การจัดการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองในประชาคมอาเซียน

การจัดการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองในประชาคมอาเซียน

 

ในการสร้างพลเมืองไม่ว่าจะเป็นประเทศใดต่างก็ให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง (Civic Education) ทั้งสิ้น ยิ่งในประชาคมอาเซียนที่มีความหลากหลายมากทางด้านวัฒนธรรมและระบอบการเมืองการปกครอง อย่างไรก็ดี กระบวนการการจัดการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานให้กับเสาหลักทั้งสามของประชาคมอาเซียน ได้แก่ เสาประชาคมการเมืองและความมั่นคง เสาประชาคมเศรษฐกิจ และเสาประชาคมสังคมและวัฒนธรรม การจัดการศึกษาในความหมายของดิฉันมีทั้งรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งในสถาบันการศึกษาและภายนอกสถาบันการศึกษา และยังต้องเป็นการศึกษาในระยะยาวที่ต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อสร้างและพัฒนาประชาชนในประชาคมอาเซียนอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม

กระบวนการจัดการศึกษาในรูปแบบที่เป็นทางการควรมีที่มุ่งเน้นความเป็นชาติ และความเป็นประชาคมอาเซียนไปพร้อมๆ กัน โดยเป็นการสร้างหลักสูตรที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับข้อมูลทั้งในอดีตและปัจจุบัน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษา และควรมีการส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาที่สอง และภาษาของชาติอื่นในประชาคมอาเซียน ส่วนการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาควรมีหลักสูตรอาเซียนศึกษาในทุกมหาวิทยาลัย

ในส่วนการจัดการศึกษาในรูปแบบไม่เป็นทางการที่อาจจะมาจากช่องทางอื่นๆ ที่ไม่ใช่ในสถาบันการศึกษา เช่น ช่องทางจากสื่อมวลชนทั้งที่เป็นสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ และควรเสริมด้วยการเรียนรู้ภายนอกชั้นเรียนผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การฝึกอบรม การฝึกงาน การเข้าร่วมงานสัมมนาวิชาการต่างๆ ซึ่งจัดขึ้นทั้งในมหาวิทยาลัยและสถานที่อื่นๆ

Advertisement

ข้อความข้างต้นที่กล่าวมานี้นั้นเป็นเสมือนบทนำ ซึ่งยังไม่ได้ลงลึกในเรื่องเนื้อหาสาระสำคัญและกิจกรรมที่เน้นการปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ และเพื่อลดช่องว่างระหว่างความรู้ทางทฤษฎีกับภาคปฏิบัติ กระบวนการจัดการศึกษาในประชาคมอาเซียนมีหลากหลายเรื่องรวมถึงหลายมิติและมุมมอง แต่ที่ดิฉันให้ความสนใจ และอยากจะอธิบายขยายเพิ่มขึ้นคือ การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง (Civic Education) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการศึกษาทางการเมือง (Political Education) เป็นกระบวน
การจัดการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิมนุษยชนและยึดมั่นในหลักการสันติวิธี รวมถึงการเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกในประชาคมให้มีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วย

กระบวนการจัดการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองควรเป็นการศึกษาในเชิงบูรณาการที่เชื่อมโยงองค์ความรู้ทุกศาสตร์ทั้งมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ และควรเป็นการศึกษาที่เริ่มต้นตั้งแต่ระดับประถมศึกษาขึ้นไป เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนในแต่ละประเทศและภายในประชาคมส่วนรวม นอกจากนี้ กระบวนการจัดการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองต้องไม่ถูกผูกขาดอยู่ที่หน่วยงานการศึกษาภาครัฐเท่านั้น เนื่องจากการเป็นพลเมืองนั้นไม่ควรจะทำให้ประชาชนกลายเป็นเพียงราษฎรที่เชื่อฟังและปฏิบัติตามอย่างไร้วิจารณญาณและความรับผิดชอบ ดังนั้นความเป็นพลเมืองควรมีการศึกษาในรูปแบบที่เป็นทางเลือกที่เป็นแนวคิด ทฤษฎี หลักการ หรืออุดมการณ์อื่นที่มิใช่อุดมการณ์หลักของรัฐชาติที่ครอบงำอยู่

การจัดการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองควรเป็นการศึกษาที่พัฒนาให้ประชาชนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งครบให้สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กล่าวคือ เป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าทั้งในด้านความรู้ การให้ความหมายกับสิ่งต่างๆ อย่างมีเหตุผลรวมถึงการมีศีลธรรม หรืออาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งเป็นการศึกษาที่ให้ความสมดุลกับการพัฒนาทั้งทางร่างกายและจิตใจด้วย นอกจากนี้ การจัดการศึกษา เพื่อสร้างความเป็นพลเมืองยังต้องตระหนักรู้ และให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิ และหน้าที่ของประชาชนที่มีต่อตนเอง ต่อชุมชน ต่อประเทศ และต่อประชาคมด้วย โดยเน้นถึงการมีอิสรภาพบนพื้นฐานของหลักนิติธรรม การเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยไม่ละเมิดสิทธิพลเมือง และสิทธิมนุษยชนของผู้อื่น รวมถึงควรมุ่งส่งเสริมสนับสนุนให้พลเมืองมีจิตสาธารณะ และให้เห็นแก่ประโยชน์สุขของประชาคมส่วนรวมมาก่อนประโยชน์สุขส่วนตนและพวกพ้อง

Advertisement

ในฐานะที่ดิฉันเคยเป็นอาจารย์ประจำในมหาวิทยาลัย ดิฉันคิดว่าการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยนั้นมีปัญหาหลายประการ อาทิ การขาดความตระหนักรู้ทั้งในเรื่องของประวัติศาสตร์ของประเทศสมาชิกด้วยกันเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงปัญหาที่บุคลากรการศึกษาขาดในเรื่องการพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขาดความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนทั้งในอดีตและปัจจุบัน และควรส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนมีความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นและกล้าตัดสินใจ รวมถึงรับผิดชอบต่อความคิดและการกระทำของตน

ท้ายที่สุดการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองควรเน้นในเรื่องการให้คุณค่า การตระหนักรู้ในความหมายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเป็นการสร้างพลเมืองทั้งในมิติสากลและมิติภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนในแต่ละประเทศยังสามารถที่จะรักษาและสืบทอดอัตลักษณ์ของตนเองไว้ได้ ด้วยเหตุนี้ในกระบวนการจัดการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองควรเป็นเรื่องของความร่วมมือในการปรึกษาหารือกันในทุกประเทศที่เป็นสมาชิกเพื่อให้การจัดการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองนั้นเป็นระบบและมีลักษณะที่เป็นองค์รวม รวมถึงการเปิดโอกาสให้การศึกษาเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วย

จิรภา พฤกษ์พาดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image