สงครามกลางเมืองอยู่ใกล้แค่เอื้อม

ดร. ซาซา

หลังเกิดรัฐประหารในพม่ามาได้ 75 วัน มีประชาชนที่ออกมาเดินขบวนประท้วงอย่างสงบถูกปราบปรามและเสียชีวิตไปแล้วเกือบ 800 ราย จากข้อมูลของ Facebook ของ The Insights ซึ่งเก็บสถิติจากการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารในพม่าอย่างละเอียด ผู้เสียชีวิตมีอายุตั้งแต่ 5-78 ปี และในมีคนอายุระหว่าง 16-25 ปีที่เสียชีวิตมากที่สุด ในขณะที่ย่างกุ้งเป็นภูมิภาคที่มีผู้เสียชีวิตสะสมมากที่สุด ที่เมืองบะโก (พะโค
หรือหงสาวดี) ในวันที่ 9 เมษายนเพียงวันเดียว กองทัพพม่าเปิดฉากยิงผู้ชุมนุมประท้วง หรือ “อะไรก็ตามที่เคลื่อนไหวได้” จนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 80 ราย ประชาชนจากในเมืองต้องอพยพหนีตายเข้าไปในป่าหรือไปอาศัยบ้านญาติที่เมืองอื่นๆ อยู่ก่อนชั่วคราว พม่าในปัจจุบันเข้าสู่ยุค “มิคสัญญี” อย่างเป็นทางการ นอกจากตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นมาก ยังมีผู้ที่ถูกควบคุมตัวอีกกว่า 3,000 คน มีตั้งแต่นักการเมือง แอคทิวิสต์ นักข่าว ดารานักแสดง และผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลอีกหลากหลายสายอาชีพ ภาวะไร้ขื่อไร้แปที่สังคมพม่ากำลังประสบยังมาจากการที่กองกำลังฝ่ายคณะรัฐประหาร อันประกอบด้วยกองทัพและตำรวจใช้กำลังปราบปรามประชาชนแบบไม่เลือกหน้า ตั้งแต่การยิงใส่ประชาชนแบบดื้อๆ การซ้อมทรมาน และการสังหารประชาชนอย่างเหี้ยมโหดในอีกหลายกรณี

เราอาจอธิบายความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่พม่าได้ว่ากองทัพมองว่าประชาชนที่ออกมาประท้วงเป็นศัตรูของ “รัฐ” หรือ “องค์รัฏฐาธิปัตย์” อย่างกองทัพไปแล้ว และด้วยแนวทางของ “ตั๊ดม่ะด่อ” หรือกองทัพพม่าที่ยึดมั่นในเรื่องความสงบและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติ ประชาชนที่ขัดเคอร์ฟิวและออกมาท้าทายอำนาจของกองทัพจึงกลายเป็นศัตรูของรัฐไปโดยปริยาย การเข่นฆ่าประชาชนแบบไร้สติในครานี้ผลักให้คนหนุ่มสาวที่ชีวิตการเรียนกำลังไปได้สวยภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตย และมองเห็นชีวิตการงานของตัวเองไปได้สวยในยุคที่พม่ากำลังเติบโต แม้พัฒนาการด้านประชาธิปไตยในพม่าจะไม่ได้รวดเร็วเหมือนในหลายประเทศ และยังมีอุปสรรคที่ขัดขวางการปฏิรูปทางการเมืองอีกหลายอย่าง แต่อย่างน้อยพวกเขาก็มองว่าชีวิตภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่เดินไปแบบช้าๆ ยังไงก็ดีกว่าการต้องทนอยู่ในสังคมแบบเผด็จการทหารแบบที่คนรุ่นพ่อ-แม่และปู่ย่าตายายของเขาต้องประสบมาหลายสิบปี

“พม่าจะกลับไปเป็นเผด็จการทหารไม่ได้อีกแล้ว” เป็นประโยคที่เรามักได้ยินเยาวชนพูดถึง พวกเขายอมสู้จนตัวตาย จนกล่าวพม่าจะได้ประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ดีกว่าปล่อยให้เผด็จการขโมยอนาคตของพวกเขาไป และกัดกินสังคมและทรัพยากรของพม่าจนประชาชนยากจนข้นแค้น จนพม่ายากจนเป็นอันดับต้นๆ ของโลกมาแล้ว ด้วยใจของเยาวชนพม่าที่เป็นนักสู้และความฝันที่จะเห็นสังคมของตนดีกว่าที่เป็นอยู่ คนหนุ่มสาวที่ยังอยู่ในวัยเรียนหลายคนจึงหลบหนีการปราบปรามของกองทัพ มุ่งหน้าสู่ป่า และตัดสินใจจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับกองกำลังของรัฐบาล พื้นที่บริเวณชายแดนไทย-พม่าจะกลายเป็นพื้นที่สู้รบระหว่างกองกำลังฝั่งคณะรัฐประหาร ที่มีกำลังพลไม่ต่ำกว่า 5 แสนนาย กับกลุ่มกองโจรภายใต้การนำของนักศึกษาและปัญญาชนที่หนีเข้าป่า ที่ได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ เสบียง และการฝึกฝนเชิงจรยุทธ์จากกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่กระจายตัวตามชายแดนไทย-พม่า

สงครามกลางเมืองในพม่ากำลังจะปะทุขึ้นอีกครั้ง ภายใต้รัฐบาลเอ็นแอลดีของด่อ ออง ซาน ซูจี แม้การเจรจาสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์จะไม่ได้ประสบความสำเร็จทั้งหมด และเอ็นแอลดีก็ถูกกลุ่มชาติพันธุ์วิพากษ์วิจารณ์พอสมควร แต่อย่างน้อยสงครามกลางเมืองในพม่า ซึ่งเป็นสงครามกลางเมืองที่มีมากว่า 70 ปีแล้ว จนกลายเป็นสงครามกลางเมืองที่กินเวลายาวนานที่สุดในโลก ก็ยังมีทีท่าจะลดความตึงเครียดลงไปบ้าง และยังมีคนนำประเด็นเรื่องการสร้างพม่าให้เป็นรัฐประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ (federal democracy) มาพูดอยู่เนืองๆ แต่ภายหลังการรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ การสร้างสหพันธรัฐพม่าก็มลายหายสิ้นลงไปด้วย สำหรับฝ่ายที่ต่อต้านรัฐประหาร วิธีการเดียวที่จะล้มล้างรัฐประหารในครั้งได้คือการหันไปขอการสนับสนุนจากกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับกองทัพพม่ามายาวนาน การเจรจาครั้งนี้เป็นการเจรจาแบบวิน-วินสำหรับทั้งสองฝ่าย เพราะหากฝ่ายประชาชนพม่า (หมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์บะหม่า ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ) ที่ร่วมมือกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์พร้อมใจกันล้มล้างรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารครั้งนี้ได้สำเร็จ รัฐบาลพลเรือนก็จะร่วมขับเคลื่อนวาระที่กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าเฝ้ารอคอยมานานแสนนาน นั่นคือการได้สิทธิปกครองตนเองในฐานะส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐพม่า แต่หากกองกำลังฝ่ายประชาชนแพ้ ทั้งคนหนุ่มสาวและกลุ่มชาติพันธุ์ก็จะถูกไล่ล่าและต้องหลบหนีเหมือนกับที่เคยเป็นมาตลอดหลายสิบปี

Advertisement

จนถึงปัจจุบัน กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่เดินหน้าเข้าข้างประชาชนอย่างชัดเจน แม้แต่กองทัพอาระกัน (Arakan Army หรือ AA) ที่ร่วมกับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) และกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (MNDAA) ในฐานะพันธมิตรภราดรภาพทั้งสาม (The Three Brotherhood Alliance) ที่เคยมีท่าทีสนับสนุนกองทัพพม่ามาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ก็ประกาศเข้าร่วมกับขบวนการประชาชน นอกจากสงครามกลางเมืองที่หลีกเลี่ยงได้ยากแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือปัญหามากมายที่จะปะดังปะเดเข้ามาหลังพม่ากลายเป็น “รัฐล้มเหลว” ได้แก่ ปัญหาผู้อพยพที่จะไหลทะลักเข้ามาทางไทยเป็นหลัก (มีส่วนน้อยที่จะไปอินเดียและจีน) และการคว่ำบาตรรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจในประเทศที่แย่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และจะกระทบคนในระดับล่างมากกว่าผู้นำระดับสูงในกองทัพ ในอนาคต ประชาชนฝั่งไทยอาจได้รับผลกระทบจากการปูพรมโจมตีทางอากาศ ที่จะเกิดถี่ขึ้น ในขณะที่กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ก็จะต้องร่วมมือร่วมใจกันเพื่อโจมตีฐานที่มั่นของกองทัพและป้อมตำรวจให้ได้มากที่สุด ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก็จะตกกับประชาชนทั่วไปที่ต้องหลบหนีภัยสงครามออกจากพื้นที่ของตนเอง

นอกจากกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ยังต้องกล่าวด้วยว่าพม่าก็มีกลุ่มบุคคลที่ตั้งรัฐบาลคู่ขนานขึ้นมาต่อต้านกองทัพ รัฐบาลชุดนี้ หรือที่เรียกว่า CRPH (Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw) เป็นประหนึ่งรัฐบาลพลัดถิ่นภายใต้การนำของ ดร.ซาซา (Dr.Sasa) นักการเมืองฉิ่นจากพรรคเอ็นแอลดี แต่เนื่องด้วย CRPH ต้องบริหารงานจากภายนอกประเทศ ด้วยทรัพยากรที่จำกัด ไม่มีผู้ใดรู้ว่าในระยะยาว CRPH จะมีบทบาทในการร่วมต่อต้านรัฐประหารมากเพียงใด แต่สิ่งที่แน่นอนกว่าคือคนหนุ่มสาวและประชาชนที่รักประชาธิปไตยบางส่วนได้ทยอยเข้าป่าและจับอาวุธขึ้นมาสู้กับกองทัพพม่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ในพม่าคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

ลลิตา หาญวงษ์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image