อนาคตไทย : รัฐไทยหรือจะเอาอยู่?

หากโควิด-19 จะให้บทเรียนสำคัญอะไรกับประเทศไทย บทเรียนนั้นก็คือรัฐไทยต้องเตรียมพร้อมอีกมากที่จะรับมือกับอนาคตที่รัฐบาลหวังว่าจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจะเต็มไปด้วยความพลิกผัน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความซับซ้อน (Complex) และความคลุมเครือ (Ambiguity) หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า VUCA อันเป็นปรากฏการณ์ท้าทายฝีมือบริหารของรัฐไทยที่ชัดเจนมากเมื่อเกิดโควิด-19

ที่ว่าพลิกผันก็คือ โควิด-19 เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยคิดฝันมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น และในอนาคตจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ และเป็นเชื้อโรคประเภทอะไร ส่วนความไม่แน่นอนก็คือเราไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดระบาดอีกกี่รอบและ โควิด-19 จะกลายพันธุ์อีกกี่ครั้ง ส่วนความซับซ้อนนั้นเห็นได้ชัดจากการที่เราสามารถจัดการกับปัญหาสุขภาพได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ในด้านเศรษฐกิจและสังคมเรายังไม่สามารถจัดการได้ดีเท่าที่ควร

โควิด-19 ทำให้สถานการณ์ที่คลุมเครืออยู่เช่นความเหลื่อมล้ำถูกตอกย้ำให้เห็นเด่นชัดยิ่งขึ้น เช่น นโยบายออนไลน์ทั้งหลายซึ่งไม่ได้ผลกับการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับเด็กเล็กและประถมศึกษา และการเยียวยากลุ่มผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงวัยแบบออนไลน์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้รัฐบาลไทยจะพยายามมากสักเพียงไหน และเจตนาดีสักเพียงไร แต่สถานการณ์ตอนนี้โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจก็ถือว่าอยู่ในสภาพที่ “เอาอยู่” ยากอย่างยิ่ง

เมื่อมองไปในอนาคต ความท้าทายที่กล่าวมาแล้วก็จะรุนแรงยิ่งขึ้น โลกของวันข้างหน้าเป็นโลกที่เส้นแบ่งพรมแดนต่างๆ คลุมเครือและเบาบางลงเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น มนุษย์ก็จะอยู่ในโลก 2 โลก คือโลกจริงและโลกเสมือนที่เป็นโลกดิจิทัล สามารถสวมบทบาทเป็นคนหลายๆ คน เป็นคนดีในโลกแห่งความเป็นจริงและเป็นคนร้ายที่ประกอบอาชญากรรมในโลกเสมือนไปพร้อมๆ กัน ถึงแม้ว่าการค้าส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะอยู่ในโลกของความเป็นจริงก็จริง แต่นับวันการค้าในโลกเสมือน เช่น อี-คอมเมิร์ซก็สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ความเป็นส่วนตัวและความเป็นสาธารณะก็เจือจางลงในโลกโซเชียล บ้านส่วนตัวสามารถนำมาใช้แทนโรงแรมและรถยนต์ส่วนตัวก็สามารถนำมาใช้เป็นรถสาธารณะได้ผ่านแอพพลิเคชัน Airbnb และ Grab ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานี้ รัฐไทยยังไม่สามารถมีระเบียบและกฎหมายที่จะมาจัดการได้ นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังมี VUCA อีกมากซึ่งจะเกิดจากผลพวงของเทคโนโลยีพลิกผันและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเศรษฐกิจและสังคมที่ถูกผลักดันโดยเทคโนโลยีเหล่านี้

Advertisement

ลองเอาภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวมาเป็นตัวอย่าง แล้วลองคิดว่ารัฐจะแก้ไขความท้าทายนี้ในอนาคตอย่างไร ในเรื่องความไม่แน่นอน ไม่มีใครบอกได้ว่าประเทศไทยควรจะพึ่งพาการท่องเที่ยวมากน้อยเพียงใด ให้น้อยกว่านี้หรือไม่ นอกจากนี้ ภาคท่องเที่ยวยังมีความเสี่ยงอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศซึ่งจะทำให้จำนวนวันที่หนาวเย็นในภาคเหนือซึ่งเป็นจุดขายที่สำคัญลดลง ทำให้เกิดลมมรสุมอย่างรุนแรงซึ่งมีผลกระทบกับการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในภาคใต้ซึ่งก็ถือเป็นจุดขายที่สำคัญอีกจุดขายหนึ่งเช่นกัน

ในเรื่องของความซับซ้อน การท่องเที่ยวไม่ใช่เรื่องของการตัดสินใจของปัจเจกและธุรกิจอีกต่อไป หากเกิดปัญหาโรคระบาดรัฐอาจจะเข้ามาแทรกแซงความสัมพันธ์ในครอบครัว ในที่ทำงาน ในที่สาธารณะดังเช่นปัจจุบัน นอกจากนี้ บทเรียนจากโควิด-19 ยังทำให้บางประเทศโดยเฉพาะประเทศจีนเข้าใจถึงอำนาจต่อรองของตน โดยใช้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเป็นเครื่องมือต่อรองกับไทยเพื่อผลประโยชน์อื่นๆ ได้

ส่วนความคลุมเครือนั้นก็เช่นกัน ยังไม่แน่ชัดว่านักท่องเที่ยวในอนาคตจะยอมรับเทคโนโลยี เวอร์ชวลเรียลิตี้ (Virtual Reality) ที่จำลองสภาพความเป็นจริงผ่านการมองเห็น การได้ยินเสียง และการสัมผัส ทำให้ผู้ใช้ตัดขาดจากสภาพปัจจุบันเข้าสู่สภาพจำลองแค่ไหน เทคโนโลยีในกลุ่มนี้อาจจะมาเสริมให้ผู้ต้องการจะท่องเที่ยวมีความยินดีอยากไปเที่ยวมากขึ้นหลังจากได้เห็นสภาพจำลองหรืออาจจะเห็นว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องเดินทางไปในสถานที่จริง

Advertisement

ในเรื่องแรงงานก็มีความคลุมเครือว่า แรงงานต่างชาติซึ่งขณะนี้เราใช้เป็นแรงงานหลักในธุรกิจท่องเที่ยวนั้นจะยังอยู่ในประเทศไทยนานเท่าไหร่ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ

ต้นทางด้วยไม่ใช่เศรษฐกิจของไทยแต่ฝ่ายเดียว อีกทั้งยังไม่แน่ใจว่าลูกหลานของแรงงานต่างชาติเหล่านี้

ซึ่งปัจจุบันก็น่าจะมีอยู่ในระดับแสนคนแล้ว รัฐบาลจะให้เป็นคนไทยในอนาคตหรือไม่

จะเห็นได้ว่าในการตอบสนองกับความท้าทายทั้งสี่รูปแบบนี้ รัฐไทยในปัจจุบันซึ่งบริหารจัดการเชิงเดี่ยวแยกส่วนอย่างชัดเจนระหว่าง กอง กรม และกระทรวงต่างๆ ไม่สามารถจัดการอนาคตของการท่องเที่ยวไทยได้ การบริหารซึ่งยังเป็นลักษณะการบริหารแบบจุดและเส้นตรงเช่นการบริหารจัดการจุดท่องเที่ยวและเส้นทางต่างๆ แทนที่จะบริหารทั้งระบบซึ่งเป็นระนาบ เป็นที่ประจักษ์ว่าการบริหารแบบเดิมไม่สามารถตอบรับและแก้ไขปัญหาของความซับซ้อนด้านการเสื่อมโทรมของระบบนิเวศได้

การบริหารอย่างรวมศูนย์ไม่ให้ความยืดหยุ่นกับท้องถิ่น ดังนั้น ท้องถิ่นจึงไม่สามารถสอดรับกับลักษณะของการท่องเที่ยวซึ่งมีความแตกต่างกันตามพื้นที่ เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมของท้องถิ่นต่างกันได้ จึงไม่สามารถตอบรับกับสถานการณ์พลิกผันได้อย่างทันท่วงที

การบริหารแบบมาตรฐานเดียวก็ไม่สอดคล้องกับลักษณะของธุรกิจ ขนาด และรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้น บางประเภทอาจเป็นธุรกิจส่วนตัว บริษัทขนาดเล็ก วิสาหกิจชุมชน หรือบริษัทขนาดใหญ่ เช่น ธุรกิจที่พักอาจจะเป็นโฮมสเตย์ เป็นห้องพักให้เช่าในคอนโดมิเนียม เป็นบ้านในหมู่บ้านจัดสรร เป็นหอพัก เป็นโรงแรม และในอนาคตอาจจะมีที่พักแบบเป็นรถเคลื่อนที่ การปรับเปลี่ยนกฎหมายที่ช้าและอุ้ยอ้ายก็จะทำให้ไม่สามารถที่จะกำกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนได้

นี่เป็นแค่ตัวอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของเศรษฐกิจและสังคมไทย ซึ่งองคาพยพอื่นๆ ก็ย่อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผกผัน ซับซ้อน ไม่แน่นอน และคลุมเครือเช่นกัน

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐไทย (ระบบการเมืองและระบบราชการ) ควรต้องปฏิรูปตัวเองอย่างเร่งด่วน

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image