รัฐบาลแห่งชาติแล้วยังไงต่อ…?

สมาชิกรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติบางส่วน (แถวบนจากซ้ายไปขวา) มาน วิน คาย ตัน (นายกรัฐมนตรี) ดูวา ลาซี ลา (รองประธานาธิบดี) ด่อ ซิน มา อ่อง (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ) (แถวล่างจากซ้ายไปขวา) ดร.เลียน ซาคอง (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสหพันธรัฐ) ดร.ซอ เวย โซ (ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข) และ ดร.ทู คอง (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสตรี เยาวชน และเด็ก)

เกือบสามเดือนหลังรัฐประหาร พร้อมความสูญเสียทั้งที่เป็นจำนวนผู้เสียชีวิตเกือบ 740 คน ผู้ที่ถูกจับกุมกว่า 3 พันคน และความหายนะทางเศรษฐกิจที่ประเมินค่าไม่ได้ พม่ายังอยู่ในสภาวะเดดล็อกทางการเมืองแบบที่คณะรัฐประหารเองก็ไม่สามารถปกครองประเทศได้ แม้ว่าจะใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือและปราบปรามประชาชนที่ออกมาเดินขบวนประท้วงแบบไม่เลือกหน้า ผู้เขียนเชื่อว่ารัฐประหารครั้งนี้ผ่านการคิดตริตรองและวางแผนมาอย่างดี ทั้งวันรัฐประหารที่เอาฤกษ์เอาชัยยึดอำนาจในเช้าตรู่ก่อนจะมีการเปิดสภาวันแรก ตลอดจนแผนการบริหารประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แต่สิ่งหนึ่งที่คณะรัฐประหารอาจไม่ได้คาดคิดมาก่อนคือจำนวนประชาชนที่ออกมาชุมนุมประท้วง อีกทั้งวิธีการประท้วงแบบอารยะขัดขืน (CDM) ที่ลามไปทั่วประเทศ ผู้คนทุกเพศทุกวัยจากทุกสายอาชีพร่วมใจกันออกมาต่อต้านรัฐประหารโดยไม่กลัวอำนาจมืด คาดว่าขบวนการอารยะขัดขืนในพม่าครั้งนี้จะเป็นการประท้วงแบบไม่ใช้ความรุนแรงที่มีสเกลใหญ่ที่สุดและทรงพลังที่สุดนับตั้งแต่มหาตมะคานธีนำแนวทางดื้อแพ่งมาใช้เป็นครั้งแรกเพื่อกระตุ้นให้คนอินเดียต่อต้านการปกครองของอังกฤษตั้งแต่ทศวรรษ 1930 และประสบความสำเร็จอย่างสูง

ความสำเร็จของ CDM ในพม่ายังมาจากการร่วมมือร่วมใจของประชาชนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะข้าราชการและพนักงานธนาคาร ที่ถือเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนการบริหารงานภาครัฐ ต่างก็ยืนยันหยุดงานประท้วง แม้ในระหว่างนี้ พวกเขาจะไม่มีรายได้และประเทศกำลังเข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพง แต่พวกเขาก็คิดว่าการดื้อแพ่งต่อความอยุติธรรมเป็นสิ่งที่ต้องทำ และในฐานะที่เป็นประชาชนที่มีความรักและความหวังดีต่อประเทศชาติ พวกเขาก็พร้อมเสียสละเพื่อป้องกันทุกวิถีทางไม่ให้คณะรัฐประหารเดินหน้าบริหารประเทศต่อไปได้

ในมุมมองของผู้เขียน ความโดดเด่นของการประท้วงในพม่าครั้งนี้อยู่ที่เป็นการต่อต้านอำนาจของกองทัพที่กระจายไปทั่วประเทศ ทำให้กำแพงความคิด-ความเชื่อแต่เดิมที่ว่าการเมืองระดับชาติในพม่าเป็นเรื่องของคนบะหม่า (Bamar) ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในพม่า (ร้อยละ 69) ถูกทำลายลงไป ดังนั้น เราจึงเห็นบทบาทของกลุ่มชาติพันธุ์ในการคานอำนาจกับกองทัพมากเป็นประวัติการณ์ แม้แต่ ดร.ซาซา (Dr Sasa) ผู้นำคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ หรือ CRPH ในฐานะสภาแห่งชาติชั่วคราว ก็เป็นชาวฉิ่นที่นับถือศาสนาคริสต์ ภารกิจแรกๆ ที่ CRPH ทำคือการประกาศให้กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์น้อยใหญ่ในพม่าถูกกฎหมาย นักการเมืองและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในพม่ารู้ดีว่าการเจรจากับกองทัพ แม้จะเป็นทางออกของวิกฤตการณ์ครั้งนี้ที่ดีที่สุด แต่ก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ดังนั้น เมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ หนทางเดียวที่พอจะมีคือ CRPH ต้องเปิดหน้าสู้กับกองทัพพม่าแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน เริ่มจากการประกาศคว่ำรัฐธรรมนูญปี 2008 ที่ร่างขึ้นมาโดยทหาร นำกฎบัตรเพื่อมุ่งหน้าสู่ประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ (Federal Democracy Charter) มาใช้ และตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government หรือ NUG) ขึ้นมาตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาเพื่อคานอำนาจกับรัฐบาลคณะรัฐประหาร

คณะทำงาน CRPH ยังคงใส่ชื่อด่อ ออง ซาน ซูจี และประธานาธิบดีวิน มยิ้น เป็นผู้นำรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ แม้ว่าผู้นำพรรคเอ็นแอลดีทั้งคู่ และนักการเมืองอีกจำนวนหนึ่งจะยังถูกควบคุมตัวอยู่ และปัจจุบันก็ไม่มีใครทราบชะตากรรมของคนเหล่านี้ จริงอยู่ว่าโอกาสที่ด่อ ออง ซาน ซูจี และนักการเมืองรุ่นเก่าจากพรรคเอ็นแอลดีจะหวนคืนสู่สังเวียนการเมืองพม่าหลังจากนี้แทบเป็นไปไม่ได้แล้ว แต่การใส่ชื่อเธอให้เป็นผู้นำของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติอย่างน้อยก็ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลเอ็นแอลดียังคงเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย สิ่งที่ CRPH ใส่เข้ามา (และนี่เป็นหมุดหมายสำคัญที่สุดของการเมืองพม่านับจากนี้) คือตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ CRPH ตั้ง มาน วิน คาย ตัน (Mahn Win Khaing Than) ชาวกะเหรี่ยง และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลคู่ขนาน มีรัฐมนตรีอีก 11 คน และมี ดูวา ลาซี ลา (Duwa Lashi La) ประธานสภาที่ปรึกษาแห่งชาติกะฉิ่นนั่งเป็นรองประธานาธิบดี

Advertisement

สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้คือรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีจะพยายามทำงานเพื่อล็อบบี้ให้ประชาคมโลกให้การรับรองตน แต่เนื่องจากรัฐบาลดังกล่าวเป็นเสมือนรัฐบาลพลัดถิ่น ที่มีสมาชิกหลายคนเคลื่อนไหวอยู่ภายนอกประเทศ ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างลำบาก ประกอบกับรัฐบาลรัฐประหารพม่ายังได้รับการสนับสนุน ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม จากประเทศขนาดใหญ่รอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย หรือแม้แต่ไทย และยังได้รับสิทธิให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่กำลังจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่จะถึงนี้ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อถกปัญหาวิกฤตการเมืองในพม่าเพียงฝ่ายเดียว และพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย จะเดินทางไปร่วมประชุมด้วย นับเป็นการปรากฏตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกตั้งแต่เกิดรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนมาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์

ผลการประชุมสุดยอดในครั้งนี้ก็ต้องบอกว่าน่าจะไม่มีประโยชน์โภชผลที่เป็นรูปธรรมนัก เพราะเป็นการประชุมหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารเพียงฝ่ายเดียว ไม่มีตัวแทนจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ประการที่สอง รัฐบาลไทยต้องการลอยตัวอยู่เหนือปัญหาวิกฤตทางการเมืองในพม่า และประกาศมาตั้งแต่ต้นว่าขอไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้ และประการสุดท้าย อาเซียนไม่มีนโยบายแทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิก ดังนั้น การหารือกันในระดับภูมิภาคจึงเป็นเพียงการ “ปรับความเข้าใจ” หรือการเสนอข้อคิดเห็นให้ผู้นำกองทัพพม่านำกลับไปพิจารณา แต่หากพิจารณาถึงท่าทีของกองทัพพม่าที่หวาดระแวงการแทรกแซงจากประเทศภายนอกมาโดยตลอด ก็พูดได้เต็มปากว่าโอกาสที่กองทัพจะน้อมรับข้อเรียกร้องของอาเซียนให้ประนีประนอมและปล่อยตัวนักการเมืองและประชาชนหลายพันคนที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในปัจจุบันคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก

หากเป็นเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ผู้เขียนก็คงยังยืนกรานว่าการจะเอากองทัพพม่าออกจากการเมืองเป็นเรื่องยาก เพราะตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชมา กองทัพเป็นแกนกลางของการปกครองในพม่ามาตลอด กองทัพจึงไม่ได้เป็นเพียงกองทัพ แต่เป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ที่ธำรงอยู่คู่กับการเมืองแบบเก่า แต่กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ประกาศสนับสนุน CDM และรัฐบาลเอกภาพอย่างเต็มที่จะเป็นตัวแปรสำคัญ ก่อนหน้านี้ กลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มล้วนมีธงของตนเอง แต่ในตอนนี้ชัดเจนแล้วว่ากองทัพคือศัตรูร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในพม่า และหากพม่าจะสร้างการปกครองแบบสหพันธรัฐให้เป็นจริงขึ้นมาได้ กลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มต้องร่วมมือกันเพื่อโค่นกองทัพพม่าให้ได้ก่อน ประชาชนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยมีอคติด้านเชื้อชาติต่อกันมาก่อนจึงหันกลับมาร่วมมือร่วมใจกันตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเพื่อล้มล้างรัฐประหารและกีดกันกองทัพออกไปจากการเมืองแบบ once and for all

Advertisement

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image