ขัดแย้ง แตกแยก ภายใน “ประชาธิปัตย์” ร่าง รัฐธรรมนูญ

เหตุปัจจัยอะไรทำให้ คสช.และรัฐบาลยังมากด้วยความมั่นใจต่อ “ร่าง” รัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ว่าน่าจะผ่านด่าน “ประชามติ” ได้

1 เป็นความมั่นใจในสถานะแห่ง “รัฏฐาธิปัตย์”

ทั้งมิใช่ความเป็นรัฏฐาธิปัตย์อย่างปกติธรรมดาทั่วไป หากแต่เป็นรัฏฐาธิปัตย์อันมากด้วยความมั่นคงและแข็งแกร่ง

เห็นได้จากการเชิญ “ผบ.ทบ.” เข้า “ทำเนียบรัฐบาล”

Advertisement

เห็นได้จากมาตรการ “ป้องปราม” ที่เริ่มด้วยการเรียกตัว นายจตุพร พรหมพันธุ์ เข้าหารือและทำความเข้าใจที่กองทัพภาคที่ 1

พร้อมกับ “จัดตั้ง” ทีมงาน “โฆษก” ชุดใหม่อย่างคึกคัก

ขณะเดียวกัน 1 เป็นความมั่นใจเมื่อทอดมองไปยังภาวะระส่ำระสายและรวนเรอันเกิดขึ้นแล้วภายในพรรคประชาธิปัตย์

Advertisement

สะท้อนให้เห็นว่า “เอกภาพ” ภายใน “นักเลือกตั้ง” ไม่มั่นคง

บทเรียนจากการทำ “ประชามติ” ต่อร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มีความเด่นชัด ที่สามารถตีฝ่ามรสุมอันคลุ้มคลั่งมาได้ปัจจัยสำคัญคือท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์

ความแตกแยก “ภายใน” พรรคประชาธิปัตย์จึงเป็น “ผลดี”

บางคนอาจมองว่าสภาพอันเกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์ระหว่างกลุ่ม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับกลุ่ม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จะเป็นสถานการณ์ “ชั่วคราว”

ไม่ใช่หรอก

ความจริง สภาวะแห่งความแตกแยกในทาง “ความคิด” ภายในพรรคประชาธิปัตย์ดำรงอยู่ตั้งแต่เกิดปรากฏการณ์ “ชัตดาวน์ กทม.” มาแล้ว

เหมือนกับจะมี “ความร่วมมือ” กันอย่างเงียบๆ

เหมือนกับจะดำเนินไปในลักษณะ “แยกกันเดิน” และเมื่อถึงจุดที่แน่นอน 1 ก็พร้อมที่จะ “ร่วมกันเข้าตี” ตามยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่จัดวางเอาไว้

คำถามอยู่ที่ว่า ใครคือคน “คิด” และนำเสนอ “กระสวน” การเคลื่อนไหวแบบนี้

คำถามอยู่ที่ว่า ภายหลังบรรลุผลจากสถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 แล้วภายในพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างไร

คำตอบเห็นได้ชัดว่า ปัญหาอยู่ที่ว่าใครคือ “ผู้นำ” พรรคอย่างแท้จริง

เหมือนกับการนำจะอยู่ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค แต่สถานการณ์อันเกี่ยวกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร สะท้อนว่าการนำมิได้อยู่ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยิ่งเมื่อมีข่าวการเสนอตัวของ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ยิ่งตอกย้ำและยืนยัน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคแต่มิได้เป็น “ผู้นำ”

ความขัดแย้งภายในกระทั่งยกระดับไปสู่ “การแตกแยก” ทั้งในทางความคิดและในทางการเมืองเช่นนี้มีผลอย่างลึกซึ้งต่อลักษณะของการจัดตั้ง

ดำเนินไปในแบบ “แม่น้ำแยกสาย ไผ่แยกกอ”

หากสัมผัสจากท่าทีและความเห็นต่อ “ร่าง” รัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะจับได้ถึงลักษณะที่ดำเนินไปอย่าง “เอกระ”

นั่นก็คือ กระจัดกระจาย ไม่เป็นเอกภาพ

บุคคลอย่าง นายถาวร เสนเนียม ออกมาชโยโห่ร้องอย่างชนิดสุดลิ่มทิ่มประตู บุคคลอย่าง นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ เป็นไปอย่างแบ่งรับ แบ่งสู้

สังคมจึงรับรู้ลักษณะ “แทงกั๊ก” ของพรรคประชาธิปัตย์

สภาพเช่นนี้เองทำให้ “จิตวิญญาณ” แห่งระบอบประชาธิปไตยซึ่งยึดกุมหลักการ “อำนาจเป็นของประชาชน” โยกคลอนไป

สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับคำขวัญ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”

เพราะหากในที่สุด กรรมวิธีการเลือกตั้งก็สลับซับซ้อน ยุ่งยาก ขณะที่ ส.ว.มาจากกระบวนการสรรหา และอำนาจอย่างแท้จริงมิได้มีพื้นฐานมาจากกระบวนการเลือกตั้งของประชาชน หากแต่อยู่ในกำมือขององค์กรอิสระ

“ปฏิรูป” อย่างนี้หรือที่เคยเป่า “นกหวีด” เพรียกหา

วิญญาณประชาธิปไตยแบบนายควง อภัยวงศ์ คงต้องร้องไห้อย่างแน่นอน

ความขัดแย้ง แตกแยก ไม่เป็นเอกภาพภายในพรรคประชาธิปัตย์เป็นผลดีกับ “ร่าง” รัฐธรรมนูญ คสช.แน่นอน

สภาพอันเกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์อาจทำให้พรรคเพื่อไทยฮึกเหิม ลำพองใจ และพร้อมที่จะเยาะเย้ยถากถาง แต่อย่าคลายความระมัดระวังเป็นอันขาดเพราะมีโอกาสเกิดขึ้นภายในพรรคเพื่อไทยเหมือนกัน

หากไม่พ้นชวด ฉลู อย่าเพิ่ง “ชะล่า” ใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image