เพิ่มสิทธิทำฟันประกันสังคม แต่ผู้ประกันตนต้องร่วมจ่าย โดย ทพ.ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล

ตามที่สำนักงานประกันสังคมได้ออกประกาศในวันที่ 12 สิงหาคม 2559 ให้ผู้ประกันมีสิทธิได้รับการบริการ ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูนและผ่าฟันคุดตามที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เกิน 900 บาทต่อปีนั้น ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีกับผู้ประกันตนเพราะเป็นการเพิ่มสิทธิทำฟันจากเดิม 600 บาท แต่อย่างไรก็ดี การเพิ่มวงเงินเป็น 900 บาทนั้นได้พ่วง “อัตราแนบท้ายประกาศ” ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดข้อจำกัดอย่างมากในการไปรับบริการทันตกรรม

อัตราแนบท้ายประกาศนี้กำหนดว่าผู้ประกันตนจะเบิกค่าขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน และผ่าฟันคุดในแต่ละรายการได้ไม่เกินตามที่กำหนด โดยมีอัตราใกล้เคียงกับอัตราค่าบริการทันตกรรมของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และแน่นอนอัตรานี้ต่ำกว่าอัตราค่าบริการทันตกรรมในคลินิกเอกชน ดังนั้น หากผู้ประกันตนไปทำฟันในโรงพยาบาลของรัฐก็จะไม่มีปัญหาสามารถเบิกค่าทำฟันได้ตามที่กำหนดไว้ แต่ถ้าไปทำฟันในคลินิกเอกชนก็จะเบิกได้ไม่ทั้งหมด ต้องมีการ “ร่วมจ่าย” เงินจากกระเป๋าของตนเอง ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ประกันตนไปขูดหินน้ำลายที่คลินิกทันตกรรมเอกชน 500 บาท และอุดฟันกราม 1 ซี่ (ด้านเดียว) 400 บาท รวม 900 บาท ผู้ประกันตนจะเบิกค่าขูดหินน้ำลายตามอัตราแนบท้ายประกาศได้เพียง 400 บาท และเบิกค่าอุดฟันได้เพียง 300 บาท รวมเบิกได้ 700 บาท ซึ่งหมายถึงผู้ประกันตนต้องร่วมจ่ายเงินจากกระเป๋าตนเอง 200 บาททั้งที่ยังมีสิทธิในการทำฟันได้อยู่อีก 200 บาท ซึ่งสิทธินี้หากไปใช้ถอนฟันอีก 1 ซี่ที่มีค่าใช้จ่าย 500 บาท ผู้ประกันตนต้องร่วมจ่ายอีก 300 บาท เป็นต้น

สิทธิทำฟันประกันสังคมแบบเดิมที่ให้สิทธิเบิกค่าทำฟันได้ 600 บาทนั้นไม่มีเงื่อนไขให้ต้องเบิกแต่ละรายการแต่อย่างใด ถ้าผู้ประกันตนไปขูดหินน้ำลาย 500 บาท หรือ 600 บาท ก็เบิกได้ทั้งหมด ต่างจากสิทธิแบบใหม่ที่กำหนดอัตราเพดานให้ขูดหินน้ำลายเบิกได้ไม่เกิน 400 บาทเท่านั้น การให้เพิ่มสิทธิการรักษาทางทันตกรรมเป็น 900 บาทนั้นกลับมีข้อด้อยมากกว่าสิทธิเดิมที่ให้ 600 บาทที่ไม่มีอัตราประกาศแนบท้ายเสียอีก

“อัตราแนบท้ายประกาศ” จึงเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทันตกรรม ข้อเท็จจริงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2556 พบว่าผู้ประกันตนร้อยละ 78.8 ไปใช้บริการทันตกรรมในคลินิกและโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งหมายความว่าผู้ประกันตนจะต้องมีการร่วมจ่ายเงินในระบบใหม่ แต่หากไม่ต้องการร่วมจ่ายก็จะต้องเปลี่ยนไปทำฟันในโรงพยาบาลของรัฐแทน เป็นการเพิ่มจำนวนคิวทำฟันในโรงพยาบาลของรัฐให้ยาวมากขึ้น และผู้ประกันตนจะต้องลาหยุดงานหนึ่งวันเพื่อต่อคิวทำฟัน นับเป็นความไม่สะดวกในการไปใช้บริการ การออกแบบระบบให้มี “อัตราแนบท้ายประกาศ” เช่นนี้จะทำให้ความเหลื่อมล้ำในการทำฟันของประกันสังคมเมื่อเทียบกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสวัสดิการข้าราชการที่มีอยู่แล้วกว้างขึ้นไปอีก

Advertisement

ในระยะสั้นสำนักงานประกันสังคมควรพิจารณายกเลิก “อัตราแนบท้ายประกาศ” ดังกล่าวเพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงบริการทันตกรรมได้โดยไม่ต้องร่วมจ่าย

สําหรับการลดความเหลื่อมล้ำของสิทธิทำฟันประกันสังคมให้เท่าเทียมกับระบบอื่นๆ นั้น ในระยะยาวสำนักงานประกันสังคมจะต้องปฏิรูประบบประกันสังคมที่อยู่บนหลักการของการ “เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข คนที่ป่วยเป็นโรคฟันก็ได้รับการรักษา คนที่ไม่ป่วยก็ไม่ต้องไปใช้บริการ” ซึ่งเป็นหลักการสากลที่ใช้ในการออกแบบระบบประกันสุขภาพในนานาอารยประเทศ โดยดำเนินการสองเรื่องหลักๆ คือ

หนึ่ง การยกเลิกการกำหนดเพดานเงิน 900 บาท โดยให้เปลี่ยนเป็นการได้สิทธิในการรักษาโรคฟันตามการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจริง เพราะการกำหนดเพดานเงินไว้จะทำให้ผู้ประกันตนที่มีโรคฟันหลายๆ อย่าง มีฟันผุหลายซี่ ไม่สามารถอุดฟัน รักษาฟันทั้งหมดได้ จะต้องรอไปใช้สิทธิในปีถัดๆ ไป ทางสำนักงานประกันสังคมจะต้องจัดสรรและบริหารเงินกองทุนสำหรับทันตกรรมให้เหมาะสมโดยใช้การคำนวณจากผู้ประกันตน 10 ล้านกว่าคนที่มีการเจ็บป่วยเป็นโรคฟันที่แตกต่างกัน ซึ่งจะรวมคนที่ไม่เป็นโรคฟันที่ไม่ต้องใช้บริการ และคนที่ยังไม่พร้อมที่จะไปทำฟัน ซึ่งสามารถประมาณขนาดของกองทุนได้ตามหลักวิชาการ ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะต้องกำหนดอัตราค่าทำฟันกลางขึ้น เพื่อให้สถานบริการทั้งภาครัฐและเอกชนใช้ในการเบิกค่ารักษาจากกองทุนประกันสังคม โดยอัตราค่าทำฟันกลางที่กำหนดนี้ควรจะมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันกำหนด หากตั้งราคากลางที่ต่ำเกินไปคลินิกทันตกรรมเอกชนจะไม่เข้าร่วมให้บริการ แต่หากตั้งราคาสูงเกินไปก็จะกระทบกับฐานะการคลังของกองทุนประกันสังคมได้

Advertisement

สอง การยกเลิกระบบที่ให้ผู้ประกันตนต้องสำรองจ่าย ทั้งนี้ ในระบบเดิม ผู้ประกันตนจะต้องสำรองเงินตนเองจ่ายเป็นค่าทำฟันไปล่วงหน้า จากนั้นนำเอกสารใบเสร็จไปเบิกกับสำนักงานประกันสังคมในแต่ละเขตพื้นที่ เมื่อไปทำเรื่องเบิกค่าทำฟันก็จะไม่ได้รับเงินสดคืนทันที แต่จะต้องรอให้ทางสำนักงานประกันสังคมโอนเงินเข้าในบัญชีของธนาคาร ซึ่งจะสร้างความยุ่งยากและเป็นภาระของผู้ประกันตนในการไปติดต่อสำนักงานประกันสังคม ในขณะที่ระบบสวัสดิการข้าราชการและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นประชาชนไม่ต้องสำรองจ่ายแต่อย่างใด การจะยกเลิกการสำรองจ่ายนั้น ประกันสังคมจะต้องทำงานร่วมกับสถานบริการทั้งภาครัฐและเอกชนในการจัดทำฐานข้อมูล วิธีการจ่ายเงินและดำเนินการให้การจ่ายเงินเป็นไปอย่างถูกต้อง รวมถึงการตรวจสอบสถานบริการและสุ่มตรวจสอบคุณภาพบริการของทันตแพทย์ เพื่อป้องกันการใช้บริการที่เกินความจำเป็นหรือการเบิกจ่ายไม่ตรงกับความเป็นจริง

ทั้งนี้ การปฏิรูประบบประกันสุขภาพที่เสนอแนะนี้เป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ระบุชัดเจนถึงการพัฒนาระบบสุขภาพที่จะสร้างความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม โดยลดความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพของภาครัฐ ซึ่งกองทุนประกันสังคมก็เป็นหนึ่งในระบบประกันสุขภาพที่จะต้องพัฒนาให้เท่าเทียมกับกองทุนอื่นๆ โดยเฉพาะสิทธิทางทันตกรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image