อัตลักษณ์ อุปลักษณ์ อัปลักษณ์ โดย กล้า สมุทวณิช

เคยมีผู้ชี้ชวนให้สังเกตถ้อยคำในบทมาตราอันว่าด้วย “อำนาจอธิปไตย” กับ “ปวงชนชาวไทย” ที่มักจะปรากฏในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญไทยแต่ละฉบับ ที่บางฉบับใช้ว่าอำนาจอธิปไตย “มาจาก” ประชาชน หากบ้างก็ใช้ว่า “เป็นของ” ประชาชน สองคำนี้มีนัยแตกต่างกันอย่างไร

ท่านเฉลยว่าถ้อยคำ “มาจาก” นั้น เมื่อ “มา” แล้ว ก็จะ “จาก” หมายถึงสิ่งที่กล่าวถึงมิได้อยู่ที่นั่นแล้ว เหมือน “รถคันนี้มาจากเชียงใหม่” แล้ว ขณะนี้รถคันนั้นก็ไม่ได้อยู่ที่เชียงใหม่แล้วแน่ๆ แต่ถ้าเราพูดว่า “รถคันนี้เป็นของเรา” ไม่ว่ารถคันนั้นจะไปจอดอยู่แห่งหนตำบลใด รถก็จะยังคงเป็นของเราอยู่เสมอไป

ดังนั้นถ้า “อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย” ก็อาจแปลได้ว่า อำนาจอธิปไตยนั้นเคยมีอยู่ที่ปวงชนชาวไทย แต่บัดนี้ได้จากไปอยู่ไหนเสียแล้วก็ได้ ในขณะที่ถ้อยคำว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” แล้ว ไม่ว่าจะอย่างไร อำนาจนั้นก็ยังเป็นของปวงชนชาวไทยอยู่ดีในที่สุด

อาจคล้ายการเล่นคำจุกจิกอย่างนักนิติอักษรศาสตร์ แต่เมื่อลองไล่เรียงพลิกรัฐธรรมนูญฉบับเก่าๆ ดู ก็พบความเชื่อมโยงที่น่าประหลาดใจว่า ส่วนใหญ่รัฐธรรมนูญที่ใช้คำว่า อำนาจอธิปไตย “มาจาก” ปวงชนชาวไทย นั้นจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นหลังจาก หรือเกี่ยวเนื่องด้วยการทำรัฐประหาร เช่น ฉบับปี 2511 (ฉบับที่ร่างกัน 9 ปี ในสมัยจอมพลถนอม) ฉบับปี 2521 (หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519) และฉบับปี 2534 (หลังรัฐประหารโดย รสช. ปี 2534)

Advertisement

ส่วนกลุ่มที่ใช้คำว่า อำนาจอธิปไตย “เป็นของ” ปวงชนชาวไทย นั้นก็เริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐธรรมนูญฉบับแรกของคณะราษฎรลงวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ที่รับรองไว้ตั้งแต่ในมาตรา 1 ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ครั้งที่ยังไม่มีคำเรียก “อำนาจอธิปไตย” เลยด้วยซ้ำ นอกจากนี้ก็มีฉบับปี 2517 (ฉบับที่ร่างโดย “สภาสนามม้า” หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516) ฉบับปี 2540 ที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ อาจจะเป็นเพียงเหตุบังเอิญ หรืออาจจะเป็นรูปแบบคู่ขนานของรัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากสองขั้วก็หาทราบไม่ ?

นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาเมื่อฟังคำบรรยายของนักวิชาการชาวฝรั่งเศส ศาสตราจารย์ Philippe RAIMBAULT ที่มาบรรยายไว้ในงานอภิปรายทางวิชาการที่จัดขึ้นโดยศูนย์ศึกษากฎหมายฝรั่งเศส คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งมีการกล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า “อัตลักษณ์ทางรัฐธรรมนูญ” เอาไว้

แนวคิดนี้อธิบายว่า เมื่อศึกษารัฐธรรมนูญของชาติหนึ่งๆ ซึ่งผ่านพัฒนาการมายาวนาน แก้ไขเพิ่มเติมมาหลายฉบับ อาจจะค้นพบหลักการที่ปรากฏซ้ำอยู่ในรัฐธรรมนูญของชาตินั้นๆ และตกทอดลงมาสู่รัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มาเป็นกรอบให้รักษาเนื้อหาหรือรูปแบบนั้น กลายเป็นอัตลักษณ์ของรัฐธรรมนูญของชาติ เช่น อัตลักษณ์ของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ก็เช่นหลักการสาธารณรัฐอันไม่อาจแบ่งแยกได้ การกระจายอำนาจ และหลักการของรัฐฆราวาส

นั่นเป็นเรื่องทฤษฎีทางรัฐธรรมนูญของประเทศที่พัฒนาไปไกลแล้ว ส่วนอัตลักษณ์ทางรัฐธรรมนูญไทยนั้น หากจะมีก็คงจะต้องศึกษากัน กับทั้งต้องระวังว่าคำสวยหรูอันนี้ก็อาจจะถูกฉกชิงมาใช้เป็นอาวุธสำหรับฝ่ายที่ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง เลยพยายามลากโน่นลากนี่เข้าไปให้เป็นอัตลักษณ์ทางรัฐธรรมนูญเพื่อพาโลกีดกันไม่ให้ใครแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กระทบต่ออำนาจของฝ่ายตัวก็ได้

หรือที่สุดแท้แล้ว รัฐธรรมนูญของไทยเราอาจจะมี “สองลักษณ์” ก็ได้ คืออัตลักษณ์ของรัฐธรรมนูญฝ่าย “มาจาก” ที่เกิดจากการร่างเขียนโดยผู้ที่แย่งชิงอำนาจไปด้วยกำลัง กับรัฐธรรมนูญฝ่าย “เป็นของ” จากผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญที่แท้ คือประชาชนเจ้าของอำนาจสูงสุดที่รับรองไว้ตั้งแต่ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของชาติ

แม้ปัจจุบัน ถ้อยคำ “เป็นของ” หรือ “มาจาก” นั้นจะเอามานิยมนิยามหรือถือเป็นข้อสังเกตอีกไม่ได้แล้ว เพราะรัฐธรรมนูญรุ่นหลังแม้จะมาจากผลพวงของรัฐประหาร ทั้งฉบับปี 2550 หรือตัวร่างปี 2557 ที่แท้งไป แม้แต่ร่างฉบับล่าสุดปี 2559 นี้ ก็ไม่เขินที่จะใช้ถ้อยคำว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” แล้ว

หากถ้อยคำนั้นสำคัญไฉน เพราะสิ่งที่จะบอกแก่เราได้ว่า ผู้เขียนผู้ร่างรัฐธรรมนูญเขาหมายใจหรือเชื่ออย่างที่เขาเขียนไว้จริงหรือไม่ ก็คงจะต้องเข้าไปเปิดดูกันในเนื้อในตัวบท

เปิดดูว่าผู้เขียนเขาเชื่อจริงหรือเปล่าว่าประชาชนมีอำนาจ เขาเห็นว่าสิทธิเสียงของประชาชนผ่านกระบวนการแสดงออกทางการเมืองที่ตรงไปตรงมาที่สุดคือการออกเสียงเลือกตั้งนั้นมีค่ามีความหมายหรือไม่ สถาบันการเมืองผู้ใช้อำนาจรัฐหรือเข้ามาควบคุมอำนาจรัฐนั้นเชื่อมโยงหรือรับผิดชอบอย่างไรกับประชาชนที่เขาเขียนว่าเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และผู้แทนของประชาชนในระบบการเมืองนั้นได้รับการ “เห็นหัว” แค่ไหนเมื่อเทียบกับฝ่ายที่ใช้อำนาจการเมืองโดยไม่ผ่านระบบเลือกตั้ง เช่นนี้เราก็คงบอกได้ ว่าแท้แล้วผู้ร่างเห็นว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดจริงๆ หรือเขาถือว่าอำนาจ “มาจาก” ประชาชนไปให้เขาจัดการตามใจชอบเสียแล้ว

วิธีการง่ายๆ คือลองเทียบว่า กลไกทางอำนาจของรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้นใช้รูปแบบคล้ายรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาฉบับใด ระหว่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเป็นใหญ่ กับรัฐธรรมนูญที่เห็นประชาชนเป็นผู้ถูกอนุบาลโดยคนกลุ่มที่เชื่อว่าตัวดีกว่า มีอำนาจ ฉลาดกว่า

ที่อยู่ๆ ก็เอาเรื่องของอัตลักษณ์ขึ้นมากล่าวอุปลักษณ์นั้น ก็เพราะระลึกว่า “การเขียน” ไม่ว่าจะเขียนใดๆ นั้น เป็นการสำแดง “ตัวตน” ของผู้เขียนผ่านอักษรตัวบทที่ปรากฏ เช่น นักเขียนวรรณกรรมหลายคนมีอัตลักษณ์บางอย่างที่แม้ตัดมาสักท่อนฉีกมาสักหน้าให้ผู้อ่านที่คุ้นเคยกันก็จะรู้ได้ทันทีว่านี่เป็นผลงานของใคร เช่น ไม่ว่าเรื่องอะไรจะต้องมีแมวอยู่ในเรื่อง มีตัวละครผู้ชายดื่มเบียร์ หรือมีสำนวนเงียบงันเฉพาะตัว มีบรรยากาศเหงาลอยเคว้งคว้างผ่านตัวอักษร

เช่นกันกับนักเขียนรัฐธรรมนูญ ความเชื่อในคุณวิเศษของตนและพวกพ้อง นิสัยชอบ “เจาะรู” เพื่อให้เกิดช่องว่างให้ตีความลื่นไหลไปได้ไกลโพ้นถึงขอบจักรวาล หรือหมกเม็ดใส่ของร้ายไว้จนอาจจะเกิดการลุกฮือขึ้นต่อต้านเป็นโศกนาฏกรรม ก็ยังเป็นอัตลักษณ์หรือกลิ่นเฉพาะตนของนักร่างรัฐธรรมนูญคนนั้น

เป็นอัตลักษณ์ที่พิสุทธิ์หรืออัปลักษณ์ หากจริงอย่างว่าที่สัญญาว่าจะให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดมาตัดสินในขั้นสุดท้าย พวกเรานั้นเองที่จะเป็นกระจกให้แก่เขา หากไม่ใช่ในคราวนี้ ก็อาจจะในอนาคตไปเมื่อหน้าต่อลูกหลานเรา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image