ปฏิปทาในปฏิจจสมุปบาท

ปฏิจจสมุปบาทคืออริยสัจ มีรายละเอียดที่กล่าวถึงทุกข์ สมุทัยและนิโรธ ส่วนมรรคมิได้ระบุองค์ประกอบไว้ วงจรสายเกิดมีทุกข์เป็นความเบียดเบียนคับข้องและมีตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์ วงจรสายดับมีนิโรธเป็นการดับแห่งทุกข์และมีมรรคเป็นการนำออกจากทุกข์

พระพุทธองค์ตรัสเรียกการเกิดขึ้นของกองทุกข์ว่ามิจฉาปฏิปทาและการดับของกองทุกข์ว่าสัมมาปฏิปทา

วงจรสายเกิดเริ่มจากจิตไปสัมผัสวัตถุแล้วทำงานต่อเนื่องเป็นวัฏจักร กิเลสเป็นปัจจัยให้เกิดกรรม กรรมทำให้เกิดวิบาก จิตจะจำและตีความตามความเคยชินแล้วสะสมหรือผูกยึดไว้ในจิตใต้สำนึก กิเลสสะสมมากขึ้นตามกระแสของเหตุปัจจัยต่างๆ

กระแสแห่งเหตุมีกระบวนการผ่านช่องทางอายตนะ จึงมีการแยกตัณหาตามอายตนะภายนอกด้วย ตัณหาได้แก่กามตัณหา ภวตัณหาและวิภวตัณหา

Advertisement

ปัจจยาการเหล่านี้ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของจิตที่มีปฏิสัมพันธ์กับกายหรือสิ่งเร้าต่างๆ รวมทั้งเหตุปัจจัยที่นำไปสู่ความทุกข์และการเวียนว่ายตายเกิด การปฏิบัติที่ถูกต้องสามารถดับกิเลสในจิตได้ตามกำลังของสติ สมาธิและปัญญาของตน

ผู้สนใจการปฏิบัติทางจิตอาจตีความปฏิจจสมุปบาทว่าจิตเท่านั้นที่สำคัญ ที่จริงพระพุทธศาสนามิใช่จิตนิยมสุดโต่ง วัตถุมีผลต่อจิตได้ซึ่งในวงจรนี้ก็คือการกระทบที่อายตนะ นามรูปจะเกิดความสำเร็จที่ผัสสะแล้วส่งผลต่อไปเป็นเวทนา ตัณหาและอุปาทาน

จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์เก่าวัดม่วง อำเภออินทร์บุรี สิงห์บุรี
ความพยายามของธิดาพญามาร
สิ่งเร้าจากภายนอกขาดรากและเชื้อจากภายใน

 

Advertisement

สภาพที่เกิดขึ้นของขันธ์ 5 มีอายตนสัมผัสเป็นปัจจัย จึงมักอาศัยความสัมพันธ์ของจิตและวัตถุ โดยมีจิตหรือความคิดนึกเป็นต้นตอ เป็นต้นราก เป็นเชื้อและเป็นผู้สร้างผู้ก่อ

เมื่อกล่าวตามพระสูตร อายตนะภายในและอายตนะภายนอกไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องต่อกันแต่การเกาะเกี่ยวกันเกิดขึ้นก็เพราะมี “ฉันทราคะ” เป็นมูลเหตุ เราอาจสังเกตว่าฉันทะ ราคะ นันทิและนันทิราคะมักแสดงไว้ใกล้เคียงกับคำว่าตัณหาหรือแสดงองค์ประกอบของตัณหา

อนุสัยดังกล่าวนี้มาตามสายของอวิชชา สังขาร วิญญาณและนามรูป อายตนะภายในจะเกาะเกี่ยวอายตนะภายนอกที่ผัสสะ เมื่ออนุสัยเหล่านี้ดับ ความสัมพันธ์ที่ผัสสะจึงจะแยกขาดจากกัน สาเหตุที่แยกขาดจากกันก็เพราะการรับรู้ไม่มีสิ่งเร้าที่มาจากเหตุภายในนั่นเอง

จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์เก่าวัดประตูสาร สุพรรณบุรี
พระเทวทัตส่งนายขมังธนูลอบปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า
ได้รับโอกาสให้ละปัจจัยแห่งภพแต่กระทำไม่ได้เพราะติดภพเดิม

ความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกายและจิตเป็นทางสายกลาง ในกัจจานโคตตสูตรซึ่งพระพุทธองค์ทรงตอบคำถามเกี่ยวกับที่มาของสัมมาทิฏฐิ ทางสายกลางเป็นการไม่เข้าไปในทางที่สุดโต่ง 2 ขั้ว คือ สิ่งทั้งปวงมีและสิ่งทั้งปวงไม่มี ความมีในโลก (โลกเที่ยง จิตเที่ยง) ที่จริงไม่มี ส่วนความไม่มีในโลก (ชีวิตเป็นวัตถุตายแล้วสูญ) ก็ไม่มีเช่นกัน โลกมักพัวพันกันด้วยอุบายและความยึดมั่น

แนวทางสุดโต่งที่เชื่อว่าตายแล้วสูญ เชื่อว่ากายเป็นเพียงวัตถุที่ดับแล้วจะไม่เหลืออะไร จิตไม่เหลือ บุญบาปจึงไม่มี มีได้แต่การเสพสุขในช่วงที่กายยังไม่ดับ

สำหรับแนวทางสุดโต่งที่เชื่อว่าสิ่งทั้งปวงมี กลุ่มที่เชื่อเรื่องจิตเที่ยงจะเห็นว่าเมื่อกายดับ จิตจะยังคงอยู่เป็นนิรันดร์จึงมองว่าจิตตภาวนาเป็นทางออก กลุ่มที่เชื่อเรื่องโลกเที่ยงหรือกายเที่ยงจะเห็นว่าเมื่อกายดับ ธาตุปรมาณูจะยังคงอยู่จนพบกับความบริสุทธิ์เอง บางกลุ่มที่เชื่อเรื่องกายเที่ยงแต่เชื่อเรื่องกรรมเก่าด้วยก็จะใช้กายภาวนาล้างกรรมเก่าและป้องกันมิให้เกิดกรรมใหม่ที่จะมีผลไปถึงชาติภพหน้า

การทำงานของจิตมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะจิตเป็นผู้รับรู้ ปรุงแต่งและเก็บสะสมไว้ การถอนการยึดมั่นปรุงแต่งก็จะมีลำดับจากการรับรู้ส่วนที่หยาบไปสู่ส่วนละเอียดและจากส่วนที่เกี่ยวกับกายไปสู่ส่วนที่เกี่ยวกับจิตและอยู่ลึกในจิต ชาวพุทธจะเห็นความสัมพันธ์เหล่านี้และจะสลัดออกจากความยึดมั่นทั้งที่มีต่อกายและต่อจิต

สำหรับการเวียนว่ายตายเกิดของชีวิต คำสอนก่อนพุทธกาลมักเชื่อว่าการหลุดพ้นสู่ความเป็นนิรันดร์ต้องอาศัยพระผู้เป็นเจ้า มักเชื่อกันในเรื่องพระผู้เป็นเจ้าลิขิต

ในพระพุทธศาสนา การเวียนว่ายตายเกิดมาจากการผลักดันไปของกิเลสในจิต เมื่อสิ้นกิเลสการเกิดใหม่จึงจะไม่มี กายและจิตเป็นเหตุของการเกิดและการดำเนินไป ปฏิจจสมุปบาทในหลายพระสูตรชี้ว่านามรูปและวิญญาณต่างเป็นปัจจัยต่อกันและเป็นเหตุของการเวียนว่ายในสังสารวัฏ

วิญญาณอาศัยนามรูปเป็นแดนเกิดและย่อมหมุนกลับมาจากนามรูป สัตว์โลกจึงมีความเป็นไปของการเกิด แก่ ตาย จุติและอุบัติ เวียนว่ายอยู่ซ้ำๆ

จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดโพธิ์ปฐมาวาส สงขลา
พุทธสาวกเห็นปฏิจจสมุปบาท เมื่อเห็นแจ้งถึงเหตุที่ซ้อนกันครบก็จะหลุดพ้น
(เอื้อเฟื้อภาพถ่ายโดย รศ.ดร.กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ)

ปฏิสนธิวิญญาณอาศัยนามรูปที่เริ่มมาจากต่อมน้ำใสในครรภ์มารดาซึ่งเมื่อเติบโตขึ้นถึงระยะที่มีปฏิสนธิวิญญาณหยั่งลงจึงเกิดเป็นชีวิตขึ้น ชีวิตที่เป็น นามรูปและมีวิญญาณเป็นปัจจัยจึงจะสืบต่อได้ เริ่มจากมีอาหารในครรภ์มารดาหล่อลี้ยงจนกระทั่งคลอด เมื่อวิญญาณของผู้เยาว์สืบต่อ นามรูปของชีวิตก็กระทบกับผัสสะ เกิดเวทนา ตัณหาและอุปาทาน ชีวิตก้าวคืบไปเพื่อภพ ชาติ ชรามรณะ ฯลฯ

พระพุทธองค์ตรัสว่า “เมื่อนามรูปไม่มีวิญญาณจึงไม่มี เพราะนามรูปดับวิญญาณจึงดับ”

ในมหาปทานสูตรทรงชี้เพิ่มว่าการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์เป็นการพิจารณาเห็นการเกิดขึ้นและสิ้นไปในอุปาทานขันธ์ 5 พร้อมเหตุ นับตั้งแต่รูป เหตุแห่งรูป เวทนา เหตุแห่งเวทนา สัญญา เหตุแห่งสัญญา สังขาร เหตุแห่งสังขาร และวิญญาณและเหตุแห่งวิญญาณ การเห็นนี้ดำเนินไปจนกระทั่งจิตหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหมด

ในหมู่ผู้แนะนำการปฏิบัติอาจมีข้อสังเกตประการหนึ่งว่าปฏิจจสมุปบาทเป็นข้อปฏิบัติหรือไม่ บ้างถือว่ามิใช่ข้อปฏิบัติ บ้างเห็นว่าถึงปฏิบัติตรงๆ ไม่ได้ก็ควรจำไว้พิจารณาเพราะจิตจะจำตาม

วงจรปฏิจจสมุปบาทแสดงปัจจยาการต่างๆ ที่ให้แนวทางการปฏิบัติ การปฏิบัติจะต้องละเอียดตามปัจจยาการที่เห็นได้เช่นถ้าตัดภพก็ต้องเห็นภพและเห็นอุปาทานอันเป็นปัจจัยแห่งภพแล้วตัดอุปาทานมิให้ก่อให้เกิดภพ หรือถ้าตัดตัณหาก็ต้องตัดเวทนามิให้สืบต่อเป็นตัณหา ฯลฯ มรรคปฏิปทาจึงนับว่าแฝงอยู่ในปฏิจจสมุปบาทสายดับด้วย

การเห็นอริยสัจเป็นการเห็นอนุสัยกิเลสทั้งหมด การปฏิบัติระดับนี้จึงไม่ใช่ข้อปฏิบัติเบื้องต้นที่เป็นอุบายภาวนาหากเป็นการเจริญอริยมรรค
เหตุที่ซ่อนอยู่และผลที่ปรากฏต่อจิตนั้นเชื่อมกัน การเดินมรรคเป็นการปฏิบัติให้ละถึงเหตุ เมื่อเหตุดับผลก็จะดับไปด้วยกัน เหตุและผลมีความยากต่อการเห็นตามขั้นของปัจจยาการต่างๆ

การตัดกิเลสขึ้นอยู่กับความละเอียดของกิเลสที่เห็น เห็นเหตุที่ใดก็ตัดเหตุที่นั่น

การกำหนดรู้ทุกข์แล้วละเหตุแห่งทุกข์จะเกิดการรู้แจ้งถึงการดับของทุกข์ ดังนั้น เมื่อกำหนดชรามรณะจะพิจารณาละปัจจัยเช่นการเกิด ข้อปฏิบัติคืออริยมรรค มรณสติอาจเป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้นที่ใช้กำหนดรู้ชรามรณะแต่กระทำได้จนถึงระดับที่ช่วยละอาสวะ

การลงมือปฏิบัติสามารถกระทำที่จิตขณะใดก็ได้โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ แนวปฏิบัติจะอาศัยอริยมรรคกับทุกๆ ปัจจยาการ ถ้ากิเลสเกิดขึ้นผ่านอายตนะใดก็อาศัยมรรคผ่านอายตนะนั้น

สิ่งเร้าจากภายนอกจะเข้ามากระทบจิต การดำริของจิตมีผลต่อตัณหา สติและปัญญาจึงมีความสำคัญในการสกัดกั้นไม่ให้เกิดตัณหาขึ้น สิ่งเร้าจะเข้ามาทางอายตนะ เกิดการรับรู้เป็นรูปหรือนามขึ้น เกิดการสัมผัส เกิดเวทนาแล้วเกิดตัณหา ตัณหาจะเกิดและเบ่งบานจากอายตนสัมผัสนั้นๆ

สติปัฏฐาน 4 เป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานสายตรงจากฐานของสติด้วยการสังเกตที่กายและจิตเป็นลำดับ จิตเริ่มอยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน การละอารมณ์ที่เกิดขึ้นจะช่วยมิให้สิ่งเร้าที่มาสัมผัสจิตปรุงแต่งไปเป็นตัณหาและอุปาทาน

กายานุปัสสนาเป็นการกำหนดรู้กาย เป็นการระงับกายสังขาร

เวทนานุปัสสนาเป็นการกำหนดรู้เวทนา เป็นการระงับจิตตสังขารที่เป็นเวทนา

จิตตานุปัสสนาเป็นการกำหนดรู้จิต เป็นการระงับจิตตสังขารที่ปรุงแต่งด้วยราคะ โทสะและโมหะรวมทั้งเป็นการทำจิตให้ตั้งมั่น

ธัมมานุปัสสนาเป็นการกำหนดรู้สิ่งที่อยู่ในจิตเมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว เป็นการพิจารณาให้เกิดการรับรู้ถึงความไม่เที่ยงและการดับไปของกิเลส

ปฏิจจสมุปบาทเป็นอริยสัจที่ว่าด้วยการเกิดและสิ้นไปของอนุสัยกิเลส สติและสมาธิต้องละเอียดมาก พระโสดาบันละสังโยชน์เบื้องต้น 3 ได้ที่อุปาทานและต้องขจัดอุปาทานที่เหลือตลอดจนตัณหาและอวิชชาต่อไป

กามตัณหา ภวตัณหาและวิภวตัณหาจะมีความละเอียดลดหลั่นกันลงไปและจะต้องอาศัยสมาธิที่แน่วแน่ในการเห็นตามลำดับจนถึงอวิชชาที่ว่าไว้ในปฏิจจสมุปบาทซึ่งเป็นสภาวะความหลงที่ละเอียดที่สุด

หลวงปู่ดูลย์ อตุโลแนะนำว่าการพิจารณาปฏิจจสมุปบาทไม่จำเป็นต้องกระทำให้ครบทุกท่อนเนื่องจากยาวไป ความสำคัญอยู่ที่การพิจารณาเพื่อละสังขารซึ่งอวิชชาจะถูกละไปด้วยกัน

ชาติชรามรณะเป็นผลของกรรม กรรมมีกิเลสเป็นปัจจัย กิเลสอาจถูกเร้าจากภายนอกแต่มีรากจากอาสวะที่หมักอยู่ภายในและอาจแสดงฤทธิ์เดชโดยที่มิได้มีสิ่งเร้าเข้ามากระทบเลย สติในจิตอาจช่วยให้เห็นกิเลสที่ผุดขึ้นมาทำงาน

สติที่ว่องไวอาจสกัดกิเลสถึงตัณหาแต่ก็ยังตัดตัณหาได้ไม่หมด การรอให้อาสวะค่อยๆ ขึ้นมาที่พื้นผิวของจิตก็ต้องใช้เวลายาวนานและรับรู้ได้ยาก จำเป็นต้องอาศัยสมาธิให้ปัญญาเข้าไปให้ถึงชัยภูมิของอนุสัยกิเลส รื้อปมสันดานแล้วดับให้มอดสนิท

อุปาทานเสมือนไฟที่มีตัณหาเป็นเชื้อ เชื้อนี้ปะทุได้เสมอเพราะมีอวิชชาเป็นราก อริยมรรคทำให้กิเลสอ่อนแรง เมื่อดับฤทธิ์แห่งอวิชชาสำเร็จ อวิชชาจึงจะหมดสิ้นหนทาง

การดับของรากอวิชชาทำให้เชื้อตัณหาที่ยังคุได้ดับมอดลง ทำให้เชื้อตัณหาที่เคยถูกสิ่งเร้ากระพือให้เป็นไฟก็ไม่มีเชื้อให้เกิดไฟอีก แม้ในเรือนมีวัสดุติดไฟก็ไม่อาจไหม้ไฟได้

สัมมาปฏิปทาในปฏิจจสมุปบาทเป็นการหยุดยั้งอนุสัยกิเลส เมื่อจิตเห็นตัณหาและอวิชชาก็จะสามารถหยุดได้อย่างถึงรากและเชื้อ

ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image