรับอำนาจของเจ้าพ่อระดับชาติ ทำให้ไม่เกิดสงครามมาเฟียขนาดใหญ่ขึ้นในประเทศไทย และนี่คือระเบียบอีกชนิดหนึ่งที่ช่วยประกันความปลอดภัยในทรัพย์สินและรายได้ของคณาธิปัตย์ไทย

ในระยะยาว เจ้าพ่อรายเล็กในท้องถิ่นเสียอีก เมื่อสะสมทุนจากท้องถิ่นได้ในระดับหนึ่งแล้ว ย่อมยินดีจะร่วมทุนและร่วมมือกับคณาธิปัตย์ในส่วนกลาง เพื่อจะได้ความคุ้มครองจากเจ้าพ่อระดับชาติ มากกว่าสร้างฐานอำนาจอิสระของตนเองขึ้นในท้องถิ่น (ซึ่งแตกต่างจากอีกหลายประเทศในโลกนี้)

ในแง่นี้ ผมอยากให้เปรียบเทียบประสิทธิภาพของเจ้าพ่อระดับชาติที่เป็นเผด็จการทหาร กับผู้นำการเมืองพลเรือนซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เจ้าพ่อระดับชาติที่เป็นเผด็จการทหาร มีประสิทธิภาพมากกว่าในการรักษา “ระเบียบ” ทางสังคมและการเมือง อย่างน้อยในบรรดาอำนาจเถื่อนทั้งหลายในสังคม มันต้องมีหัวมีก้อยบ้าง “ระเบียบ” ที่เกิดจากหัว-ก้อยของอำนาจเถื่อนเช่นนี้มองเห็นได้ชัด และน่าเชื่อถือแก่คณาธิปัตย์ไทยได้มากกว่า

Advertisement

แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า นักการเมืองพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง จะไม่สามารถรักษา “ระเบียบ” ได้เลย เนื่องจากนักการเมืองพลเรือนไม่มีอำนาจของเจ้าพ่ออยู่ในมือ วิธีรักษา “ระเบียบ” หรือความสงบเรียบร้อย จึงกระทำโดยการดึงเอาเจ้าพ่อท้องถิ่นเข้ามาสู่วงการเมืองระดับชาติ ในฐานะพันธมิตรทางการเมือง บางคนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยตำแหน่งแล้วใหญ่กว่ากองทัพซึ่งเป็นเจ้าพ่อส่วนกลางเสียอีก อำนาจเถื่อนในการเมืองไทยจึงดูเหมือนขาดหัวก้อย จนอาจเกิดความไม่มี “ระเบียบ” ในสังคมขึ้นได้ นับเป็นสัญญาณคุกคามความปลอดภัยในทรัพย์สินและรายได้ของคณาธิปัตย์อย่างหนึ่ง ยิ่งรัฐมนตรีและเจ้าพ่อบางคน ไปไหนมาไหนด้วยชายหนุ่มหน้าเหี้ยมที่พกอะไรตุงๆ ในอกเสื้อ ก็ยิ่งสร้างความหวั่นไหวแก่คณาธิปัตย์มากขึ้น

ทั้งนี้ ไม่ต้องพูดถึงความรู้สึกขัดหูขัดตาของคนชั้นกลางในเมือง ที่ต้องเห็นคน “ไร้การศึกษา” (พูดภาษาอังกฤษก็ไม่เป็น) กลายเป็น “ท่าน” ในกระทรวงต่างๆ

กล่าวโดยสรุปก็คือ ประชาธิปไตย (หรือระบอบเลือกตั้ง) ในเมืองไทย ประสบความสำเร็จในการรักษาประสิทธิภาพของรัฐไว้ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ต่างจากประสิทธิภาพของรัฐที่เผด็จการทหารสฤษดิ์สร้างเอาไว้ (ประสิทธิภาพของรัฐในที่นี้ไม่เกี่ยวกับ “โกง” นะครับ เพราะเผด็จการทหารก็ “โกง” ไม่ต่างจากกัน) ข้อนี้ทำให้คณาธิปัตย์ไม่ถึงกับรังเกียจการเมืองระบอบนี้เสียทีเดียว ในคราวจำเป็นก็อาจเรียกร้องให้กลับไปสู่ระบอบเลือกตั้งด้วยก็ได้ แต่ประชาธิปไตยไทยประสบความล้มเหลวในการรักษาหัว-ก้อยของอำนาจเถื่อน (เราจะเรียกอำนาจเถื่อนว่าเป็นช่องโหว่ของประสิทธิภาพของรัฐไทยก็ได้) ข้อนี้คณาธิปัตย์ไทยไม่ชอบ เพราะในระยะยาวอาจคุกคามทรัพย์สินและรายได้ของพวกเขาได้ ผมควรกล่าวด้วยว่า คณาธิปัตย์ไทยไม่รังเกียจอำนาจเถื่อน ที่จริงก็ได้ใช้ประโยชน์จากอำนาจเถื่อนในการเพิ่มพูนทรัพย์สินและรายได้ของตนตลอดมา แต่อำนาจเถื่อนนั้นต้องมี “ระเบียบ” คืออยู่ในการควบคุมตามลำดับชั้นพอสมควร

Advertisement

(ผมมีข้อสังเกตด้วยว่า ประชาธิปไตยหรือระบอบเลือกตั้งของมาเลเซีย ประสบความสำเร็จในการรักษา “ระเบียบ” ของอำนาจเถื่อนอย่างดี และทำให้คณาธิปัตย์มาเลเซียน อยู่กับระบอบการเมืองนี้ได้ตลอดมา ตรงกันข้ามกับฟิลิปปินส์ ซึ่งคณาธิปัตย์พกปืนตลอด แต่ประชาธิปไตยฟิลิปปินส์อยู่รอดมาได้ด้วยพลังของคนชั้นกลางโดยแท้ ในขณะที่คนชั้นกลางไทยเคยชินกับการพึ่งพาคณาธิปัตย์ มากกว่าก้าวออกมาสร้างและรักษาผลประโยชน์อิสระของตนเอง)

จากนั้นมาจนถึงทุกวันนี้ อาจกล่าวได้ว่า รัฐไทยประสบความสำเร็จในการทำให้รัฐมีประสิทธิภาพระดับหนึ่ง คณาธิปัตย์ไทยเป็นคณาธิปัตย์ที่เชื่องแล้ว เพราะเกิดและเติบโตมาในรัฐที่มีประสิทธิภาพระดับหนึ่ง ดังนั้นจึงต้องการรัฐที่มีประสิทธิภาพมากกว่าต้องการระบอบการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง เลือกตั้งก็ได้ เผด็จการทหารก็ได้ หรือกลับไปสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ได้ ขอแต่ให้รัฐมีประสิทธิภาพระดับหนึ่ง ที่สามารถประกันทรัพย์สินและรายได้ของตนก็พอ ด้วยเหตุดังนั้น คณาธิปัตย์ไทยจึงใช้ระบอบการเมืองชนิดต่างๆ เป็นเครื่องมือทางการเมืองในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เมื่อไรที่รัฐทำท่าจะเสื่อมประสิทธิภาพอันจำเป็นลง ก็หันไปสนับสนุนอุดมการณ์ของระบอบปกครองอีกชนิดหนึ่ง เพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่ปล่อยให้ประสิทธิภาพของรัฐซึ่งมีไม่มากนักอยู่แล้วเสื่อมลง

ผมคิดว่ากรณี 14 ตุลา และ 6 ตุลา เป็นตัวอย่างการกลับไปกลับมาของคณาธิปัตย์ไทยได้ดี

การรัฐประหารตัวเองของกลุ่มถนอม-ประภาสใน พ.ศ.2514 คุกคามประสิทธิภาพของรัฐอย่างน่ากลัว เช่น การไม่ตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นบริหารบ้านเมืองตามปกติ แต่ตั้งคณะกรรมการจัดการเป็นเรื่องๆ ไป ย่อมทำให้ “ระเบียบ” ของบ้านเมืองอาจรวนเรในสายตาของคณาธิปัตย์ อันจะนำไปสู่ภัยคุกคามทรัพย์สินได้ การจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพของคณะทหาร ยังทำให้เกิดความขาดแคลนในหมู่ผู้บริโภค ถึงขนาดต้องเข้าคิวยาวเพื่อซื้อข้าว เป็นรูปธรรมของความไร้ประสิทธิภาพและไร้ “ระเบียบ” ที่นำไปสู่จลาจลได้

คณาธิปัตย์ไทยไม่รังเกียจเผด็จการทหาร แต่เมื่อไรที่อำนาจกระจุกแคบลง เช่น อยู่ในมือของคนคนเดียว หรือครอบครัวเดียว หรือกลุ่มเดียว กลับเป็นสัญญาณอันตรายต่อทั้งประสิทธิภาพของรัฐ และ “ระเบียบ” ของอำนาจ ซึ่งเป็นหลักประกันความปลอดภัยของทรัพย์สินและรายได้ของคณาธิปัตย์ และด้วยเหตุดังนั้นจึงต้องโค่นล้มเผด็จการทหารลงเสีย คณาธิปัตย์กลายเป็นนักประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 14 ตุลา

แต่ในทางตรงกันข้าม ระบอบปกครองที่ปล่อยให้คนส่วนใหญ่เรียกร้องสิทธิกันอย่างไม่มีขอบเขตเลย เช่นหลัง 14 ตุลา กลับยิ่งทำลายประสิทธิภาพของรัฐ และ “ระเบียบ” ของอำนาจลงจนน่าหวั่นเกรงเสียมากกว่า ปล่อยเอาไว้ไม่ได้ จึงนำไปสู่การล้อมปราบอย่างเหี้ยมโหดในเหตุการณ์ 6 ตุลา คณาธิปัตย์กลับมาเป็นเผด็จการ

ระบอบที่น่าพอใจที่สุดของคณาธิปัตย์ในช่วงนั้น คือระบอบเปรม ติณสูลานนท์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2521 ไม่มีใครมีอำนาจเด็ดขาดคนเดียวหรือกลุ่มเดียว คนส่วนใหญ่พอจะเรียกร้องสิทธิของตนได้บ้างภายใต้กรอบที่คณาธิปัตย์วางเอาไว้ เช่น การเรียกร้องที่สื่อไม่สนับสนุน ก็ไม่อาจกลายเป็นข้อเรียกร้องที่สังคมต้องอนุโลม แล้วใครเป็นคนคุมให้สื่อสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนข้อเรียกร้อง ถึงที่สุดจริงๆ แล้วก็คือคณาธิปัตย์ (เช่น ค่าแรงขั้นต่ำนั้นมีความจำเป็นที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม แต่การต่อรองค่าแรงขั้นต่ำประจำปีของฝ่ายแรงงาน ต้องมีการถ่วงดุลที่ทำให้คณาธิปัตย์ได้เปรียบในการต่อรอง)

แต่ดุลยภาพที่พอดีๆ ทางการเมืองเช่นนี้ คืออำนวยให้เกิดทั้งประสิทธิภาพและ “ระเบียบ” ก็เริ่มหายไป เมื่อพลเอกเปรมออกจากตำแหน่งนายกฯ ซึ่งเท่ากับว่ากองทัพถอนออกไปจากการควบคุมการเมืองไปพร้อมกัน ดุลยภาพทางการเมืองเริ่มเสีย ยิ่งเมื่อนักการเมืองรุกเข้าไปในแดนที่กองทัพหวงแหนไว้เป็นของตนมากขึ้น เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณาธิปัตย์เริ่มรู้สึกว่า “ระเบียบ” ของการถ่วงดุลอำนาจในสังคมเริ่มรวนเร จึงพอใจที่ทหารลุกขึ้นมายึดอำนาจใน พ.ศ.2534 ต่างพากันนำกระเช้าดอกไม้ไปมอบให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติทันที

แต่ รสช.ไม่ได้ดึงเอาดุลยภาพดังกล่าวกลับมาสู่การเมืองใหม่อีกครั้งหนึ่ง กลับมีทีท่าว่าจะรวบอำนาจไว้ในมือของกองทัพมากขึ้น เค้าของภัยที่อำนาจขาดดุลยภาพอย่าง 2514 กำลังจะกลับคืนมา คณาธิปัตย์จึงร่วมมือกับคนชั้นกลางในเมืองโค่นล้ม รสช.ลง แต่การเมืองในระบอบเลือกตั้งหลังจากนั้น ดูจะทำให้ประสิทธิภาพของรัฐหย่อนลง และความไร้ “ระเบียบ” ของอำนาจมีเพิ่มมากขึ้น ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองขณะนั้น คณาธิปัตย์ไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะกองทัพสูญเสียความไว้วางใจไปอย่างมากในเหตุการณ์สังหารหมู่ในเดือนพฤษภาคม 2535

รัฐธรรมนูญ 2540 จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะดูเหมือนจะมาจัดระเบียบของการเมืองในระบอบเลือกตั้งให้ดีขึ้น มีการถ่วงดุลจากกลุ่มที่คณาธิปัตย์ไว้วางใจ หรือคุมได้ นั่นคือองค์กรอิสระทั้งหลาย

คณาธิปัตย์ไทย ไม่มีศรัทธาเป็นพิเศษต่อระบอบปกครองอย่างใดอย่างหนึ่ง สิ่งที่คณาธิปัตย์ต้องการจากการปกครองก็คือ ประสิทธิภาพของรัฐระดับหนึ่ง (ไม่ถึงกับเต็มที่ เพราะการปกป้องทรัพย์สินและรายได้ของคณาธิปัตย์ไทยยังอาศัยช่องโหว่ของประสิทธิภาพของรัฐอยู่ด้วยเช่น เลี่ยงภาษี ดังนั้นรัฐจะมีประสิทธิภาพเต็มร้อยก็ไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพเลยก็ไม่ได้ แก่คณาธิปัตย์ไทย)

แต่รัฐธรรมนูญ 2540 นำมาซึ่งอำนาจที่ได้มาจากการชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ทำให้ดุลต่างๆ ที่วางไว้ในรัฐธรรมนูญไม่ทำงานอย่างที่ควรจะเป็น คณาธิปัตย์จึงร่วมมือกับกลุ่มประท้วงรัฐบาลอย่างเต็มที่ เพื่อนำไปสู่การยึดอำนาจใน 2549 แต่การเลือกตั้งกลายเป็นอำนาจใหม่ทางการเมืองซึ่งทั้งนักการเมืองและประชาชนค้นพบ ดังนั้นแม้แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งตั้งใจออกแบบมาให้อำนาจจากการเลือกตั้งลดความสำคัญลง ก็ไม่สามารถสกัดการใช้อำนาจนี้อย่างเด็ดขาดในทางการเมืองได้

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยจึงเป็นคำตอบที่ลงตัวแก่คณาธิปัตย์ ผู้มีอำนาจไม่ได้รวบอำนาจทั้งหมดไว้ในมือของตนแต่ผู้เดียว แต่อำนาจยังกระจายไปถึงมือของคนอื่นๆ นอกกองทัพอีกมาก เช่น ตุลาการ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายขวา แพทย์ นักวิชาการฝ่ายขวาในมหาวิทยาลัย ฯลฯ บุคคลเหล่านี้จะเป็นสมาชิกขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญร่วมไปกับทหารสายคุมกำลัง เปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2521 คนกลุ่มนี้เข้าไปเป็นสมาชิกส่วนข้างน้อยในองค์กรที่ทหารเป็นเสียงส่วนใหญ่ หรือเสียงที่เป็นบล็อก (เช่น วุฒิสภา) แต่รัฐธรรมนูญมีชัยประกอบด้วยองค์กรอื่นๆ อีกหลายองค์กรที่คนเหล่านี้เข้าไปเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ การดุลอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ จึงน่าจะได้ผลดีกว่า

และแน่นอน อำนาจจากการเลือกตั้งถูกถ่วงดุลไว้อย่างหนาแน่นด้วย

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า คณาธิปัตย์ไทยไม่ถึงกับรังเกียจประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยไทยมีแนวโน้มจะทำลายประสิทธิภาพที่จำเป็นแก่การปกป้องทรัพย์สินและรายได้ลงบางส่วน เช่น คุมอัตราสินบนไม่ได้ แนวโน้มมีแต่จะสูงขึ้น นักการเมืองย่อมเรียกร้องหรือเสนอนโยบายที่บั่นทอนทรัพย์สินและรายได้ของคณาธิปัตย์ แม้ว่านักการเมืองอาจไม่ได้ต้องการนโยบายนั้นจริงๆ ต้องการเพียงเรียกคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง แต่การเรียกร้องและนำเสนอนโยบายเช่นนั้นอยู่บ่อยๆ จะกลายเป็นข้อเรียกร้องของคนทั่วไปได้ในอนาคต ซึ่งเป็นอันตรายต่อคณาธิปัตย์อย่างแน่นอน

คณาธิปัตย์ไทยก็ไม่รังเกียจเผด็จการเหมือนกัน เพียงแต่ไม่ต้องการให้เผด็จการจำกัดการเข้าถึงอำนาจไว้ในมือของกลุ่มคนจำนวนน้อยเกินไป เช่น ครอบครัวเดียว หรือกลุ่มเดียว เพราะนั่นก็อาจเป็นอันตรายต่อทรัพย์สินและรายได้ของคณาธิปัตย์เช่นกัน เพราะเผด็จการที่ผูกขาดอำนาจได้เด็ดขาด ย่อมอาจทำลายประสิทธิภาพของรัฐหรือหลักประกันที่รัฐได้มอบให้คณาธิปัตย์ เช่น ไม่มีการยึดทรัพย์ ไม่มีการเก็บภาษีย้อนหลัง ฯลฯ

คณาธิปัตย์ไทยจึงแกว่งไปแกว่งมาระหว่างประชาธิปไตยและเผด็จการ ต่อต้านจนถึงช่วยกันลงขันเพื่อล้มรัฐบาลที่อาจนำไปสู่ความสุดโต่งของอย่างใดอย่างหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image