อินเดียกับท่าทีต่อพม่า

อินเดียกับท่าทีต่อพม่า
โครงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบกะลาดาน

อินเดียเป็นอีกหนึ่งประเทศขนาดใหญ่ที่เป็นเพื่อนบ้านพม่านอกจากจีน มีชายแดนติดกับพม่ายาวถึง 1,643 กิโลเมตร แต่เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นในพม่า เราแทบไม่เคยเห็นท่าทีจากอินเดีย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอินเดียไม่ใช่มหาอำนาจที่จ้องจะเข้าไปมีอิทธิพลเหนือประเทศเพื่อนบ้านเหมือนกับจีน และอีกส่วนหนึ่งคือการเข้าไปแทรกแซงหรือแม้แต่ออกความเห็นเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศไม่ใช่ลักษณะเด่นของอินเดีย โดยเฉพาะในยุครัฐบาลอนุรักษนิยมของนเรนทรา โมดี อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานโยบายของอินเดียที่มีต่อพม่าในยุครัฐบาลเอ็นแอลดีของด่อ ออง ซาน ซูจี ค่อนข้างเป็นบวก และไม่เคยมีข้อพิพาทใดที่น่ากังวลใจสำหรับสองฝ่าย ต่างกับความสัมพันธ์ระหว่างพม่าและจีน ที่ดูจะลุ่มๆ ดอนๆ และกองทัพพม่ามีความกังวลกับอิทธิพลของจีนมากกว่าสิ่งอื่น

นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารขึ้นในพม่า รัฐบาลอินเดียไม่เคยออกมาแถลงการณ์ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่วิกฤตการณ์เมืองในพม่าจะมีผลกระทบกับอินเดียอย่างแน่นอน ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เพราะจะมีผู้อพยพจำนวนหนึ่งที่หนีเข้าไปในอินเดีย และปัจจุบันก็มีนายตำรวจและทหารพม่าที่หนีเข้าไปในอินเดียบางส่วนแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเคยออกแถลงการณ์เกี่ยวกับรัฐประหารพม่าเพียงครั้งเดียว และกล่าวเพียงว่าอินเดีย “เป็นห่วงสถานการณ์ในเมียนมาอย่างยิ่ง” และยังกล่าวว่า ยังอยากเห็นพัฒนาการด้านการเมืองสู่ระบอบประชาธิปไตยในพม่าต่อไป แต่ก็ไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์รัฐประหารนี้โดยตรง และรัฐบาลพม่าทุกรัฐบาลควรยึดหลักการประชาธิปไตยมากกว่าความรุนแรง แต่นับแต่นั้นมา อินเดียก็ไม่เคยออกความเห็นใดๆ เกี่ยวกับพม่าอีก หลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์กองทัพ และรัฐบาลคณะรัฐประหาร นอกจากนี้ อินเดียยังร่วมกับจีน รัสเซีย และเวียดนามคัดค้านมติของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ต้องการประณามคณะรัฐประหารโดยตรง

นักวิเคราะห์ในอินเดีย เช่น สุบีร์ เภามิค (Subir Bhaumik) ให้ความเห็นว่าท่าที “แสนประหลาด” ของอินเดียชี้ให้เห็นว่าอินเดียยังต้องการรักษาความสัมพันธ์กับตั๊ดม่ะด่อ (กองทัพพม่า) เพราะยังต้องการให้กองทัพพม่าจัดการกับกลุ่มกบฏที่มีฐานที่มั่นอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และมีปฏิบัติการข้ามเข้าไปในเขตชายแดนพม่า-อินเดีย และประการต่อมาคืออินเดียไม่ต้องการให้พม่าเข้าหาแต่จีน เพราะทราบดีว่าจีนจะยังทำธุรกิจกับทุกฝ่ายที่เข้าไปบริหารพม่า ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกองทัพหรือรัฐบาลฝ่ายพลเรือน ท่าทีของอินเดียต่อการเข้าไปแทรกแซงในพม่าไม่ค่อยดีนักเพราะอินเดียรู้ดีว่าจีนสนับสนุนและจัดหาอาวุธให้กองทัพพม่าแบบเปิดเผย รวมทั้งจัดหาอาวุธให้กองกำลังอื่นๆ อย่างกองทัพอาระกันด้วย และยังมีโครงการเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างที่เจ้าก์ผิ่ว (Kyaukpyu SEZ) ที่ผ่านมา อินเดียมีปัญหากับกองทัพอาระกันหลายต่อหลายครั้ง เพราะกองทัพอาระกันพยายามขัดขวางโครงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบกะลาดาน (Kaladan Multi-Modal Transit Transport Project) มูลค่า 484 ล้านเหรียญ ที่จะเชื่องเมืองท่าทางตะวันออกของอินเดีย ได้แก่ เมืองกอลกัตตา กับเมืองท่าในพม่า ที่เมืองซิตต่วย ในรัฐยะไข่ และจะเชื่อมท่าเรือซิตต่วยกับเมืองปาเลตวา (Paletwa) ในรัฐฉิ่น โดยผ่านแม่น้ำกะลาดาน และเชื่อมปาเลตวากับรัฐมิโซรัม (Mizoram) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

กองทัพอาระกันมีความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่กับรัฐบาลอินเดีย และโจมตีโครงการกะลาดานของรัฐบาลอินเดียมาตลอด เพราะไม่พอใจท่าทีของกองทัพอินเดียที่เคยมีปฏิบัติการโจมตีกองกำลังของอาระกันมาตั้งแต่ปี 1993 อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์หันมาสนับสนุนฝ่ายผู้ชุมนุมประท้วงที่ต้องการล้มล้างการปกครองของรัฐบาลทหารพม่า อินเดียควรเริ่มจะขยับและมีแถลงการณ์ที่เกี่ยวกับวิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในพม่าให้ชัดเจนขึ้น เพราะการที่อินเดียอยู่นิ่ง ลอยตัวเหนือปัญหา อาจทำให้อินเดียปัญหาใหญ่ที่อาจจะตามมาในอนาคต สุดา รามาจันทรัน (Sudha Ramachandran) เขียนวิเคราะห์เกี่ยวกับ “นโยบายของอินเดียที่แสนอันตรายต่อเมียนมา” ในเว็บไซต์ The Diplomat ว่าความนิ่งเฉยของอินเดียอาจทำให้ประชาชนพม่าโกรธแค้นอินเดีย เช่นเดียวกับที่ชิงชังจีนและเกิดการเผาโรงงานของจีนในย่างกุ้งมาแล้ว และอาจทำให้สถานการณ์ตามแนวชายแดนพม่า-อินเดียตึงเครียดขึ้นด้วยความโกรธแค้นของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าอย่างกองทัพอาระกันที่เกลียดชังรัฐบาลอินเดียเป็นทุนเดิม จนถึงขณะนี้ รัฐบาลอินเดียส่งสัญญาณแล้วว่าไม่ต้องการให้ชาวพม่าหนีเข้าไปลี้ภัยในอินเดีย ตอบรับกับข้อเรียกร้องของรัฐบาลทหารพม่าที่ร้องขอไปทางรัฐบาลอินเดียไม่ให้รับคนพม่าที่หนีเข้าไปในอินเดีย นอกจากนี้ อินเดียยังตรึงกำลังตามแนวชายแดนอินเดีย-พม่าแน่น และยังสั่งให้กองทหารปืนไรเฟิลส์อัสสัม (Assam Rifles) ตรวจตราชายแดนละเอียดเป็นพิเศษ ในเขตที่อยู่ติดกับพม่า ได้แก่ อรุณาจัลประเทศ นากาแลนด์ มณีปุระ และมิโซรัม

Advertisement

ระหว่างปี 1988-1993 เมื่อมีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ในพม่า ท่าทีของอินเดียก็ไม่ต่างจากปัจจุบัน นอกจากจะไม่รับผู้ลี้ภัยพม่าที่หนีเข้าไปในอินเดียแล้ว อินเดียยังพยายามเข้าหานายพลในกองทัพพม่ามากขึ้น เพราะต้องการความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านให้จริงจังกับการปราบปรามกองกำลังของชนกลุ่มน้อยมากขึ้นดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ถึงกระนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับอินเดีย อาจไม่ใช่การรับมือกับกองกำลังที่มีทหารไม่ถึง 10,000 นาย แต่ด้วยพม่าตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างจีนกับอินเดีย และเป็นเหมือนกับเขตกันชนระหว่างชาติขนาดใหญ่ที่สุดในโลกมาช้านาน อินเดียจึงจำเป็นต้องเข้ามานายพลพม่ามากขึ้น เพื่อให้ช่วยคานอำนาจกับจีน อินเดียจึงไม่สามารถสนับสนุนกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในพม่าได้อย่างเต็มที่ เมื่อออง ซาน ซูจี เดินทางไปเยือน นายกรัฐมนตรีอินเดียก็ต้อนรับอย่างอารีอารอบตามมาตรฐานทางการทูต แต่ก็ไม่ได้มีข้อตกลงที่หวือหวาที่จะเปลี่ยนจุดยืนของอินเดียที่มีต่อพม่าได้ เพราะอย่างไรเสีย พม่าคือกันชนธรรมชาติที่ป้องกันจีนได้บางส่วน

แม้ว่าอินเดียจะมีผลประโยชน์ในพม่าอยู่มากมาย ทั้งในด้านความมั่นคงและด้านยุทธศาสตร์ แต่ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ อินเดียไม่สามารถงัดนโยบาย “มองตะวันออก” (Look East Policy) ได้อย่างเต็มที่ เพราะยังต้องการความช่วยเหลือจากกองทัพพม่า แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการทำให้ประชาชนพม่ารังเกียจอินเดียมากจนเกินไป ทางที่ดีที่สุดสำหรับอินเดียคือการนิ่งเฉย และดำเนินการทูตแบบไม่เปิดเผยต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image