ถามพ่วง’ใหญ่มาก’ โดย สัญญา รัตนสร้อย

แฟ้มภาพ

คําถามพ่วงของ สนช.

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

ผ่านการลงประชามติด้วยคะแนนเห็นชอบ 15,132,050 เสียง

เป็นหัวข้อถกเถียงบทบาท ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง ควรมีมิติ กว้าง แคบ ยาว ลึก แค่ไหน

Advertisement

เรื่องของเรื่องมาจากความพยายามตีความเพิ่มเติมของ สนช.

ตีขลุมเจตนารมณ์ของผู้ออกเสียงกว่า 15 ล้านคน เห็นชอบให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯได้ ก็น่าจะหมายถึงควรให้เสนอรายชื่อนายกฯได้ด้วย

เท่ากับแตกประเด็นเกินเลยกว่าธง หรือไม่

Advertisement

พรรคพวกเพื่อนฝูงผู้เขียนแสดงความข้องใจว่า เมื่ออ้างเจตนารมณ์ผู้เห็นชอบคำถามพ่วงกว่า 15 ล้านเสียง

เหตุใดไม่คำนึงเจตนารมณ์ของผู้ออกเสียงเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 16,820,402 เสียง ที่มีคะแนนสูงกว่าด้วยซ้ำ

หากตีขลุมขึ้นมาบ้าง เจตนารมณ์ของผู้มีสิทธิออกเสียงกว่า 16 ล้านเสียง เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

ย้ำ “ทั้งฉบับ” ย่อมหมายรวมถึงเห็นชอบกับมาตรา 272 ที่กำหนด ส.ส.เลือกนายกฯจากบัญชีชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมาก่อนหน้า หากเลือกนายกฯไม่ได้ จะด้วยเหตุอะไรก็ตาม ก็ผ่าทางตันด้วยขยักที่ 2 ให้ ส.ส.ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเสนอประธานรัฐสภา ขอยกเว้นเลือกนายกฯจากบัญชีชื่อ โดยเปิดประชุมร่วม ส.ส.-ส.ว. ถ้าได้เสียง 2 ใน 3 ก็ให้ยกเว้นได้

จากนั้นยังเป็นหน้าที่ของ ส.ส.จัดการเลือกนายกฯกันต่อไป

เจตนารมณ์ตรงนี้กับเสียงมากกว่า 1 ล้านเสียง รับฟังได้มากกว่าความพยายามอ้างเจตนารมณ์ แล้วไปตีความทะลุกรอบคำถามพ่วง หรือไม่

ข้อสังเกตของพรรคพวก ทิ้งไว้ในสายลม

ขณะที่กระบวนการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงดำเนินต่อไป

ข้อถกเถียงเรื่องความเหมาะสม ส.ว.เสนอชื่อนายกฯ ถูกอธิบายด้วยความเห็นของนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ตอกย้ำความในคำถามพ่วง “ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ส.ส.500คน+ส.ว.250คน) เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบ” หมายถึงกระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่เสนอชื่อนายกฯ รวมทั้งเงื่อนไข คุณสมบัติของบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯ ไปจนถึงลงคะแนนเลือกในบั้นปลาย

ดูเหมือนเป็นความเข้าใจเดียวกับ ครม. คสช. สนช. สปท. ที่ออกมาประสานเสียงบนคีย์เดียวกัน

ปมนี้คลี่คลายไปได้ เมื่อ กรธ.ในฐานะตัวจริงเสียงจริงคนปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ มีมติ “ขัดใจเพื่อน” ด้วยยืนยันแก้ไขบทเฉพาะกาลร่างรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 272 ให้ ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯเท่านั้น ส่วนรายชื่อนายกฯไม่ว่าขยักแรกหรือขยักสอง ต้องเป็นหน้าที่ของ ส.ส.

ถึงอย่างนั้น ยังมีประเด็นเรื้อรังให้ต้องติดตาม ทั้งอาจสร้างเงื่อนไขอื่นตามมา ทั้งอาจนำไปสู่ความบิดเบี้ยวของร่างรัฐธรรมนูญ ประหลาดไปจากคณะ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เขียนไว้ก่อนประชามติ

เป็นต้นว่า ในเมื่อให้บทบาท ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ อาจเป็นเหตุให้บางคนอ้างถึงความรับผิดชอบ ตรวจสอบ ติดตาม การทำงานของนายกฯ

นั่นหมายถึงจำเป็นต้องขยายบทบาทหน้าที่ ส.ว. ในการเปิดอภิปรายตรวจสอบการทำหน้าที่นายกฯ ขาดตกบกพร่องอย่างไร ร่วมโหวตไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจนายกฯด้วย หรือไม่

หรือการเป็นตัวแปรสำคัญของ ส.ว. 250 เสียงในการเลือกนายกฯ มีผู้ตั้งข้อสังเกตเป็นปัญหาตุ๊กตาว่า หาก ส.ว.ร่วมกับ ส.ส.อีกซัก 130 เสียง รวมเป็น 380 เสียง เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา 750 คน ชนะในการเลือกนายกฯ

แต่นายกฯคนนั้นจะมีเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร การบริหารราชการของรัฐบาลก็เหมือนกายกรรม “ไต่เส้นลวด” ทันที

ยังไม่นับแรงกระเพื่อมที่เชื่อว่าจะตามมาอีกหลายระลอก

“คำถามพ่วง” จึงนับว่าสมชื่อ

พ่วงอะไรต่อมิอะไร ตามมาเป็นพรวน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image