เปิดรายงาน กสม. สถานการณ์ม็อบปี’63

หมายเหตุ – คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดทำรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2563 โดยมีการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสถานการณ์เฉพาะ การชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน

การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติกาคณะกรรมการประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ที่ประเทศไทยเป็นภาคี การใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบมีความเกี่ยวโยงกับสิทธิและเสรีภาพอื่น รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออกด้วย การใช้เสรีภาพทั้งสองประการนี้อาจถูกจํากัดได้ในสภาวการณ์ปกติเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น โดยต้องบัญญัติข้อจํากัดนั้นไว้ในกฎหมายรัฐภาคีมีพันธกรณีต้องเคารพและประกันการใช้เสรีภาพดังกล่าวของประชาชน อย่างไรก็ดี ในภาวะฉุกเฉินสาธารณะที่เป็นภัยคุกคามของชาติ รัฐภาคีกติกาฯ อาจใช้มาตรการจํากัดสิทธิและเสรีภาพบางประการได้เพิ่มเติม แต่มาตรการดังกล่าวต้องทําเท่าที่จําเป็นตามความฉุกเฉินของสถานการณ์ ทั้งนี้ คณะกรรมการ ICCPR มีความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า การใช้มาตรการดังกล่าวมีลักษณะเป็นมาตรการพิเศษที่กําหนดขึ้นเพื่อใช้บังคับเป็นการชั่วคราว โดยรัฐต้องแสดงเหตุผลความจําเป็นและความชอบธรรมในการใช้มาตรการดังกล่าวซึ่งต้องได้สัดส่วนกับความรุนแรงของสถานการณ์ทั้งในแง่ของระยะเวลา พื้นที่ และลักษณะของการจํากัดสิทธิที่ใช้บังคับ

ในปี 2563 ประชาชนสามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบได้ดังเห็นได้จากการที่มีการชุมนุมทางการเมืองต่อเนื่องเกือบตลอดทั้งปี ยกเว้นในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 ที่ไม่มีการชุมนุมเนื่องจากเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศเป็นวงกว้าง รัฐบาลจึงได้อาศัยอํานาจตามพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศที่มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และได้ออกข้อกําหนดหลายฉบับที่ระบุมาตรการที่มีลักษณะเป็นการจํากัดการเดินทางเคลื่อนย้ายและการรวมกลุ่มของประชาชนลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการห้ามชุมนุมหรือการทํากิจกรรม ณ ที่ใดๆ ในช่วงเวลาดังกล่าวการจัดการชุมนุมจึงไม่อาจจัดขึ้นได้ แต่หลังจากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้จนมีผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศลดลงและไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคเป็นระยะๆ รวมถึงได้ยกเลิกข้อห้ามการชุมนุมซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 ตามข้อกําหนดฉบับที่ 13 แต่ผู้ที่รับผิดชอบจัดกิจกรรมยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกําหนด

การที่รัฐบาลนํากฎหมายพิเศษมาบังคับใช้ที่มีผลเป็นการจํากัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบนั้นเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านสุขอนามัยของประชาชน และด้านการสาธารณสุข เพื่อการควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาด ทั้งนี้ มาตรการที่รัฐบาลนํามาใช้ส่งผลให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศดีขึ้น รัฐบาลจึงได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายการจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม ทําให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด เห็นได้ว่ารัฐบาลได้ใช้ข้อห้ามการชุมนุมเป็นมาตรการชั่วคราวเพื่อควบคุมโรค โดยเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง จึงได้ยกเลิกข้อห้ามดังกล่าว

Advertisement

ส่วนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เนื่องจากมีเหตุการณ์ร้ายแรงบางประการเช่นกัน เมื่อสถานการณ์คลี่คลายรัฐบาลได้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า มาตรการจํากัดเสรีภาพที่รัฐนํามาใช้มีการคํานึงถึงความจําเป็นและความได้สัดส่วนตามหลักการที่กําหนดในกติกา ICCPR ด้านการดูแลการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชน ในภาพรวมรัฐไม่ได้แทรกแซงการใช้เสรีภาพดังกล่าวตามกฎหมาย แม้ในบางกรณีผู้จัดการชุมนุมไม่ได้แจ้งการชุมนุมตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ก็มีรายงานว่าการชุมนุมยังคงดําเนินต่อไปได้ แต่เจ้าหน้าที่รัฐอาจดําเนินการทางกฎหมายกับแกนนําที่ไม่แจ้งการชุมนุม อย่างไรก็ดี การฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวมีโทษเพียงโทษปรับเท่านั้น การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐจึงเป็นไปในแนวทางเดียวกับความเห็นทั่วไปของคณะกรรมการประจํากติกา ICCPR ลําดับที่ 37 เรื่องสิทธิในการชุมนุมโดยสงบว่า การไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่เมื่อจําต้องมีการแจ้งการชุมนุมนั้น ไม่ทําให้การเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าวผิดกฎหมาย และต้องไม่ถูกนําไปใช้เป็นเหตุในการสลายการชุมนุมหรือจับกุมผู้เข้าร่วมการชุมนุมหรือผู้จัดการชุมนุม

ทั้งนี้ การไม่แจ้งการชุมนุมนั้นไม่สามารถลบล้างหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในการอํานวยความสะดวกในการจัดการชุมนุมและปกป้องผู้เข้าร่วมการชุมนุม ในการดูแลความเรียบร้อยของการชุมนุม ความเห็นทั่วไปของคณะกรรมการประจํากติกา ICCPR ลําดับที่ 37 ยังได้ระบุว่า เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายมีหน้าที่ในการเคารพสิทธิของประชาชนและประกันว่าประชาชนจะได้ใช้สิทธิดังกล่าว แนวทางหลักในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จึงเป็นการอํานวยความสะดวกในการจัดการชุมนุมโดยสงบตามกฎหมาย ดูแลความปลอดภัยของบุคคลและป้องกันความเสียหายต่อทรัพย์สิน เจ้าหน้าที่ควรพยายามลดความตึงเครียดของสถานการณ์การชุมนุมที่อาจนําไปสู่การใช้ความรุนแรง และควรใช้วิธีการที่ไม่รุนแรงก่อน หากมีความจําเป็นต้องใช้กําลัง ต้องมีการเตือนให้ผู้ชุมนุมได้ทราบก่อน เว้นเสียแต่ว่าการทําเช่นนั้นจะทําให้การดําเนินการไม่เป็นผล การใช้กําลังต้องอยู่บนหลักการของหลักกฎหมาย ความจําเป็น ความได้สัดส่วน การป้องกันและการไม่เลือกปฏิบัติ และผู้ใช้กําลังจะต้องรับผิดชอบต่อการใช้กําลังทุกครั้ง โดยการใช้กําลังนั้นต้องเป็นการใช้กําลังขั้นต่ำ เท่าที่จําเป็น โดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่อาจใช้กําลังเกินเหตุเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น การสลายการชุมนุม หรือเพื่อจับกุมหรือสนับสนุนการจับกุมตัวผู้กระทําความผิดหรือผู้ต้องสงสัยโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น

การชุมนุมที่เกิดขึ้นในครึ่งหลังของปี 2563 ส่วนใหญ่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงแม้จะมีการกระทบกระทั่งกันอยู่บ้างระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลความสงบเรียบร้อยในบางกรณี ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐต่างพยายามใช้ความอดทนอดกลั้นเพื่อไม่ให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่มีการชุมนุมสองกรณีที่รัฐใช้มาตรการยุติการชุมนุมโดยการฉีดน้ำแรงดันสูงซึ่งมีการผสมสารเคมีและแก๊สน้ำตาในน้ำที่ฉีดเข้าใส่
ผู้ชุมนุม คือการชุมนุมที่บริเวณแยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 และการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ตามลำดับ ในกรณีแรกที่เป็นการยุติการชุมนุมที่แยกปทุมวันนั้น กสม.เห็นว่ายังไม่ปรากฏลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าการชุมนุมมีการใช้ความรุนแรงหรือเหตุผลอันสมควรที่จําเป็นต้องเข้าสลายการชุมนุม จึงได้หยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นตรวจสอบโดยอยู่ระหว่างการดําเนินการ ทั้งนี้ คณะกรรมการประจํากติกา ICCPR ได้มีความเห็นทั่วไป เรื่องสิทธิในการชุมนุมโดยสงบในกรณีมีการกระทําความรุนแรงเฉพาะตัวของผู้ชุมนุมบางคนไม่ควรถูกนําไปเหมารวมเป็นการกระทําของการชุมนุมโดยรวมที่จะก่อความรุนแรง

Advertisement

การสลายการชุมนุมจะต้องเป็นกรณีพิเศษอันเป็นข้อยกเว้นในการชุมนุมที่มิได้เป็นไปโดยสงบหรืออาจมีภัยจากการใช้ความรุนแรงอย่างร้ายแรงที่ชัดแจ้งเท่านั้นการใช้กําลังขั้นต่ำ เพียงเท่าที่จําเป็น ก่อนใช้อาวุธที่มีระดับอันตรายต่ำ ที่มีผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง เช่น หัวฉีดน้ำหรือแก๊สน้ำตาต้องนํามาใช้เป็นมาตรการสุดท้ายหลังจากที่มีการแจ้งเตือนด้วยวาจาหรือให้โอกาสเหมาะสมแก่ผู้ร่วมชุมนุมในการสลายการชุมนุมเสียก่อน เป็นต้น ในส่วนของการกระทําผิดระหว่างการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตํารวจมีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ชุมนุมและออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งหลังจากสอบปากคําผู้ชุมนุมจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างดําเนินคดี

ปัญหาหรืออุปสรรคในการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ กสม.มีข้อห่วงกังวลบางประการ ดังนี้ 1.การจํากัดการแสดงความคิดเห็น และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ที่ปรากฏสถานการณ์การชุมนุมสาธารณะ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมากกว่าสภาวะปกติ ตลอดจนดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการ
กระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 20 ในกรณีที่มีการทําาให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งในระหว่างเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2563 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้บูรณาการการทํางานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และดําเนินการรวบรวมพยานหลักฐานและยื่นคําขอให้ศาลมีคําสั่งระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ เป็นจํานวน 50 คําสั่งศาล 1,145 URLs ทั้งนี้ การกระทําดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ

2.สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว จากสถานการณ์ชุมนุมที่เกิดขึ้น ข้อมูลจากการรายงานเหตุการณ์ตามที่ปรากฏเผยแพร่ต่อสาธารณะ และการลงพื้นที่สังเกตการณ์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ของสํานักงาน กสม. พบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งในและนอกเครื่องแบบมีการใช้อุปกรณ์บันทึกภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวในพื้นที่ชุมนุม ซึ่งต่อมาในภายหลังปรากฏว่าได้มีการนําภาพของแกนนํา ผู้ชุมนุม ภาพเหตุการณ์ระหว่างการชุมนุมที่บันทึกไว้ดังกล่าวไปใช้ในการดําเนินคดี รวมถึงการดําเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม เป็นต้น

3.การใช้คําพูดที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความแตกต่างทางความคิดเห็น การใช้วาจาสร้างความเกลียดชังต่อฝ่ายที่มีความเห็นตรงข้ามปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงภาพวาดการ์ตูนล้อเลียน ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ ทั้งนี้ การสื่อสารแสดงความเกลียดชังต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่าง ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง อาจนําไปสู่การใช้ความรุนแรง และอาจลุกลามบานปลายได้ โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์มีผู้นําเนื้อหาที่มีระดับความรุนแรงและลักษณะการสื่อสารความเกลียดชังไปเผยแพร่ในวงกว้าง และหากปล่อยให้มีการสร้างและเผยแพร่ความเกลียดชังอย่างไร้การกํากับดูแล อาจทําาลายวัฒนธรรมแห่งการเคารพซึ่งกันและกัน คุกคามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นําไปสู่การทําลายบรรยากาศแห่งการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของบุคคล

4.การชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ผ่านมาหลายครั้งผู้ชุมนุมนัดรวมตัวที่สถานีรถไฟฟ้าส่งผลให้มีการปิดสถานีรถไฟฟ้าชั่วคราวเพื่อความปลอดภัยของประชาชนทุกคน และพบว่ามีการทําลายทรัพย์สินเสียหาย

จากสถานการณ์การชุมนุมในปี 2563 กสม.มีข้อเสนอแนะต่อกรณีการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ดังนี้ 1.รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรอํานวยความสะดวกให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามสมควร รวมทั้งให้การคุ้มครองแก่ผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ด้านการสาธารณสุข การทําหน้าที่สื่อ และประชาชนทั่วไป เพื่อประกันการใช้เสรีภาพขั้นพื้นฐานตามที่รัฐธรรมนูญ 2.รัฐบาลและสํานักงานตํารวจแห่งชาติต้องกําชับเจ้าหน้าที่ของรัฐพึงใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งในการรักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และควรหลีกเลี่ยงการใช้กําลังต่อการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ 3.คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง อาจนําหลักการบริหารจัดการการชุมนุมอย่างเหมาะสม 10 ประการ ซึ่งจัดทําโดยผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการรวมกลุ่มอย่างสันติ มาเป็นแนวทางให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลตามความเหมาะสมแก่กรณี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบังคับใช้กฎหมายเฉพาะว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะเป็นหลักแทนการใช้กฎหมายอื่นๆ 4.กรณีการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตํารวจในการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลนั้น ควรเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และดูแลให้ผู้ถูกจับกุมเข้าถึงสิทธิต่างๆ ที่ต้องได้รับอย่างครบถ้วน 5.รัฐบาลและรัฐสภาควรหาช่องทางหรือมีเวทีในการปรึกษาหารือพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างจริงจังเพื่อนําไปสู่การยุติความขัดแย้งโดยเร็ว

6.รัฐบาลควรพิจารณาแนวทางและหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในปี 2563 และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทําการศึกษา วิเคราะห์ กฎหมาย ระเบียบ หรือมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุม ให้เป็นมาตรฐานกลางในการพิจารณาช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image