สุจิตต์ วงษ์เทศ : ระบบจัดการน้ำของรัฐสุโขทัย ด้วยเทคโนโลยีก้าวหน้าในยุคนั้น

กรณี “สุโขทัย ไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย” ผมไม่มีเจตนาจะเขียนต่อเนื่องยืดยาวและยืดยาด อย่างที่ทำมาหลายวัน แล้วจะทำต่อไปอีกเรื่อยๆ

ดังนั้น จึงไม่มีอะไรใหม่หรือก้าวหน้ากว่าที่เคยเรียบเรียงพิมพ์เป็นเล่มขายดีเมื่อนานมากแล้ว (นักวิชาการอย่ามาหวังอะไรจากตรงนี้ เพราะที่นี่ไม่ใช่นักวิชาการ ขอให้พิจารณาตัวเองกับพวกเดียวกันเองว่ามีอะไรใหม่บ้าง?)

ยิ่งกว่านั้น ยังอาจหลงลืมเองว่าผมเคยเขียนไว้แล้ว พิมพ์เป็นเล่มขายหมดนานแล้ว หากผู้ใดพบผิดปกติแบบนี้ก็ไม่ต้องสงสัย ผมลืมไปเอง (เพราะเป็นผู้รู้น้อย และเหลือเวลาไม่มาก)

เหตุที่ต้องมาทำต่อเนื่องเรื่องรัฐสุโขทัย โดยทบทวนของเก่ามาเล่าใหม่ ก็เพราะการไม่ทำหน้าที่ของครูบาอาจารย์นักวิชาการโบราณคดีทางการ (ทั้งในมหาวิทยาลัย และในกระทรวง ทบวง กรม กองต่างๆ) เมื่อสังคมเจ็บท้องข้องใจสงสัย แต่พวกเขาไม่อธิบายแบ่งปันข้อมูลข่าวสารใดๆ ทั้งนั้น

Advertisement

หนักข้อกว่านั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบางคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย (เลื่อมใสอำนาจนิยมเรียกหาเผด็จการ) แทนที่จะทักท้วงถกเถียงด้วยหลักฐานและเหตุผลทางวิชาการประวัติศาสตร์โบราณคดี กลับทำอย่างที่เรียกว่า “มือไม่พาย” เสือกเอา “ส้นตีนราน้ำ” กล่าวร้ายป้ายสีการเสนอข่าววิชาการเรื่องสุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกว่า “เสี้ยม” ให้เกิดขัดแย้งแตกแยกต่างๆ นานา

ซึ่งผมคิดตรงข้ามว่านี่คือข่าวที่มีคุณค่ามหาศาล ก่อให้เกิดการงอกเงยและงอกงามทางวิชาความรู้ประวัติศาสตร์โบราณคดี ที่พวกอำนาจนิยมสมคบกันปกปิดครอบงำสังคมไทยมาเกือบ 100 ปี ว่าแท้จริงแล้วสุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย

 

Advertisement

สุโขทัย “รัฐในอุดมคติ”

เมื่อวาน (จันทร์ 25 สิงหาคม 2559) ผมเล่าเรื่องสุโขทัย เมืองแล้งน้ำในหน้าแล้ง เมืองน้ำล้นในหน้าฝน เกี่ยวกับระบบการจัดการน้ำโดยรวมๆ

วันนี้จะเล่าถึงรายละเอียดการบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่ในเมืองจนถึงนอกเมืองสุโขทัย โดยยกจากหนังสือ แคว้นสุโขทัย “รัฐในอุดมคติ” พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน พ.ศ. 2531

เล่มนี้ผมเรียบเรียงจากงานวิจัยของ อ. ศรีศักร วัลลิโภดม เรื่อง เมืองโบราณ             ในอาณาจักรสุโขทัย เสนอต่อสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2530 (งานวิจัยนี้ต่อมาได้พิมพ์เป็นเล่มวางขายไม่ทั่วไป โดยสถาบันไทยคดีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2532, สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งที่ สอง พ.ศ. 2552)

การบริหารจัดการน้ำรอบๆ เมืองสุโขทัย เป็นเทคโนโลยีก้าวหน้าในยุคนั้น แต่ถูกสังคมยุคนี้มองข้ามไปให้ความสำคัญแต่วัดวาอารามกับลอยกระทงเท่านั้น

เกือบ 30 ปีที่แล้ว ถ้อยคำภาษาและความคิดย่อมขาดตกบกพร่องไม่น้อย กรุณาอ่านด้วยเมตตาผู้น้อย แล้วอย่าเชื่อ

 

สุโขทัยระบบน้ำก้าวหน้า เพราะมีปัญหาเรื่องน้ำ

เมืองสุโขทัย เป็นเมืองที่มีผู้เชี่ยวชาญการจัดผังเมืองอย่างมีระเบียบแบบแผนชัดเจน และเป็นเมืองที่มีผู้ชำนาญการจัดระบบน้ำในการบริโภคอุปโภค

ผังเมืองของเมืองสุโขทัยจึงเกี่ยวข้องกับระบบชักน้ำและระบายน้ำ ที่เชื่อมโยงกันได้หมดทั้งนอกเมืองและในเมือง

เมืองสุโขทัยจึงมีผังเมืองแตกต่างไปจากบรรดาบ้านเมืองใหญ่ๆ ที่อื่นๆ ในดินแดนสยาม ทั้งในสมัยก่อนหน้าและสมัยหลังๆ เพราะระบบชักน้ำและระบายน้ำของเมืองสุโขทัยมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและมีขนาดใหญ่โตมากกว่าบ้านเมืองอื่นๆ

เหตุที่ระบบน้ำก้าวหน้าและใหญ่โตมากกว่าที่อื่นๆ ก็เพราะเมืองสุโขทัยตั้งอยู่บริเวณที่สูงเชิงเขาห่างจากลำน้ำยมประมาณ 12 กิโลเมตร จึงอาศัยน้ำจากลำน้ำยมไม่ได้

ฤดูฝนมีน้ำป่าไหลหลากลงมาจากเทือกเขามากเกินต้องการ และมักรุนแรงจนทำลายเหย้าเรือนเรือกสวนไร่นา

ฤดูร้อนก็แล้งน้ำและร้อนระงม

ซ้ำมิหนำน้ำซึมน้ำซับจากใต้ดินก็อยู่ลึกลงไปเกินบาดาล

เมื่อคราวแรกที่เริ่มศึกษาสภาพแวดล้อมของเมืองสุโขทัย เพื่อปรับปรุงให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ มีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญทางธรณีวิทยาพยายามขุดเจาะลงไปใต้ดินเพื่อสำรวจหาแหล่งน้ำ ก็ปรากฏว่าแหล่งน้ำใต้ดินอยู่ลึกมากจนเกินกำลังที่จะขุดมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ (ศรีศักร วัลลิโภดม : ผลการวิจัยฯ 2530)

สมัยเมืองสุโขทัยก็ย่อมเป็นเช่นเดียวกันคือหวังพึ่งน้ำใต้ดินไม่ได้

มีหนทางเดียวเท่านั้นที่จะมีน้ำใช้ตลอดปีคือกว้านเอาน้ำมาเก็บกักไว้

กว้านน้ำจากที่ไหน?

ก็น้ำฝนน้ำป่าที่ไหลบ่าลงมาจากเทือกเขาในฤดูฝนจนมากเกินต้องการนั่นแล

ด้วยเหตุนี้ ชาวเมืองสุโขทัยสมัยโบราณจึงสร้างสรรค์และหยิบยืมเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาจัดระบบน้ำไว้ใช้บริโภคอุปโภค คือ ขุดตระพังหรือสระน้ำไว้กักเก็บน้ำ และพูนคันดินขึ้นมาเป็นแนวชักน้ำระบายน้ำใส่ตระพัง

จะสังเกตเห็นความแตกต่างว่าบ้านเมืองในยุคเดียวกันที่อยู่ริมแม่น้ำ ไม่จำเป็นต้องขวนขวายจัดระบบน้ำ เพราะใช้น้ำจากแม่น้ำ และบ้านเมืองบริเวณน้ำท่วมถึงเช่นพระนครศรีอยุธยาไม่ต้องขุดตระพังหรือสระน้ำไว้เก็บกักน้ำ เพราะมีน้ำใช้เหลือเฟือจนเกินต้องการเมืองพระนครศรีอยุธยาจึงต้องขุดคลองเพื่อระบายน้ำในเมืองทิ้งไปให้เร็วและให้มากที่สุด

เพราะฉะนั้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเกี่ยวกับการจัดระบบน้ำของเมืองสุโขทัยจึงมิได้เกี่ยวข้องกับความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ “พลังน้ำ” เพื่อการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพดังที่มักสรุปกัน

แต่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความแห้งแล้งและความโหยหิว

คือ – หิวน้ำ

 

ระบบน้ำสมัยแรก ที่วัดพระพายหลวง

บริเวณที่เรียกวัดพระพายหลวงคือเมืองสุโขทัยสมัยแรก

คูน้ำล้อมรอบวัดพระพายหลวงจึงเป็นคูเมืองสุโขทัยสมัยแรก ทุกวันนี้ชาวบ้านเรียกคูน้ำหรือคูเมืองนี้ว่า “ห้วยแม่โจน”

คูน้ำห้วยแม่โจนที่เป็นคูเมืองสมัยแรกนี้ก็คือ การจัดระบบน้ำสมัยแรกด้วย

ที่มุมคูเมืองด้านทิศเหนือต่อกับด้านทิศตะวันตกมีแนวคันดินและร่องน้ำ

แนวคันดินและร่องน้ำสายนี้ตัดพุ่งออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นระยะทางมากกว่า 2 กิโลเมตร เพื่อชักน้ำป่ามากักเก็บไว้ในห้วยแม่โจน

ถ้ามีน้ำเหลือใช้จากการบริโภคและอุปโภค ก็จะมีทางน้ำไขไปลงลำน้ำแม่ลำพันทางด้านทิศตะวันออก

 

ระบบน้ำขนาดใหญ่ คูน้ำกำแพงเมืองตรีบูร

การจัดระบบน้ำที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนขึ้น ก็คือคูเมืองสุโขทัยสมัยที่สองที่มีกำแพงเมืองลักษณะ “ตรีบูร”

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายไว้ว่า เมืองสุโขทัยมีกำแพงดินล้อม 3 ชั้น และมีคูน้ำล้อม 3 ชั้นเช่นกัน โดยเฉพาะคูน้ำชั้นที่สามอยู่ด้านในกำแพงเมืองชั้นที่สามแตกต่างไปจากเมืองอื่นๆ

น้ำป่าที่มีคันดินและร่องน้ำชักมาจากเทือกเขาด้านตะวันตกจะไหลผ่านคูเมืองแต่ละชั้นเข้าไปพักอยู่คูเมืองด้านในสุดซึ่งอยู่ภายในกำแพงเมืองชั้นที่สาม

ต่อจากนั้นจะมีร่องน้ำชักน้ำเข้าไปกลางเมือง อันเป็นบริเวณที่มีวัดสำคัญและมีตระพังขนาดใหญ่ๆ รออยู่มากมายหลายแห่ง

 

ระบบน้ำในเมือง ตระพังและคูน้ำรอบวัด

ภายในเมืองสุโขทัยมีวัดวาอารามสำคัญๆ หลายวัด

แต่ละวัดมักมีคูน้ำล้อมรอบ และเกือบทุกวัดมีตระพังหรือสระน้ำขนาดใหญ่เล็กต่างกันไปตามฐานะของวัด

คูน้ำและตระพังในเมืองจะผันน้ำต่อมาจากคูเมืองด้านในสุดโดยมีทางน้ำชักน้ำเข้าไป

ทางน้ำกลางเมืองจะแยกเป็น 2 สาย คือ สายเหนือและสายตะวันออก

สายเหนือ ชักน้ำไปเข้าตระพังวัดสระศรี แล้วระบายไปตระพังอื่นๆ ทางด้านเหนือ เช่นตระพังสอ เป็นต้น ถ้าน้ำมากเกินไปก็จะล้นไปออกคูเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วผันน้ำจากคูเมืองลงลำน้ำแม่ลำพันออกทุ่งราบด้านตะวันออกหรือลงลำน้ำยมส่งไปเลย

สายตะวันออก ชักน้ำเข้าตระพังเงินและคูน้ำล้อมวัดมหาธาตุ รวมทั้งวัดอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง แล้วผ่านน้ำไปลงตระพังทองด้านตะวันออก ถ้าน้ำมากเกินไปก็จะล้นลงคูเมือง แล้วผันทิ้งไปลำน้ำแม่ลำพันเหมือนสายเหนือ

วัดในเมืองบางวัดอยู่นอกเส้นทางน้ำก็จะฝังท่อน้ำดินเผาไปเชื่อมกับทางน้ำ แล้วชักน้ำไปเข้าคูล้อมรอบวัดได้สบายมาก

 

บ่อน้ำกรุอิฐของชุมชนในเมือง

ภายในกำแพงเมืองสุโขทัย มีย่านที่อยู่อาศัยหรือชุมชนอยู่บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือ

ในย่านนี้มีบ่อน้ำจำนวนมาก เป็นรูปกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 1 เมตร ทุกๆ บ่อกรุด้วยอิฐ

บ่อน้ำกรุอิฐเหล่านี้คอยรับน้ำซึมจากบรรดาคูน้ำวัด ตระพังกลางเมือง และทางน้ำที่ชักน้ำออกไปนอกเมือง ทำให้บ่อน้ำเหล่านี้มีน้ำเต็มทั้งปี

ผู้คนที่อยู่ในกำแพงเมืองจึงมีฐานะทางสังคมสูงพอสมควร เพราะได้กินน้ำบ่อกรุอิฐที่จืดสนิทและเย็นยะเยือก

 

[พรุ่งนี้อ่านรัฐสุโขทัย จัดการควบคุมน้ำป่ากักเก็บไว้ใช้ในเมือง]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image