รัฐที่กลัวกลางคืนกับเมืองที่ไม่เคยหลับใหล

สถานการณ์โควิดรอบล่าสุดที่เรียกกันง่ายๆ ในหมู่ประชาชนว่ารอบสาม/คลัสเตอร์ทองหล่อ ซึ่งเชื่อกันว่าแพร่กระจายไปทั่วประเทศแล้ว และยังมีผู้ติดเชื้อไม่น้อยกว่าพันกว่าคนในแต่ละวัน ทำให้ยังต้องตามติดอีกหลายประเด็นในเรื่องนี้ต่อไป

หนึ่งในประเด็นสำคัญก็คือมาตรการล่าสุดที่ออกมาประเภท “ล็อกดาวน์ที่ไม่ล็อกดาวน์” คือไม่ได้ล็อกดาวน์ แต่จำกัดเวลาและจำกัดกิจกรรมต่างๆ

นับตั้งแต่มีข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ออกมา 20 ฉบับ ตั้งแต่ฉบับที่ 1 เมื่อ 25 มีนาคม 2563 ถึง ฉบับที่ 20 เมื่อ 16 เมษายน 2564 เราได้พบสาระสำคัญอยู่หลายประการในตัวข้อกำหนดดังกล่าว

1.การกำหนดพื้นที่ควบคุมเป็นระดับ หรือสี พร้อมมาตรการที่แตกต่างกัน

Advertisement

2.การปิดสถานที่ การกำหนดเงื่อนไขการใช้สถานที่ (อาทิ ระยะห่าง รวมถึงเวลาเปิด-ปิด) และผ่อนคลายการปิดสถานที่ ที่เข้าข่ายจะเป็นสถานที่แพร่ระบาดของโรค เช่น สนามมวย สนามกีฬา ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ

3.การห้ามทำกิจกรรมบางประการ เช่น ดื่มสุราในร้าน หรือขายสุรา

4.การห้ามออกนอกเคหสถาน เช่น 22.00-04.00 ต่อมาก็เลื่อนเวลา เช่นเป็นถึงตีสามบ้าง หรือเที่ยงคืน

Advertisement

อย่างในกรณีล่าสุดที่เหมือนกับรัฐบาลต้องการจะสื่อสารว่าไม่มีการล็อกดาวน์ หรือไม่มีเคอร์ฟิวนั้น ส่วนหนึ่งก็ชี้ว่ารัฐบาลนั้นให้ความสำคัญกับการประกาศมาตรการการห้ามเดินทาง แต่ก็พยายามหาจุดลงตัวให้ได้เมื่อต้องพิจารณาในมิติเรื่องของความจำเป็นทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะของประชาชนจำนวนไม่น้อย

แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปในการวิเคราะห์ข้อกำหนดทั้ง 20 ฉบับ หรือสิ่งที่ไม่ปรากฏในข้อกำหนดทั้ง 20 ฉบับ ที่เป็นเรื่องที่สำคัญที่ควบคู่กับการประกาศข้อกำหนด และ การแถลงข่าวรายวันของ ศบค. ก็คือท่าทีสำคัญต่อเรื่องสามเรื่อง

1.ท่าทีต่อพฤติกรรมที่นำไปสู่เรื่องของการระบาด ซึ่งมักเป็นการตำหนิการกระทำดังกล่าวในแง่ของวินัยของแต่ละบุคคล ไม่ได้ตำหนิในแง่สถาบัน/องค์กร ว่าเกี่ยวข้องอย่างไร เช่น กองทัพกับการดูแลสนามมวย การตรวจคนเข้าเมือง การจับบ่อน การปล่อยให้มีสถานบันเทิง

2.ท่าทีในการสั่งสอนเชิงศีลธรรม โดยมองว่าเรื่องของการระบาดนั้นเกี่ยวข้องไม่ใช่แค่การไม่มีวินัย แต่หมายถึงการไม่มีจิตสำนึกและอยู่ในชุดวัฒนธรรมที่ไม่ถูกต้อง เช่น การดื่มสุรา โดยเฉพาะการดื่มสุราของคนบางกลุ่มบางพวก

3.ทัศนคติในแง่ลบที่มีต่อ “เวลาและพื้นที่ในตอนกลางคืน” ซึ่งจะได้อธิบายต่อไป

มาดูบางคำพูดเด็ดๆ ที่สะท้อนประเด็นต่างๆ ดังนี้

“ถือเป็นบทเรียนสำคัญอีกอันหนึ่งว่าสถานที่อโคจร เข้าใจกันหรือไม่ ก็ไม่ควรไป และตัวนายกฯก็ไม่เคยไปไหนเลยหลายปีมาแล้ว แม้แต่ที่อโคจรยังแทบไม่ได้ไปเลย 10 กว่าปีไม่เคยได้ออกบ้านไปไหนเลย สมัยหนุ่มไม่เคยไปเลย แหมตอนหนุ่มๆ มันคนละเรื่องมั้ง แต่ไม่เป็นถึงขนาดนี้หรอก” – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา – 10/04/64 – https://www.thaipost.net/main/detail/98988

“พวกที่เต้นในผับบาร์อีก ระวังตัวไว้ก็แล้วกัน ไม่เห็นกลัวอะไรเลย หัวจะชนกันอยู่แล้ว” “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” 15/07/63 – https://www.posttoday.com/politic/news/628382

คำขวัญ วันงดดื่มสุราแห่งชาติ จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พ.ศ.2563 – “สุราพาคิดน้อย ด้อยความปลอดภัย”

พ.ศ.2562 – “รักษาชีวิต อย่าติดสุรา”

พ.ศ.2561 – “ลด ละ เลิกสุรา พาครอบครัวเป็นสุข”

พ.ศ.2560 – “ห่างไกลสุรา ประชาเป็นสุข ปลอดภัย พาชาติไทยเจริญ”

พ.ศ.2559 – “ครอบครัว เยาวชน คนรุ่นใหม่ ห่างไกลสุรา พาชาติเจริญ”

พ.ศ.2558 – “พัฒนาเยาวชนและทรัพยากรมนุษย์ ต้องหยุดเป็นทาสสุรา”

พ.ศ.2557 – “พัฒนาคนสู่อนาคต ละลดเป็นทาสสุรา”

“ดื่มเหล้า ขาดสติ”

“ขาดสติเรื่องความสะอาด ขาดสติเรื่องเงิน ขาดสติเรื่องควบคุมอารมณ์ ขาดสติในทุกเรื่อง” – สสส. – 01/07/20 https://www.youtube.com/watch?v=J3ShdzNi8Uk

“การไปเที่ยวผับเที่ยวบาร์ เที่ยวกลางคืนถือว่าเป็นอบายมุขชนิดหนึ่ง คนที่ประพฤติอย่างนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า กำลังเดินอยู่บนเส้นทางแห่งความหายนะ” กัลยาณมิตร. https://kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=398

“ปวดตับจริงๆ กับคนที่มองเชิงระบบไม่เป็น แซะกันอยู่ได้เรื่อง COVID เป็นกระสืออาละวาดยามดึกจนต้องเคอร์ฟิว เขาหยุดพวกแรดที่พ่อแม่ไม่สั่งสอน ออกมาร่านจนติดเชื้อไปทำร้ายคนอื่นค่ะ เลิกแซะเถอะนะคะ เขาห้ามคนส่วนน้อยที่ดื้อด้านเพื่อปกป้องคนส่วนใหญ่นะคะ อย่าเข้าใจผิดว่าเขาปกป้องคนส่วนน้อย เขาไม่ได้เคอร์ฟิวเพราะเชื้อมันแรงตอนดึก แต่คนชั่วคนแรดมักจะออกมาร่านมาแรดยามดึก บอกว่าห้ามไม่ให้ไปผับ ไปร้าน ไปหาด เขาก็ไปคอนโดใครก็ได้ ก็จริงมันคงหยุดแรดที่พ่อแม่ไม่สั่งสอนทั้งหมดไม่ได้ แต่มันคงลดได้บ้าง เมื่อมันลดได้ มันก็ควรทำไม่ใช่เหรอคะ จะมาคิดว่าหยุดพวกพ่อแม่ไม่สั่งสอนไม่ได้หรอก ก็เลยจะไม่ทำอะไรเลยหรือคะ ไม่ชอบนายกฯ และขอแซะ ขอแขวะ คิดใหม่สิคะว่านี่ไม่ใช่มาตรการที่นายกฯท่านคิดคนเดียว ท่านทำตามข้อตกลงของที่ประชุมที่ประกอบไปด้วยคุณหมอผู้มีความเชี่ยวชาญทางระบาดวิทยานะคะ นายกฯอาจจะประกาศมาตรการที่ไม่ตรงใจเรา แต่ก็ควรคิดได้ว่า เราก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยานะคะ” – ดร.เสรี วงษ์มณฑา – 18/03/63 https://mgronline.com/politics/detail/9630000034499

สิ่งที่ต้องการจะเน้นให้เห็นก็คือทรรศนะของรัฐและระบอบอำนาจรัฐรวมทั้งผู้สนับสนุนรัฐ ที่มีต่อ “กลางคืน” และ “พื้นที่บางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ในยามค่ำคืน” นั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก และควรที่จะยกเป็นประเด็นการศึกษาวิจัยที่สำคัญในอนาคต โดยเฉพาะในมิติเรื่องของการเมืองของพื้นที่และเวลา

โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยจะลงรอยกันมากนักระหว่าง “รัฐที่กลัวกลางคืน” (Night Time Phobia State) และเมืองที่ “ไม่หลับใหล” หรือเมืองที่ “ตื่นในเวลากลางคืน” (Nocturnal City)

งานวิชาการของไทยและของโลกนั้นมีลักษณะที่มีอคติกับกลางคืน ไม่ค่อยมีการศึกษาเรื่องกลางคืนเท่ากลางวัน หรือแม้กระทั่งเรื่องใกล้ตัวของเราอย่างเรื่องของเมืองนั้นก็สนใจเรื่องของกลางคืนน้อยมาก ไม่ค่อยมีการศึกษาการใช้สถานที่ในยามค่ำคืนที่มองอย่างเป็นระบบ มักจะมองว่าเป็นส่วนที่เสริมไปจากกลางวันมากกว่าจะทำความเข้าใจเป็นเรื่องเป็นราว ว่าเมืองใหญ่ๆ นั้นมีเวลาและสถานที่ในตอนกลางคืนอย่างไร

ไม่เช่นนั้นก็จะมองกลางคืนอย่างมีอคติว่าเป็นส่วนที่ตรงข้ามกับกลางวัน เช่นจัดระเบียบได้ยาก เป็นเรื่องของอาชญากรรม เป็นเรื่องของพื้นที่ที่ทำให้คนผิดวินัย ผิดศีลธรรม ไม่ปลอดภัย

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว เมืองจำนวนมากนั้นมีชีวิตอยู่ได้จากทั้งเศรษฐกิจเวลากลางวัน (Day Time Economy) และเศรษฐกิจเวลากลางคืน (Night Time Economy) แต่ในรัฐทรรศนะนั้นเมืองในยามค่ำคืนนั้นย่อมจะต้องถูกจัดระเบียบ และเศรษฐกิจเมืองในยามค่ำคืนก็มักเป็นเรื่องที่เทา หรือเสี่ยงต่ออาชญากรรม (ซึ่งในบ้านเรานั้นยิ่งน่าหนักใจเพราะไม่ว่าจะจิ้มไปที่ไหนอำนาจรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐก็มีเอี่ยวมาโดยตลอด)

และในประการสุดท้าย นอกเหนือไปจากเรื่องของทัศนคติของรัฐและสาธารณะที่ว่าด้วยเรื่องกลางคืน ความสำคัญของเศรษฐกิจยามค่ำคืนต่อความเป็นไปของเมือง และการเพิ่มมาตรการต่างๆ ในการกำกับดูแล-จัดระเบียบในยามค่ำคืนแล้ว สิ่งที่ในวงวิชาการเริ่มมีความสนใจกันมากขึ้นก็คือ ความเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรมของการใช้ชีวิตในยามค่ำคืนของผู้คน ซึ่งพวกเขาอาจจะมีความรู้สึกและพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากในตอนกลางวัน

และเอาเข้าจริงแล้ว ชีวิตยามค่ำคืนของพวกเขานั้นอาจจะเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้และยังเติมเต็มความเป็นตัวตนและชีวิตของพวกเขาที่ขาดหายไปในตอนกลางวัน โดยไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะต้องเป็นคนไม่ดี หรือเลวในมุมมองของรัฐหรือคนภายนอก โดยเฉพาะคนที่ต่างวัยออกไป แต่การออกไปพบปะผู้คน หรือแม้ว่าจะออกไปคนเดียวในพื้นที่และเวลากลางคืนมันทำให้เขาเหล่านั้นมีความหมายในชีวิตที่แตกต่างออกไปจากเวลากลางวัน และมีส่วนสำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขาเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐหรือคนอีกรุ่น อีกวัฒนธรรมและปฏิการในการใช้ชีวิต (habitus) นั้นไม่มีความเข้าใจ

ในทางทฤษฎีนั้น เมื่อเราพูดถึงเวลากลางคืนที่รัฐและในวันนี้คือรัฐเวชกรรมกลัวหนักกลัวหนา เราอาจจะต้องทำความเข้าใจว่า พื้นที่และเวลารวมทั้งผู้คนและกิจกรรมต่างๆ นั้นมันเป็นเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นและเป็นการขึ้นผ่านการต่อสู้/ต่อรองมาโดยตลอดของผู้คนสถาบัน และพลังทางสังคมที่หลากหลาย ในการที่จะใช้ประโยชน์และควบคุม “ความมืด” ทั้งในแง่เวลาและสถานที่ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้ อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ รวมไปถึงอะไรที่ไม่ควรจะทำแต่ดันทำได้ ด้วยเงื่อนไขอะไรบ้าง

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือยิ่งในบ้านเราแล้ว การจะเข้าใจการใช้อำนาจ และการใช้อำนาจภายใต้การกำหนดข้อยกเว้น โดยรัฐเป็นเรื่องที่รับรู้กันโดยทั่วไป ไม่ว่าจะการละเมิดผังเมือง การละเมิดพื้นที่ลงมาใช้ถนน การเปิดเกินเวลา การไม่ตรวจบัตร การไม่ตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่

ที่สำคัญเรื่องของการกำหนดนัยยะและความหมายความสำคัญของพื้นที่และเวลากลางคืนนั้น เป็นเรื่องที่มีพลวัต จากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เคยมีกิจกรรมต้องห้ามในยามค่ำคืนมาก่อน ทั้งในพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะในมิติของเมืองนั้น ยิ่งเป็นที่เข้าใจกันดีมาตลอดเวลาเมืองที่ไม่เคยหลับใหล หรือชีวิตยามค่ำคืนของเมืองนั้นเป็นเรื่องที่มีพลวัต จากเมืองที่เคยเฟื่องฟูในยามค่ำคืนในบางพื้นที่ ก็หมุนเวียนเปลี่ยนไปยังที่ใหม่ๆ หรือมีพื้นที่ของแต่ละชนชั้นที่แตกต่างกันออกไป

ในแง่มิติด้านเศรษฐกิจ เรามักจะมองว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในยามค่ำคืนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะดี เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับอาชญากรรม เช่นเรื่องของสถานบันเทิง แต่ในหลายประเทศนั้นการคิดค้นเศรษฐกิจในยามค่ำคืนนั้นเป็นเรื่องที่ทำกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในแง่ของรัฐบาลเมือง ไม่ใช่แค่ว่าหลับตาให้มีขึ้น แต่มันเกี่ยวเนื่องกับการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรร และการฟื้นฟูย่านของเมืองเช่นกัน อย่างในกรณีของอังกฤษนั้นภายหลังจากการส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรร และการฟื้นฟูเมือง ก็ทำให้เกิดการคิดค้นเรื่องการวางแผนเศรษฐกิจในยามค่ำคืนอย่างจริงจัง

ในบ้านเรานั้นการเปิดตลาดกลางคืน รวมทั้งถนนคนเดิน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญในการสร้างสถานที่ (place making) ใหม่ๆ รวมทั้งการมีกิจกรรมยามค่ำคืน เช่น พิพิธภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งร้านอาหารต่างๆ ที่บางร้านมีชื่อเสียงในยามค่ำคืน โดยเฉพาะร้านที่อยู่ใกล้ตลาดสดที่มีชีวิต/ตื่นก่อนส่วนอื่นๆ

ในอีกด้านหนึ่งนั้น ความซับซ้อนของการบังคับใช้กฎระเบียบ หรือการหาข้อยกเว้นในการใช้กฎระเบียบ กับพื้นที่และเวลาในยามค่ำคืน ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการกำกับดูแลพื้นที่และเวลาไปที่กิจกรรมบางอย่าง อาทิ เรื่องของการบริโภคสุรา แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะห้ามไปเสียทั้งหมด แต่เป็นการห้ามกิจกรรมบางอย่างเท่านั้น เพราะต้องคำนึงถึงพฤติกรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องการ เพื่อให้เศรษฐกิจในยามค่ำคืนนั้นเดินต่อไปได้

ยิ่งในบ้านเราเศรษฐกิจในยามค่ำคืนนั้นในทางหนึ่งแม้ว่าจะถูกจำกัดมาก แต่ก็ถูกยกเว้นมาก และการยกเว้นเกี่ยวพันอย่างล้ำลึกกับคนมีสี และระบอบอำนาจที่ซับซ้อน ดังนั้น เราจะพบว่าแม้เรื่องบางเรื่องทำไม่ได้ แต่ก็มีให้เห็นอยู่ตลอด และแทบจะไม่ต้องหลบเลี่ยง หรือแคร์สายตาหรือข้อสงสัยใด ขอเพียงจ่ายก็จบ หรือให้คนมีสีนั้นมีหุ้นไปด้วย

นอกจากนั้นเราจะพบการซ้อนทับกันของการกำกับดูแลชีวิตกลางคืน (bio-power/governmentality of night life) ที่ซับซ้อนกว่าในประเทศตะวันตกในบ้านเรา ไล่เรียงไปตั้งแต่เรื่องของศีลธรรม เรื่องของกฎหมาย และไปถึงความสะอาดและโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้เราเห็นว่ารัฐเวชกรรมของไทยนั้นเป็นรัฐเวชกรรมที่ใช้ภาษาของความมั่นคง ศีลธรรม และภาษาทางการแพทย์/การสาธารณสุขในการใช้อำนาจตรง หรือเปิดให้ความรู้ในด้านนี้แพร่กระจายออกไปอย่างผสมผสานมากกว่าในประเทศตะวันตกด้วยซ้ำ ยังไม่นับเรื่องของภาษาทางชนชั้นและอาณานิคมทางชนชั้นที่แทรกเข้ามาด้วยในการมองว่าชาวบ้านนั้นมีชุดทางวัฒนธรรมที่จำต้องถูกควบคุมเอาไว้เป็นพิเศษมิฉะนั้นจะไม่ดีต่อตัวชาวบ้าน ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติเอง

ในส่วนสุดท้ายที่มีความสำคัญมากโดยเฉพาะในวงวิชาการต่างประเทศก็คือเรื่องของการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงไปของพฤติกรรมของผู้คนที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ชีวิตในยามค่ำคืน โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่เอาเข้าจริงเรื่องนี้ในบ้านของเรานั้นอาจจะยังมีการศึกษาและทำความเข้าใจน้อยอยู่มาก หรือถ้าศึกษาก็ศึกษาเฉพาะกลุ่มโดยขาดการทำความเข้าใจภาพรวมของเรื่อง โดยเฉพาะในมุมของคนรุ่นใหม่ๆ ที่ออกไปใช้ชีวิตกลางคืนบ้าง

เรื่องนี้ออกจะขัดกับความเข้าใจโดยทั่วไปของคนอีกกลุ่มที่มองว่าเมื่อคนนั้นเชื่อมโยงกันมากขึ้นผ่านเทคโนโลยี คนก็อาจจะไม่จำเป็นว่าจะต้องมีการพบปะกันเหมือนแต่ก่อน

แต่กลายเป็นว่า ยิ่งมีเทคโนโลยี พื้นที่กลางคืนก็งอกเงย และแน่นไม่น้อยไปกว่าเดิม แถมพื้นที่ทั้งกลางวันและกลางคืนยังถูกสร้างและเป็นที่รู้จักได้ง่ายขึ้นด้วยโดยเฉพาะในบ้านเรา และแน่นอนว่าคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ออกไปในค่ำคืนนั้นเขาอาจไม่ได้เป็นผู้สร้างสถานที่ในแง่ของตึกและกิจการใหญ่ แต่เขาอาจจะเป็นผู้ประกอบการรายย่อย หรือเป็นผู้บริโภค แต่เขาก็ให้ความหมายกับชีวิตในยามค่ำคืนของเขาในระดับหนึ่งที่ไม่ได้ถูกกำหนดจากทุนและรัฐไปเสียทั้งหมด กล่าวได้ว่าชีวิตกลางคืนของแต่ละเมืองนั้นมีสีสันและมีชีวิตที่แตกต่างกัน และหลายคนเมื่อไปต่างเมืองก็มักจะต้องออกไปลิ้มลองสัมผัสชีวิตเหล่านั้น และนอกจากเรื่องของเศรษฐกิจในยามค่ำคืนแล้ว ค่ำคืนและสถานที่กลางคืนนั้นยังมีความหมายที่กว้างไปกว่าเรื่องของการบริโภค และการถูกกำกับดูแลของรัฐ อาทิ บางครั้งการออกไปใช้ชีวิตกลางคืนเป็นเสมือนการเติบโตไปสู่อีกสถานะ ซึ่งก็ย่อมหมายถึงการจัดความสัมพันธ์กับตัวเอง ความรัก/ผู้อื่น มิตรภาพ และครอบครัว (เช่นบอก ขออนุญาต หรือหนี/แอบ) รวมกระทั่งทำให้เราเข้าใจ “วัฒนธรรมของการกินดื่ม และการออกไปเที่ยว หรือแม้กระทั่ง การออกไปแรด (หรือ ลันลา/ขาเลาะ ซึ่งอาจไม่เหมือนกันขึ้นกับคำนิยามของฝ่ายไหนด้วย” ซึ่งมีทั้งมิติเรื่องของเพศสภาพเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

เรื่องเหล่านี้เราไม่เห็นความเข้าใจจากมุมมองของผู้คนที่ออกไปทำกิจกรรมเหล่านั้น จากข้อกำหนด จากคำให้สัมภาษณ์ หรือการแถลงสถานการณ์รายวันของ ศบค. และผู้ที่เกี่ยวข้อง เมื่อเทียบกับความเข้าใจวัฒนธรรมการกินดื่มทั้งกลางวันกลางคืนในประเทศตะวันตก ที่มีมิติเรื่องของวัฒนธรรมและการมีเสรีภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง ราวกับว่าประเทศไทยไม่มีวัฒนธรรมการกินดื่มเหล้านั้นเอาเสียเลยตั้งแต่โบราณ หรือบางครั้งก็ถูกป้ายว่าเป็นเรื่องของวัฒนธรรมตะวันตก

ในวิกฤตโควิดนี้ เราจึงยังอยู่กับรัฐที่กลัวกลางคืน และทำให้เวลาและพื้นที่กลางคืนเป็นเรื่องของความมั่นคงแห่งชาติ (national security) ต่อไป บนพื้นฐานรัฐเวชกรรม-ศีลธรรม-ชาตินิยมแบบไทย ทั้งที่ในความเป็นจริงก็เป็นเรื่องยากที่จะเจอกับ “สังคมพันลึก” (deep society) ที่มีวิถีของตัวเองในยามค่ำคืน

และเอาเข้าจริงก็เชื่อมโยงกับองคาพยพบางส่วนของรัฐที่หลับตา หรือทำเป็นกลัวกลางคืนในฉากหน้าด้วย

หมายเหตุท่านสามารถศึกษาความอัศจรรย์ของประเด็น “ภูมิศาสตร์ของพื้นที่และชีวิตกลางคืนในเมือง” ใน Urban Studies 52(3) 2015

ข้อกำหนดและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
ข้อกำหนด (ฉบับที่ 1) ประกาศ ณ 25 มี.ค. 63
มีผลตั้งแต่ 26 มี.ค. 63 เป็นต้นไป
การปิดสถานที่
– สนามมวย สนามกีฬา สนามแข่งขัน สนามเด็กเล่น สนามม้า ในทุกจังหวัด ทั่วราชอาณาจักร
– ผับ สถานบริการ สถานที่แสดงมหรสพ สถานที่มีการแสดงหรือการละเล่นสาธารณะ สถานประกอบการ อาบ อบ นวด และนวดแผนโบราณ สปา สถานที่ออกกำลังกาย (ฟิตเนส) สถานบันเทิง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
– แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ พิพิธภัณฑสถาน ห้องสมุดสาธารณะ ศาสนสถาน สถานีขนส่งหรือโดยสาร ตลาด ห้างสรรพสินค้า ให้พิจารณาโดยสั่งปิดเฉพาะส่วนหรือทั้งหมด
ข้อกำหนด (ฉบับที่ 2) ประกาศ ณ 2 เม.ย. 63
มีผลตั้งแต่ 3 เม.ย. 63 เป็นต้นไป
ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น
ข้อกำหนด (ฉบับที่ 5) ประกาศ ณ 1 พ.ค. 63
มีผลตั้งแต่ 3 พ.ค. 63 เป็นต้นไป
– ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น
– ให้ผู้ว่าฯ กทม. และผู้ว่าราชการจังหวัดอาศัยอำนาจตาม พรบ. โรคติดต่อ 2558 มีคำสั่งปิดสถานที่ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่โรคดังที่ระบุ (30 กว่ารายการสถานที่)
ข้อกำหนด (ฉบับที่ 6) ประกาศ ณ 1 พ.ค. 63
มีผลตั้งแต่ 3 พ.ค. 63 เป็นต้นไป
การผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้
– การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในโรงแรม ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง โรงพยาบาล ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ รถเข็น หาบเร่ แผงลอย ซึ่งไม่รวมถึงสถานบริการ ผับ บาร์ ให้เปิดได้โดยอาจให้นำกลับไปบริโภคที่อื่น แต่หากเปิดให้ใช้บริการในสถานที่นั้นต้องจัดระเบียบการเข้าใช้บริการ
สำหรับร้านอาหารหรือเครื่องดื่มซึ่งจำหน่ายสุรา ห้ามบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน
– ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา สินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต และร้านขายปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ธนาคาร ที่ทำการหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ส่วนแผนกร้านอาหารให้เปิดได้เฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่น
– ร้านค้าปลีก/ค้าส่งขนาดย่อม ร้านค้าปลีก/ค้าส่งชุมชน ตลาด ตลาดน้ำ และตลาดนัด
– ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม ให้เปิดได้เฉพาะกิจกรรมสระ ตัด ซอยผม แต่งผม และต้องไม่มีผู้นั่งรอในร้าน
– โรงพยาบาล คลินิก สถานทันตกรรมหรือสถานพยาบาลทุกประเภท
– สนามกอล์ฟหรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟให้เปิดได้แต่ต้องไม่มีผู้ชมมาชุมนุมกันหรือเป็นการแข่งขัน
– สนามกีฬาเฉพาะกีฬาประเภทกลางแจ้งและตามกติกาสากล ผู้เล่นต้องมีระยะห่างทางสังคมและไม่คลุกคลีกันอยู่แล้ว และต้องไม่มีผู้ชมมาชุมนุมกันหรือเป็นการแข่งขัน
– สวนสาธารณะ ลาน-พื้นที่กิจกรรมสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬา ลานกีฬา ให้เปิดเฉพาะพื้นที่โล่งแจ้งเพื่อการเดิน วิ่ง ขี่หรือปั่นจักรยาน หรือการออกกำลังวิธีอื่นเป็นส่วนบุคคล โดยไม่มีผู้ชมหรือเป็นการแข่งขัน การละเล่น การแสดง
– สถานที่ให้บริการดูแลรักษาสัตว์ สปา อาบน้ำ ตัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์
ข้อกำหนด (ฉบับที่ 7) ประกาศ ณ 15 พ.ค. 63
มีผลตั้งแต่ 17 พ.ค. 63 เป็นต้นไป
ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น
การผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้
– การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในภัตตาคาร สวนอาหาร ศูนย์อาหาร โรงอาหาร ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มทั่วไป ซึ่งไม่รวมถึงสถานบริการ ผับ บาร์ แต่ยังคงห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
– ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการเพิ่มเติมได้ในส่วนที่เป็นการจำหน่ายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคและการให้บริการ รวมทั้งร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม (ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน) ร้านเสริมสวย แต่งผม ตัดผมหรือทำเล็บ และให้เปิดได้จนถึงเวลา 20.00 น.
– ร้านค้าปลีก/ค้าส่ง หรือตลาดค้าส่งขนาดใหญ่
– สถานที่บริการดูแล สถานที่พำนัก หรือสถานสงเคราะห์ที่จัดสวัสดิการให้แก่เด็กหรือผู้สูงอายุ หรือผู้มีภาระพึ่งพิง เปิดได้เฉพาะที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ
– การถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ คณะมีจำนวนไม่เกิน 50 คน และต้องไม่มีผู้ชมเข้าร่วมรายการ
– ห้องประชุมในโรงแรมหรือศูนย์ประชุม ให้เปิดดำเนินการได้เฉพาะกรณีจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม และเป็นการประชุมคณะกรรมการ ผู้ถือหุ้น หรือการประชุม การอบรม การสัมมนา ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมมาจากหน่วยงานเดียวกัน
– คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม และร้านทำเล็บ ทั้งที่อยู่ในและนอกห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า หรือคอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดได้เฉพาะการเสริมความงามเรือนร่างและผิวพรรณ ไม่รวมถึงการเสริมความงามบริเวณใบหน้า
– สถานที่ออกกำลังกายฟิตเนสที่มิได้ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้ำ หรือคอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้เฉพาะส่วนที่เป็นการเล่นโยคะหรือฟรีเวท โดยงดเว้นการใช้เครื่องเล่น เครื่องลู่วิ่ง จักรยานปั่น หรือการเล่นแบบรวมกลุ่ม
– สถานที่หรือสนามออกกำลังกายในร่ม เฉพาะกีฬาที่มิได้มีการปะทะกันระหว่างผู้เล่นและต้องไม่มีผู้ชมการแข่งขัน หากเล่นเป็นทีม ให้มีผู้เล่นได้ฝั่งละไม่เกิน 3 คน ได้แก่ แบดมินตัน ตะกร้อ เทเบิลเทนนิส สควอช ยิมนาสติก ฟันดาบ และปีนผา
– สระว่ายน้ำสาธารณะทั้งกลางแจ้งและในร่ม
– สวนพฤกษศาสตร์ สวนดอกไม้ พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ แหล่งประวัติศาสตร์ โบราณสถาน ห้องสมุดสาธารณะ หอศิลป์
ข้อกำหนด (ฉบับที่ 9) ประกาศ ณ 29 พ.ค. 63
มีผลตั้งแต่ 1 มิ.ย. 63 เป็นต้นไป
ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 นาฬิกา ถึง 03.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น
การผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้
– ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 21.00 น.
– ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ โดยจำกัดพื้นที่จัดงานขนาดไม่เกิน 20,000 ตรม. และเปิดได้จนถึงเวลา 21.00 น. งดเว้นการจัดการแข่งขัน กิจกรรมส่งเสริมการขาย หรือที่เปิดโอกาสให้คนมาชุมนุมหนาแน่นและไร้ระเบียบ
– สนามพระเครื่อง ศูนย์พระเครื่อง โดยงดเว้นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้คนมาชุมนุมกันหนาแน่นและไร้ระเบียบ
– ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม จำกัดเวลาการให้บริการในร้านไม่เกินรายละ 2 ชั่วโมงและต้องไม่มีผู้นั่งรอในร้าน
– ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียน เฉพาะการปฏิบัติงานเพื่อนัดหมาย จัดสรรและแจกจ่ายเครื่องดื่มและอาหารกลางวัน
– คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม สถานที่สักหรือเจาะผิวหนังหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
– สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา และสถานประกอบการนวดแผนไทย (งดเว้นการอบตัว อบสมุนไพรหรืออบไอน้ำแบบรวมและการนวดบริเวณใบหน้า) นวดฝ่าเท้า ยกเว้นสถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด
– สถานที่ออกกำลังกายฟิตเนส จำกัดจำนวนผู้เล่นในการเล่นแบบรวมกลุ่มและงดเว้นการอบตัวหรืออบไอน้ำแบบรวม
– สถานที่ฝึกซ้อมมวย โรงยิมหรือค่ายมวย เฉพาะเพื่อการฝึกซ้อมการชกลมโดยไม่มีคู่ชก การชกมวยแบบล่อเป้า ไม่เป็นการแข่งขันและไม่มีผู้ชม
– สนามกีฬา ได้แก่ ฟุตบอล ฟุตซอล บาสเกตบอล วอลเลย์บอล ไม่เป็นการแข่งขัน มีผู้ร่วม (ไม่รวมผู้เล่น) ไม่เกิน 10 คน
– สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง สเก็ตหรือโรลเลอร์เบลด หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน เปิดได้เฉพาะเพื่อการออกกำลังกายหรือฝึกซ้อม
– สถาบันลีลาศหรือสอนลีลาศ
– สระน้ำเพื่อการเล่นกีฬาหรือกิจกรรมทางน้ำในบึง เช่น เจ็ตสกี ไคท์เซิร์ฟ เครื่องเล่นประเภทบานาน่าโบ๊ท ให้เปิดดำเนินการได้โดยต้องไม่เป็นการแข่งขันและจำกัดจำนวนผู้เล่นตามจำนวนเครื่องเล่นและขนาดพื้นที่
– โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพ จำกัดผู้ร่วมกิจกรรมไม่เกิน 200 คน โรงมหรสพในระยะแรกนี้ให้เปิดเฉพาะการจัดแสดงลิเก ลำตัด หรือการแสดงพื้นบ้านอื่น ๆ ก่อน โดยงดเว้นการจัดแสดงดนตรีหรือคอนเสิร์ตหรือกิจกรรมอื่นที่อาจมีความเสี่ยง
– สวนสัตว์หรือสถานที่จัดแสดงสัตว์ ให้จำกัดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมในพื้นที่จัดการแสดงที่เป็นการรวมกลุ่ม
ข้อกำหนด (ฉบับที่ 10) ประกาศ ณ 12 มิ.ย. 63
มีผลตั้งแต่ 15 มิ.ย. 63 เป็นต้นไป
การยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน ตั้งแต่เวลา 23.00 นาฬิกา ของวันที่ 14 มิ.ย. 63
การผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้
– การจัดการประชุม การอบรม การสัมมนา การจัดนิทรรศการ การจัดแสดงสินค้า การจัดเลี้ยง งานพิธี การแสดง นาฏศิลป์ ดนตรี คอนเสิร์ต หรือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในโรงแรม โรงมหรสพ ห้องประชุม ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า โรงภาพยนตร์ หรือในสถานที่อื่น ๆ
– การบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในภัตตาคาร สวนอาหาร โรงแรม ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มทั่วไป โดยงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย
ส่วนสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ยังไม่อนุญาตให้เปิดดำเนินการ
– สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ศูนย์เด็กพิเศษ สถานดูแลผู้สูงอายุ สถานที่บริการดูแล สถานที่พำนักอาศัย หรือสถานสงเคราะห์อื่นที่จัดสวัสดิการให้แก่เด็กหรือผู้สูงอายุ สามารถเปิดดำเนินการให้บริการแบบรายวันได้
– ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม
– การถ่ายทำรายการ ภาพยนตร์ วีดีทัศน์ มีผู้แสดง ผู้ร่วมรายการ และคณะทำงานไม่เกิน 150 คนและมีผู้ชมไม่เกิน 50 คน
– การอบตัว อบสมุนไพร การอบไอน้ำแบบรวมหรือการนวดใบหน้าในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา หรือนวดแผนไทย ยกเว้นสถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด
– การออกกำลังกายแบบกลุ่มในสวนสาธารณะ ลานกิจกรรม พื้นที่กิจกรรมสาธารณะ หรือลานกีฬากลางแจ้ง ให้ดำเนินการได้
– สวนน้ำ สนามเด็กเล่น สวนสนุก ยกเว้นการใช้เครื่องเล่นในลักษณะที่เป็นการติดตั้งชั่วคราว หรือเครื่องเล่นที่มีพื้นผิวสัมผัสมาก เช่น บ้านบอล บ้านลม
– สนามกีฬาหรือสถานที่ออกกำลัง การเล่นกีฬา หรือเพื่อการเรียนการสอนในทุกประเภทกีฬา ยกเว้นสนามชนโค สนามชนไก่ สนามกัดปลา หรือในทำนองเดียวกัน
สถานที่ที่ได้รับการผ่อนคลายสามารถจัดการแข่งขันและถ่ายทอดโทรทัศน์หรือสื่ออื่น ๆ ได้ แต่ต้องไม่มีผู้ชมอยู่ในสนามแข่งขัน
– ตู้เกม เครื่องเล่นหยอดเหรียญที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายและตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์
ข้อกำหนด (ฉบับที่ 11) ประกาศ ณ 30 มิ.ย. 63
มีผลตั้งแต่ 1 ก.ค. 63 เป็นต้นไป
การเปิดดำเนินการสถานที่และกิจกรรมต่าง ๆ
(1) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ สามารถเปิดตามกำหนดเวลาทำการปกติ แต่ไม่เกิน 22.00 น.
ส่วนร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันสามารถเปิดดำเนินการตามกำหนดเวลาทำการปกติของสถานที่นั้น ๆ
(2) สถานบริการ หรือที่คล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ผ่อนผันให้เปิดทำการตามเวลาปกติจนถึง 24.00 น. ของวันเดียวกันและงดเว้นกิจกรรมส่งเสริมการขาย
ในส่วนของการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในภัตตาคาร สวนอาหาร โรงแรม ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มทั่วไปสามารถเปิดให้บริการหลังเวลา 24.00 น. ได้ แต่งดการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ภายในสถานที่ที่ให้บริการหลังเวลาดังกล่าว
(3) ร้านเกมและร้านอินเทอร์เน็ต ให้เปิดดำเนินการได้โดยจำกัดช่วงเวลาการให้บริการ
(4) สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด โรงน้ำชา ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาเปิดทำการปกติที่กฎหมายกำหนด
สนามชนโค สนามชนไก่ สนามกัดปลา หรือสนามการแข่งขันอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันยังไม่อนุญาตให้เปิดดำเนินการ
ข้อกำหนด (ฉบับที่ 13) ประกาศ ณ 31 ก.ค. 63
มีผลตั้งแต่ 1 ส.ค. 63 เป็นต้นไป
การเปิดดำเนินการสถานที่และกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มเติม
(1) การถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ได้เคยผ่อนคลายไว้แล้ว ให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้
(2) สถานที่ใช้เครื่องเล่นในลักษณะที่เป็นเครื่องเล่นเป่าลม บ้านลม บ้านบอลหรือเครื่องเล่นอื่นที่มีลักษณะเดียวกันที่ติดตั้งแบบถาวรและได้รับการตรวจสอบตามกฎหมาย
(3) ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตให้ สนามชนโค สนามชนไก่ สนามกัดปลา หรือสนามแข่งขันอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบสามารถเปิดดำเนินการและให้บริการได้ตามความเหมาะสมเมื่อมีความพร้อม
ข้อกำหนด (ฉบับที่ 14) ประกาศ ณ 31 ส.ค. 63
มีผลตั้งแต่ 1 ก.ย. 63 เป็นต้นไป
สนามกีฬาหรือสถานที่ที่เคยผ่อนคลายให้สามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้ ให้มีผู้ชมอยู่ในสนามแข่งขันได้ โดยผู้จัดการแข่งขันต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรค
ข้อกำหนด (ฉบับที่ 15) ประกาศ ณ 25 ธ.ค. 63
มีผลตั้งแต่ 25 ธ.ค. 63 เป็นต้นไป
การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค ให้ผู้ว่าฯ กทม. และผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาสั่งปิดสถานที่ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดโรคและการแพร่ของโรคไว้ชั่วคราว
ข้อกำหนด (ฉบับที่ 16) ประกาศ ณ 3 ม.ค. 64
มีผลตั้งแต่ 4 ม.ค. 64 เป็นต้นไป
การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ให้ผู้ว่าฯ กทม. หรือผู้ว่าราชการจังหวัด อาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณาสั่งปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด
เงื่อนไขการเปิดดำเนินการ ในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด
1. การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้จัดระเบียบการเข้าใช้บริการ จำนวนผู้นั่งบริโภคในร้าน การจัดสถานที่ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติและมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด โดยอาจให้เป็นลักษณะของการนำกลับไปบริโภคที่อื่น โดยให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขร่วมกันพิจารณาประเมิน กำหนดรูปแบบและกำกับการดำเนินการตามข้อปฏิบัติและมาตรการดังกล่าวของแต่ละพื้นที่จังหวัด
2. การจำหน่ายสุรา สำหรับร้านอาหาร หรือสถานที่ซึ่งจำหน่ายสุรา ห้ามการบริโภคสุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน
3. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ ร้านสะดวกซื้อ ชุปเปอร์มาร์เก็ต หรือที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดได้ตามเวลาปกติ ภายใต้มาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด
ข้อกำหนด (ฉบับที่ 18) ประกาศ ณ 29 ม.ค. 64
มีผลตั้งแต่ 1 ก.พ. 64 เป็นต้นไป
1. การกำหนดพื้นที่สถานการณ์ 1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ สมุทรสาคร 2) พื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ
2. มาตรการควบคุมสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
1) สั่งปิดสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ตู้เกม ร้านเกม ร้านอินเตอร์เน็ต สนามมวย ที่ออกกำลังในร่ม และอื่น ๆ ชั่วคราว
2) ห้ามการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
3) ให้สถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม ดังต่อไปนี้สามารถเปิดดำเนินการได้
– การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม บริโภคในร้านได้ เปิดไม่เกิน 21.00 น. ห้ามบริโภคสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน
– ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ฯลฯ ให้เปิดไม่เกิน 21.00 น.
3. มาตรการควบคุมสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด
– การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม บริโภคในร้านได้ แต่หลัง 23.00 น. ต้องให้บริการโดยนำกลับไปบริโภคที่อื่น
– การจัดการแข่งขันกีฬาให้เป็นลักษณะของการถ่ายทอดการแข่งขันโดยไม่มีผู้ชมอยู่ในสนามแข่งขัน
4. มาตรการควบคุมสำหรับพื้นที่ควบคุม
– สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ให้เปิดไม่เกิน 23.00 น.
– การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม และการจำหน่ายสุรา ให้เปิดไม่เกิน 23.00 น.
ข้อกำหนด (ฉบับที่ 19) ประกาศ ณ 9 เม.ย. 64
มีผลตั้งแต่ 10 เม.ย. 64 เป็นต้นไป
ปิดสถานบริการ สถานประกอบการคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบอบนวด หรือที่คล้ายกัน ในจังหวัดที่ได้ตรวจพบการระบาดแล้ว (41 จังหวัด) ชั่วคราว อย่างน้อย 14 วัน
ข้อกำหนด (ฉบับที่ 20) ประกาศ ณ 16 เม.ย. 64
มีผลตั้งแต่ 18 เม.ย. 64 เป็นต้นไป
1. การปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบอบนวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน เป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 14 วัน
2. การกำหนดพื้นที่สถานการณ์ เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด และพื้นที่ควบคุม 59 จังหวัด
3. มาตรการควบคุม เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน
– พื้นที่ควบคุมสูงสุด
ก. การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม บริโภคในร้านได้ไม่เกิน 21.00 น. และจำหน่ายได้จนถึง 23.00 น. โดยนำไปบริโภคที่อื่น
ข. ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน
ค. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดได้จนถึง 21.00 น. ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก ที่งดการให้บริการ
ง. ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน ให้เปิดได้ไม่เกินเวลา 23.00 น.
จ. สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลัง ยิม ฟิตเนส เปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. และจัดการแข่งขันได้โดยจำกัดจำนวนผู้ชม
– พื้นที่ควบคุม
ก. การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้การบริการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มและการบริโภคในร้านได้ไม่เกินเวลา 23.00 น.
ข. ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน
ค. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่คล้ายกัน เปิดได้จนถึง 21.00 น. ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกมและสวนสนุก ที่งดการให้บริการ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image