การเจ็บป่วยและการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลใน รพ.รัฐ

การเจ็บป่วยและการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลใน รพ.รัฐ

1
โรงพยาบาลของรัฐภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นที่พึ่งของผู้ป่วยและผู้ประสบอุบัติเหตุได้อย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างจังหวัด เพราะเหตุว่าโรงพยาบาลเอกชนมีจำนวนไม่มาก ตามสถิติในปี 2562 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผู้ป่วยนอกจำนวน 148 ล้านราย เข้ารับบริการใน รพ. 896 แห่ง โดยต้นทุนค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลสูงถึง 2.3 แสนล้านบาท นับเป็นภาระทางการเงินของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าและงบประมาณแผ่นดินไม่น้อยทีเดียว ในโอกาสนี้ขอนำผลงานวิจัยเล็กๆ ที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพมิติพื้นที่มาเล่าสู่กันฟัง

2
การเจ็บป่วยและรักษาพยาบาลเป็นระบบจัดการขนาดใหญ่ ระดมบุคลากรการแพทย์หลายแสนคน ซึ่งล้วนผ่านการอบรมและมีประสบการณ์สูง ควบคู่กันระบบหลักประกัน ได้พัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ โดยบันทึกข้อมูลผู้ป่วย/ผู้บาดเจ็บเป็นรายบุคคล บันทึกค่าใช้จ่ายจำแนกเป็นรายจ่ายบุคลากร ค่ายาและเวชภัณฑ์ ฯลฯ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยอย่างมาก โครงการวิจัยเล็กๆ นี้ประมวลข้อมูลโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวง 896 แห่งจำนวน 3 ปี 2560/2562 ผนวกเข้ากับข้อมูลด้านเศรษฐกิจจังหวัด (โดยสภาพัฒน์) และประชากร (กระทรวงมหาดไทย) นำมาทดสอบข้อสันนิษฐานในประเด็นที่น่าสนใจ

นักวิจัยตั้งโจทย์ 2 ข้อ ข้อแรก อยากรู้ว่าอัตราการเจ็บป่วยและเข้ามารับบริการ (เปรียบเทียบกับประชากรพันคน) แตกต่างกันระหว่างจังหวัดหรือภูมิภาคหรือไม่? ข้อสอง จำนวนเตียงต่อประชากรพันคน (bed/pop1000) แตกต่างกันระหว่างจังหวัดหรือไม่เพียงใด

รูปภาพที่ 1 แสดงสถิติเฉลี่ย 3 ปี พบข้อสังเกตดังนี้ ก) 5 จังหวัดปริมณฑลกรุงเทพฯคือสมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อัตราการมาใช้บริการผู้ป่วยนอกใน รพ.รัฐ น้อยกว่าภาคอื่นๆ อย่างชัดเจน เป็นเพราะสาเหตุใด? นักวิจัยตีความในเบื้องต้นว่า อาจจะเป็นเพราะในเขต กทม. และปริมณฑลประชาชนมีทางลือกรับบริการ รพ.เอกชน หรือรับบริการจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น ศิริราช รามาธิบดี จุฬาลงกรณ์ ฯลฯ เพราะความเคยชินหรือเชื่อมั่นในมาตรฐานการบริหารการ ข) ในทางตรงกันข้ามพบว่าผู้มารับบริการในภาคอีสานน้อยกว่าภาคอื่นๆ ในชั้นต้นสันนิษฐานว่าอัตราการเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุน้อย หรือความเคยชินว่าเจ็บป่วย-แต่อาการไม่หนักหนา ยังไม่มารับบริการหรือความไม่สะดวกในเดินทางเข้ามารับการบริการ เช่น ระยะทางไกล ข้อจำกัดด้านการเงินเช่นไม่มีค่ายานพาหนะ ฯลฯ แต่เป็นประเด็นที่จะต้องค้นคว้าเชิงลึกต่อไป

Advertisement

รูปภาพที่ 1 อัตรามารับบริการผู้ป่วยนอก (ต่อประชากรพันคน) เปรียบเทียบรายภาค

ความจำกัดด้านอุปทานของโรงพยาบาล-อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งทำให้ประชาชนใช้บริการน้อย เช่น รอคอยนาน เตียงไม่พอรับผู้ป่วย ฯลฯ จำนวนเตียงต่อประชากรพันคน เป็นค่าสถิติที่นิยมใช้ศึกษาความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ ค่าเฉลี่ยทั่วประเทศเท่ากับ 1.6 เตียงต่อประชากรพันคน ในภาคอีสานค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1.4 ภาคตะวันตกเฉลี่ย 1.9 ค่าเฉลี่ยของภาคกลาง 2.0 แต่น้อยสุดคือ 5 จังหวัดปริมณฑลใกล้กรุงเทพฯอาจเป็นเพราะว่าประชาชนมีความเคยชินมารับบริการในเขต กทม. ก็เป็นได้

Advertisement

รูปภาพที่ 2 สถิติจำนวนเตียงต่อประชากรพันคน

3
รูปภาพที่ 3 แสดงข้อมูลเพิ่มเติมเป็นรายจังหวัด ระบุชื่อจังหวัดในภาคอีสานและปริมณฑลกรุงเทพฯที่มีจำนวนเตียงต่อประชากรพันคนค่อนข้างน้อย

รูปภาพที่ 3 จำนวนเตียงต่อประชากรพันคนรายจังหวัด

4
ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ เป็นหัวข้อวิจัยงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารในหลายประเทศ เทคนิคที่นิยมใช้คือการวาดเส้นลอเรนซ์ (Lorenz curve) สะท้อนอัตราการกระจุกตัวหรือความเหลื่อมล้ำ ในรูปภาพที่ 4 แสดงการกระจุกตัวของจำนวนเตียงต่อประชากรพันคนแบ่งตามภาคอีสาน-เหนือ-ใต้-ตะวันออก-ตะวันตก-กลางและปริมณฑลกรุงเทพฯ (รหัส 1-7 ตามลำดับ)

งานวิจัยเล็กๆ นี้ นำหลักฐานเชิงประจักษ์มาแสดงเพื่อเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานของรัฐบาลหรือกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาจนำผลไปประกอบการวางแผนลดความเหลื่อมล้ำมิติสุขภาพในโอกาสต่อไป สอดคล้องกับหลักอุดมคติของรัฐบาลที่ว่า ต้องการการพัฒนาโดยไม่ทอดทิ้งใครอยู่เบื้องหลัง

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์
ศุภสิทธิ์ พรรณารุโนทัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image