มือถือคือหน้าต่าง / มือถือคือผนัง โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

“นี่คนก็ติดโปเกมอน โก จนไม่รู้จะพูดยังไงแล้ว ผมคิดว่าปัจจุบันคนเราก็ติดมือถือมากพออยู่แล้ว นี่ยังต้องไปเสียเงินให้กับบริษัทบ้าๆ นี้เอง ตกเป็นทาสของมัน นี่นะ ผมจะเล่าให้ฟัง ลูกชายผมจะต้องเข้าค่ายพรุ่งนี้ ลองคิดดูสิครับ ตอนที่เราเป็นเด็ก เราจะเข้าค่ายพรุ่งนี้ วันนี้เราคงตื่นเต้น เตรียมข้าวเตรียมของไปค่ายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนมา ผมบอกให้มันลุกไปเก็บของ มันก็มัวแต่เล่นเกมในมือถือ เด็กสมัยนี้ใช้ไม่ได้เลย เอาล่ะครับ บ่นมาเยอะแล้ว เพลงต่อไปเป็นเพลงของ…”

เสียงของดีเจคลื่นวิทยุหนึ่งลอยมาปะทะหูผม ที่เขาจับความสนใจผมได้ชะงัดก็เพราะมีคำว่า ‘โปเกมอน โก’ นี่แหละครับ ตอนนั้นบนหน้าจอมือถือของผมไม่ใช่อะไรอื่น นอกไปเสียจากสิ่งที่ดีเจคนนั้นกำลังด่าอยู่ในวิทยุเป๊ะๆ พอเขาด่าใครก็ตามที่เล่นโปเกมอน โก ผมเลยรู้สึกว่าถูกด่าไปด้วย จึงเงยหน้าขึ้นมาฟังให้จบ ก่อนจะจับใจความได้ว่า อ้อ..ที่เขาอัดอั้นตันใจทั้งหมดมันไม่ใช่เรื่องคนเล่นโปเกมอน โก หรอก แต่มันเป็นเรื่องของลูกชายที่บ้าน

เรื่อง “มือถือเป็นสิ่งที่ตัดเราให้ขาดออกจากกัน หรือเป็นสิ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์” ดูเหมือนจะไม่เคยจบเลยนะครับ คำพูดทำนองว่า “ก้มหน้าไปที่มือถืองุดๆ จนไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน” ก็ยังคงใช้ได้เสมอ “นัดเพื่อนมากินข้าว ทุกคนจ้องมือถือ ไม่มีใครคุยกัน” ก็เป็นภาพที่เราเห็นถูกใช้เพื่อแซะคนติดมือถือกันจนชินตา ปรากฏการณ์นี้ถูกเรียกรวมๆ ด้วยคำที่ผมไม่ชอบว่า “สังคมก้มหน้า”

ผมเองเคยเป็นฝ่ายที่ทั้งทิ้งคนอื่น (ด้วยการจ้องมือถือ) และถูกคนอื่นทิ้ง (ด้วยการที่คนอื่นจ้องมือถือ) จึงเข้าใจความรู้สึกของทั้งคนทิ้งและคนโดนทิ้งไปพร้อมๆ กัน และยังคิดว่าการที่คิดว่ามือถือเป็นทั้งหน้าต่าง (ให้เราปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น) และเป็นผนัง (ที่ปิดกั้นคนอื่นจนเราสามารถอยู่ในโลกส่วนตัวในสถานการณ์ที่เรารู้สึกไม่สบายใจ ไม่มีอะไรจะคุย หรืออื่นๆ) ไปพร้อมกันด้วย

Advertisement

มีงานวิจัยจาก PEW Research Centre ในปีที่แล้ว ถึงมารยาทการใช้โทรศัพท์มือถือของคนอเมริกัน (ซึ่งก็อาจจะไม่ต่างจากคนไทยมาก-มั้งนะครับ-หางานวิจัยของคนไทยไม่เจอเหมือนกัน) เขาบอกว่าเจ้าของมือถือถึง 89% ยอมรับว่าเคยเปิดมือถือขึ้นมาใช้ในขณะที่เข้าสังคมอยู่ และมี 82% ที่บอกว่ารู้ตัวว่าการใช้มือถือในสถานการณ์เหล่านี้ทำให้คุณภาพบทสนทนาในวงลดลง

Sherry Turkle ผู้เขียนหนังสือ Alone Together เชื่อมโยงงานวิจัยนี้เข้ากับงานวิจัยอีกชิ้นที่บอกว่าเด็กวัยรุ่นวัยมหาวิทยาลัยในปัจจุบันมี “ความเห็นอกเห็นใจ” เพื่อนมนุษย์ลดลงจากสมัยก่อนๆ นั่นคือ ถ้าหากเทียบกับเด็กวัยรุ่นมหาวิทยาลัยสมัยยุค 80’s และ 90’s แล้ว เด็กสมัยนี้มีความเห็นอกเห็นใจชาวบ้านลดลง 40% และสามารถอ่านความรู้สึกบนใบหน้าของคนอื่นได้ไม่ดีนัก แต่เธอก็บอกด้วยว่าเมื่อจัดแคมป์ให้เด็กๆ เลิกใช้มือถือและแท็บเล็ตเป็นเวลา 5 วัน พวกเขาก็สามารถกลับมาอ่านอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่นได้ดีขึ้น เธอจึงสรุปว่าการอยู่ให้ห่างจากมือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้น มีแนวโน้มที่จะทำให้เรามีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น

เธอบอกในคอลัมน์ New York Times ชื่อ “Stop Googling, Let’s Talk.” (หยุดกูเกิลเหอะแล้วมาคุยกัน) ว่า “เรารู้เรื่องนี้ (ว่ามือถือทำให้เรามีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง) อยู่แก่ใจ แต่งานวิจัยเพิ่งได้มายืนยันความเชื่อของเราเท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าจะต้องเลิกใช้มือถือไปเลยหรอกนะ แต่ควรจะใช้มันด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ เราต้องเอาบทสนทนากลับมาอีกครั้งให้ได้” เธอรวบรวมข้อคิดเห็นและงานวิจัยทั้งหมดนี้ไว้ในหนังสือเล่มล่าสุดชื่อ Reclaiming Conversation: The Power of Talk in a Digital Age (ทวงคืนบทสนทนา: พลังแห่งการพูดคุยในยุคดิจิทัล)

ผลงานของ Turkle อาจถูกอกถูกใจใครหลายคนตรงที่มันมาช่วยยืนยันความเชื่อเรื่องนี้ของพวกเขา พวกเขาเชื่อว่าเราอยู่ในสังคมก้มหน้า การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทำให้ความเป็นมนุษย์ (ในความหมายของเขา) ตกต่ำลง และการเลิกหรือลดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นหนทางเดียวที่จะช่วยให้มนุษย์ผุดขึ้นจากหล่มนี้ได้

อย่างไรก็ตาม มีผู้วิพากษ์งานวิจัยของ Turkle ไว้หลายคน โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกนักเทคโนโลยีนั่นแหละครับ แน่นอนว่าพวกเขาต้องไม่ชอบที่ Turkle มาบอกว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ลดทอนความเห็นอกเห็นใจหรือความเป็นมนุษย์อย่างไรบ้าง เพราะพวกเขามีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าไปอีกทาง นั่นคือเชื่อว่าเทคโนโลยีต่างหากที่จะเป็นตัวประสานความเป็นมนุษย์ให้เฟื่องฟูขึ้นได้อีกครั้ง

คำวิจารณ์หนึ่งที่ผมคิดว่าควรค่าแก่การรับฟัง เป็นของ Jenny Davis จากเว็บไซต์ Daily Dot ซึ่งก็ได้ศึกษาเรื่อง Empathy หรือความเห็นอกเห็นใจมาเช่นกัน เธอวิจารณ์การทดลองของ Turkle โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “การเข้าค่ายเลิกใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์” ว่าเป็นการทดลองที่ไม่ได้มาตรฐานและมีอคติ เพราะก่อนทดลอง คะแนนความเห็นอกเห็นใจของกลุ่มเลิกใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้นแย่กว่ากลุ่มที่ไม่ต้องเลิกใช้มากๆ ทำให้หลังเข้าค่าย กลุ่มเลิกใช้อิเล็กทรอนิกส์มีคะแนนเพิ่มขึ้น “จนดูเหมือนกับว่า” เลิกใช้อิเล็กทรอนิกส์แล้วจะมีความเห็นอกเห็นใจเพิ่มขึ้นอย่างนั้น

ปัญหาของบทสรุปของ Turkle ที่ Jenny วิจารณ์ไว้คือ Turkle บอกว่าการก้าวไปสู่สื่อดิจิทัลนั้นคล้ายกับว่าเราได้ขยับออกจากบทสนทนาที่แท้จริงไป คำพูดนี้เหมือนกับพูดว่า “บทสนทนาที่แท้จริง” นั้นจะเกิดขึ้นได้ต่อหน้าเท่านั้น ส่วนการสนทนาออนไลน์นั้นมีความ “ไม่จริง” อยู่ ซึ่งนี่เป็นฐานคิดที่คนแยกโลกจริง / โลกออนไลน์แบบ Dualism ชอบใช้ (คือพวกนี้จะไม่คิดว่าโลกจริงและโลกออนไลน์ซ้อนทับกัน ซึ่งจริงๆ แล้วมันซ้อนทับกันเป็นสัดส่วนไม่น้อย)

ผมลองกลับมาถามตัวเองว่าทำไมตนจึงรู้สึกหงุดหงิดเมื่อคนอื่นเล่นมือถือขณะที่เรากำลังพูด จนอาจเข้าข่ายเคลมว่า “มือถือทำให้คนติดต่อกันน้อยลง” ก็ได้เหตุผลว่า คงเป็นเพราะว่าผมรู้สึกพ่ายแพ้ต่ออำนาจของมือถือ ต่ออำนาจของโลกอื่นที่คู่สนทนากำลังจ้องอยู่ อำนาจที่ผมสู้ไม่ได้แม้จะปรากฏกายให้จับต้องได้ต่อหน้าก็ตาม บทสนทนาบนมือถือมันคงสนุกสนานกว่า น่าสนใจกว่าผมที่อยู่ตรงหน้าเขาสินะ ความพ่ายแพ้ในลักษณะนี้เมื่อสะสมหลายๆ ครั้ง ก็อาจทำให้นึกรังเกียจมือถือจนพูดออกมาว่า “สังคมก้มหน้า” ได้อยู่เหมือนกัน

จริงๆ แล้วมือถือจึงไม่ใช่ผนังหรือหน้าต่างเสียทีเดียว แต่มันคงเปรียบเหมือน “โพรงวิเศษ” มากกว่า ที่ใครก็ตามสามารถลอดเข้าไปเพื่อพบกับอะไรอย่างอื่นที่น่าสนใจกว่าสิ่งที่ปรากฏต่อหน้า ในขณะที่คนอื่นก็ได้แต่เห็นด้านหลังของคู่สนทนา แล้วพยายามจ้องเข้าไปในโลกที่ตัวเองไม่ได้รับอนุญาต

เป็นโลกที่อำนาจแบบเดิมๆ เข้าไม่ถึง เป็นการแข็งขืนต่อสถานะเดิมที่เรามีต่อกัน

บางครั้งที่ดีเจคุณพ่อคนนั้นหงุดหงิดอาจเป็นเพราะว่าเขาไม่สามารถใช้อำนาจกับลูกชายได้ เพราะลูกชายเลือกที่จะขัดขืนอ่อนๆ โดยการใช้มือถือมาบังเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image