เคล็ดลับการดำเนินชีวิต โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

การดำเนินชีวิตของคนเราแต่ละคนย่อมมีปัจจัยหลายอย่างเป็นเป้าหมายชีวิต และน่าจะมี “เคล็ดลับ” หรือภาษาทางวิชาการหน่อยๆ ก็คือว่า “กลยุทธ์” หรือ “ยุทธศาสตร์” เพื่อให้ได้บรรลุตามเป้าประสงค์ของแต่ละคนๆ ไป ด้วยต้นทุนชีวิตที่เกิดมาได้มาจากพ่อ แม่ พอๆ กัน คือ “อวัยวะครบ 32” กล่าวคือ “รูป” กับ “นาม” มาเป็นที่ตั้งแล้ว การที่ดำเนินชีวิตหรือขับเคลื่อนชีวิตเรานี้ ในบทก่อนๆ ที่ผู้เขียนได้พูดถึงเบื้องต้นคือ เข้าใจชีวิตให้ถูกต้อง และชีวิตจะมีค่าถ้าใช้เป็นสำหรับข้อสองของเคล็ดลับ คือ “ชีวิตจะโดดเด่นเพราะสันโดษ”

คนเราทุกคนเกิดในสังคมมนุษย์ อยากจะถีบตัวได้โดดเด่น เป็นที่รู้จักในสังคมอยู่เสมอๆ และก็พอไปได้ ในทุกองค์กร… แต่ข้อเท็จจริงในสังคมไทยเราแล้ว ก็จะพบว่าคนส่วนใหญ่ยิ่งในสังคมชนบทแล้ว เขารู้สึกว่าอยู่ที่ไหนๆ จะทำอะไร ไม่ค่อยจะโดดเด่นเพราะว่าจิตใจนั้นหดหู่ “เป็นคนมีปมด้อยตลอดเวลา” เช่น บางคนใส่สร้อยเส้นเล็กแล้วไม่กล้ามานั่งข้างหน้านี้ เพราะกลัวคนที่เห็นว่าคนใส่สร้อยเส้นเล็ก ไม่มีสร้อยเส้นโตเหมือนคนอื่นเขา บางคนอายุยังน้อย บางคนผมหงอกไม่กี่เส้นเลยยังต้องนั่งแอบๆ ซ่อนๆ เพราะบางคนกลัวคนอื่นจะว่าคนมีผมหงอก บางคนก็ว่าฉันเป็นคนฐานะไม่ดี ต่างๆ เหล่านี้เป็นการสร้างปมด้อย ด้วยการสร้างเงื่อนไขให้กับตัวเอง : ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ไม่ถูกต้อง บางครั้งเมื่อเราทำอะไร ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา เราก็เข้าไปเกี่ยวเป็นภาวะเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาทันที บางครั้งกับไปน้อยอกน้อยใจได้เป็นวันๆ อันนี้ก็เกิดมาจากสาเหตุที่ว่า…จิตของเรายังไม่สันโดษ

คนหลายคนยังนึกถึงรังเกียจ “ความสันโดษ” ดังนี้เกิดจากความไม่เข้าใจในความหมายของคำว่า “สันโดษ” เพราะความหมายในภาษาบาลี และภาษาไทย มีศัพท์ที่นำมาใช้คล้ายๆ กัน คือ คำว่า “สันโดษ” กับ “มักน้อย” ซึ่งที่จริงแล้วคำสองคำนี้มีความหมายต่างกัน แต่เรามักพูดรวมกันว่า คนนี้เป็นคนมักน้อยสันโดษ เมื่อคนพูดพูดไม่เป็น คนฟังเข้าใจผิดและก็โทษธรรมะ ธรรมะจึงไม่เกิดประโยชน์แก่คนนั้น ถ้าเราต้องการความโดดเด่นในชีวิต ยังไม่พบธรรมข้อใดที่จะเสริมสร้างในจิตใจแล้วทำให้เราโดดเด่นได้ เท่ากับการที่เราปฏิบัติธรรมะข้อที่ว่าด้วย “สันโดษ” จึงเป็นเรื่องดี และเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดยังไม่เข้าใจได้ดีจึงควรต้องทำ และความเข้าใจ ให้ถ่องแท้เสียก่อน

คำว่า “สันโดษ” แปลว่า ยินดี พอใจ อิ่มใจ ชื่นใจ สบายใจนั่นเอง คำว่าสันโดษนี้ มีคุณค่าดีงามมากๆ หากเราได้ยินคำว่าแหมน่าดีใจ น่าชื่นใจจริงเลยที่ได้นั่งอยู่ที่นี่ อยู่ใกล้ใคร เรารู้สึกชื่นใจ สบายใจ คนที่นั่งอยู่ใกล้กับเรา เขาอาจคอพับคออ่อน แต่เราก็ชื่นใจ สบายใจกับสิ่งที่เราเห็นและเป็นอยู่ อย่างนี้แหละเรียกว่า “สันโดษ” ความรู้สึกเหล่านี้ได้สร้างความโดดเด่น ไม่อึดอัดให้กับเรา ถ้าเราไม่มีสันโดษแล้ว จะอยู่ที่ไหน จะทำอะไรก็จะเต็มไปด้วยความอึดอัด ขัดใจ ซึ่งเกิดมาจากที่ “จิต” ของเราวางไว้ผิดที่ นั่นคือ การขาดสันโดษ

Advertisement

ความ “พอควร” นั้น เรา “พอควร” ต่ออะไรบ้าง ประการแรก คือ “พอควรแก่ฐานะของตนเอง” เช่น เป็นแม่ เป็นลูกเป็นศิษย์ เช่น ในฐานะที่เป็น “ลูก” จะยกฐานะให้ทัดเทียมกับ “พ่อแม่” ในลักษณะของการเป็นใหญ่ ซึ่งก็เกินไป การทำอย่างนี้เรียกว่าไม่ควรแก่ฐานะ หรือเรียกว่าเป็นคนขาด “วินัย” ไม่รู้จัก “หน้าที่” เราต้องระลึกเสมอว่าฐานะของ “พ่อแม่” นั้นคือ ผู้ที่ต้องดูแลบริบาลคุ้มครองเรา เราผู้เป็นลูกจึงควรวางตัววางหลักให้รู้ที่สูงที่ต่ำ พอเหมาะพอควร

ประการที่สอง : “ควรแก่กำลัง” เรียกว่า “สมรรถนะ” เช่น เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ มีความประพฤติอย่างพอเหมาะพอควร

ประการที่สาม : “ควรแก่ศักดิ์ศรี” จะต้องเป็นคนที่รักศักดิ์ศรี เรื่องศักดิ์ศรีนี่ก็สำคัญ บางคนเข้าใจผิดและเอาศักดิ์ศรีไปใช้ในทางที่ผิด ที่ให้ควรแก่ศักดิ์ศรี และทำดีให้พองาม หากนำศักดิ์ศรีไปใช้ถูกทางแล้ว ก็จะทำให้เกิดความอิ่มใจ สุขใจ อยู่ที่ไหนก็โดดเด่น ก็จะเป็นความโดดเด่นโดยไม่ต้องขอร้องให้ใครเชิดชู ถ้าเป็นคนร่ำรวย ก็รวยอย่างมีอริยทรัพย์ ไม่มีใครจะมาแย่งชิงจากเราไปได้ กล่าวคือ เป็นดีเด่นที่มีด้วยลำแสงของตัวตนเอง ประหนึ่งเป็น “ดาวฤกษ์” ไม่ใช่ดาวพระเคราะห์ และก็ไม่มีใครจะมาดับแสงตัวตนของเราไปได้

Advertisement

พระพุทธองค์ตรัสไว้ชัดเจนว่า “สนฺตุฏฐี ปรมํ ธนํ” : ความสันโดษ หรือความยินดี พอใจนั้น เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง เพราะเราไม่พอใจจึงกลายเป็นคนจน และจนเพราะไม่รู้จักพอ ไม่ใช่จน เพราะไม่มี

“ความยากจน” : มีความหมายซึ่งตรงๆ คือ ความขาดแคลน ความไม่มี ซึ่งทรัพย์สิน เงินตรา แต่ในสังคมคนไทยเราพูดถึงสภาพความยากจนนั้นมีมากหลากหลาย ถึงแม้ว่าเขาจะจัดประชุมธนาคารโลก แต่ถ้ายังขาดคุณภาพส่วนนี้ ผู้ที่มาประชุมนั่นแหละจะเป็นคนจนเสียเอง เพราะต่างก็วางเป้าหมายไว้แล้วว่าจะแสวงหาผลประโยชน์อะไรเพื่อประเทศของตนได้บ้าง ไม่ได้มาด้วยหัวใจที่มีความรู้สึกว่าอิ่มใจ พอใจ สุขใจ แล้วจึงขาดความพร้อมที่จะช่วยเหลือ เกื้อกูล ในการสร้างสิ่งที่จะให้เกิดสันติสุข ให้เกิดสันติภาพแท้จริงในมวลมนุษย์ เมื่อความสันโดษไม่มี ความพอใจไม่เกิด คนทั้งหลายจึงกลายเป็นคนยากจนเสมอหน้ากัน มีกลอนบทหนึ่งสอนให้เรารู้จักแก่จนอย่างน่าฟังว่า…

ความไม่พอใจจนเป็นคนเข็ญ พอแล้วเป็นเศรษฐีมหาศาล จนทั้งนอกจนทั้งในไม่ได้การ จนคิดอ่าน แก้จนเป็นคน “พอ”

ฉะนั้น ขอให้เราฝึก… “ความพอ” คือ ฝึกให้เราพออกพอใจ อิ่มอกอิ่มใจ ชื่นใจเสียบ้าง อย่ากลายเป็นคนที่หิวโหยกระหายจนตกอยู่ในอบายภูมิ โดยเฉพาะอบายภูมิตัวหนึ่งก็คือ “เปรต”

เคล็ดลับที่สาม : คือ “ชีวิตไม่มีโทษเพราะเห็นถูก” ความคิดเห็นของคนเราสามารถแยกแยะได้ 3 ทางคือ 1.เห็นผิด 2.เห็นถูก 3.เห็นแจ้ง

การเห็นผิดนั้น เป็น… มิจฉาทิฏฐิ เป็นวัฏจักรของชีวิต เมื่อเห็นผิดก็พูดผิด ทำผิด เลี้ยงชีวิตผิด มีความพยายามผิดระลึกผิด และตั้งมั่นก็ผิดไปด้วยเช่นกัน เรียกกระทงหลงทาง ผิดทาง ชีวิตผิดไปเลย

“กระบวนการชีวิต” จะดำเนินไปตามครรลองอย่างนี้ มีความคิด ความเห็น การพูด การกระทำ การเลี้ยงชีวิต ความพยายาม ระลึกได้ ตั้งมั่นแห่งจิตได้ เมื่อเป็น “กระบวนการ” ก็จะปรากฏดังนี้คือ

คนเรามีความเห็นแล้วจึงพูด หรือพูดตามความคิดเห็น ทำหน้าที่คิดเห็น เลี้ยงชีวิตตามที่คิดเห็น พยายามตามที่คิดเห็น ระลึกตามที่คิดเห็น ตั้งมั่นแห่งจิตที่คิดเห็น ภาวะชีวิตเป็นจริงเช่นนี้

แต่ทำไมเมื่อบางคน คิดเห็นแล้วพูด บางคนกลับมีทุกข์ บางคนไม่มีทุกข์ ทั้งนี้เพราะว่า ทุกข์หรือสุขนั้นขึ้นอยู่กับ การกระทำ ประกอบด้วย มิจฉาทิฏฐิ หรือสัมมาทิฏฐิ คำว่ามิจฉาทิฏฐิ คิดเห็นแล้วพูดตามที่เห็นผิดก็มีความทุกข์ คิดเห็นผิดแล้วกระทำก็มีความทุกข์ คิดเห็นผิดเลี้ยวชีวิตก็มีทุกข์ คิดเห็นผิดแล้วก็ระลึกได้ก็มีความทุกข์ คิดเห็นผิดแล้วตั้งสมาธิก็มีความทุกข์ใหญ่

หากจะพูดได้ว่า “สัมมาทิฏฐิ” จึงมีบทบาทสำคัญ “กำหนดพฤติกรรม” ดังกล่าว เราจะเห็นได้ว่าเรื่องอริยมรรคมีองค์แปด เมื่อเราย่อลงมามี 3 ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็น “ปัญญา”… สัมมาวาจา สัมมาสัมมันตา สัมมาอาชีวะ เป็น “ศีล”… สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็น.. “สมาธิ”

ศีล สมาธิ ปัญญา คือ ไตรสิกขา เกิดความรู้ความชัดแจ้ง นำไปปฏิบัติได้ดังนี้ คือ : ความระมัดระวัง คือ “ศีล”, ความตั้งใจ คือ “สมาธิ”, ความไม่ประมาท คือ”ปัญญา”

เคล็ดลับข้อที่สี่ : “ชีวิตต้องปลูกฝังความไม่ยึดติด” : ประการสุดท้ายนี้สำคัญมากที่สุด ต้องปลูกฝังทุกวันทุกเวลา หลวงพ่อปัญญาฯท่านพูดให้พระพุทธรูปตั้งบวชพรรษาแรกๆ ตลอดมาทุกๆ องค์ที่บวช เป็นการให้สติ ให้ความคิด ให้เกิดความตระหนักใส่ใจ ปฏิบัติให้ได้ ในการถอนความยึดมั่นถือมั่นได้อย่างดี คือ “วันนี้เธออยู่กับข้า แต่วันหน้าไม่แน่” ท่านสอนให้ถอนความยึดติด

แต่คนส่วนใหญ่ที่เป็นอยู่กันนี้ ไม่เคยถอนกันเลย ตื่นเช้าขึ้นมาพอลืมตา ก็เริ่มคิด นี่ลูกของกู… นี่บ้านของกู…. ต้นไม้ตรงนี้กูปลูก รถเก๋งของกู ซื้อด้วยเงินสด อย่าเหยียบต้นไม้ของกู อย่าไล่ตีหมาของกู บ่นพร่ำ อะไรๆ ก็ของกู เป็นมนุษย์นกแก้วนกเขา หากเหล่านี้ถูกเพิ่มพูนขึ้นทุกวัน โดยไม่รู้จักตัดไม่รู้จักถอนเสียบ้างแล้ว ชีวิตของเราก็จะเป็นชีวิตที่ไม่มีความปลอดโปร่ง

สิ่งสูงสุดในพระพุทธศาสนา สอนให้เราถอนเสียซึ่งความยึดมั่นถือมั่น ไม่ให้เราไปยึดติดไปถืออะไร มีอะไรบ้างที่เรายึดถือแล้วเป็นของเราได้ ดังคำกลอนว่า

สิ่งใดใดไม่ใช่ของใครหมด ไม่ปรากฏว่าใครเป็นเจ้าของแม้เฝ้ารักเฝ้าหวงเฝ้าห่วงปอง ก็จำต้องทิ้งไว้ในโลกา!

ในช่วงเดือนกันยายนกับตุลาคมของทุกปี จะเกิดความวิปโยคขึ้นกับหลายคนที่เจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น คนที่เข้าไม่ใช่เด็กๆ แต่เป็นคนที่อยู่ในภาวะที่เรียกว่า ปลื้มใจ หรือเสียใจ ก็ได้ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้จิตใจไม่ปกติท่านเหล่านี้คือ “ผู้เกษียณอายุราชการ” ก่อนจะเกษียณอายุบางแห่งเลี้ยงกันใหญ่โตครึกครื้นเหลือเกิน บางที่เลี้ยงไปเลี้ยงมาจิตใจอาจคิดไปว่าเราน่าจะอยู่ต่อ พอถึงวันที่เขาให้ออกเข้าจริงๆ ไม่มีสิทธิจะอยู่ต่อได้ สภาวะจิตไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดความเสียใจ เพราะการยึดติดกับตำแหน่ง หน้าที่ใหญ่โตของตนเอง ผลก็คือคิดหนัก เลยป่วยเข้าโรงพยาบาล ก็อย่ายึดติดให้รู้เท่าทัน เมื่อรู้เท่าทันแล้วมองสิ่งข้างหน้าตามความ “เป็นจริง” พร้อมกับคำรำพึงอยู่เสมอว่า… “เมื่อลาภเกิดขึ้นแล้ว มันตั้งอยู่ชั่วคราว แล้วก็ดับไป” ใจเราก็เป็นสุข

แต่ถ้าไม่รู้เท่าทัน เข้าไปยึดติดโลกธรรม ผลร้ายคือจิตใจ แล้วส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายติดตามมา ด้วยหลักการสำคัญที่ขจัดหรือการ “ยึดถือ” อย่างธรรมดา “คิดถูก” สัมมาทิฏฐิ 8 ประการ :

หลักการสำคัญที่ขจัดหรือคลายความ “ยึดถือ” อย่างธรรมดาและได้ผล ให้เริ่มที่ “คิดถูก” สัมมาทิฏฐิ มี 8 ประการ :

1.อย่ามัวเมาศักดิ์ศรี : ถ้ามัวเมาเมื่อไร ศักดิ์ศรีจะทำให้จิตใจของเราหดหู่ มีนายทหารอากาศท่านหนึ่ง เกษียณจัดงานใหญ่โตมาก เมื่อเกษียณแล้วจัดอีกเท่าเดิม แต่คนมาน้อยเลยช็อกนี่เพราะติดศักดิ์ศรี อยู่อีก 2 ปีเรียบร้อย 2.อย่าหลีกหนีความจริง 3.อย่าเป็นคนสิ้นหวัง 4.ไม่ปลูกฝังใจโกรธใคร 5.ไม่ลงโทษตัวเอง 6.ไม่เกรงในการผูกไมตรีก่อน 7.ไม่บั่นทอนกำลังใจของตัวเอง 8.อย่าหวั่นไหวง่าย

เมื่อมีอะไรมากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดอาการทนไม่ได้ จนกลายเป็นบุคคลที่เรียกว่า “ควายเขารี” ไปที่ไหนแล้วทนไม่ได้ มีความหนักอกหนักใจตลอดเวลา ฉะนั้นเราจึงต้องฝึกให้เป็นคนที่หนักแน่น มั่นคงตลอดเวลา ดังนั้นหลวงพ่อพระพุทธทาส ท่านระบุว่า อย่าหวั่นไหวง่าย อย่าทำลายสุขภาพ ความเข้าใจผิดของคนเป็นสิ่งทำลายสุขภาพ ด้วยการคิดเองเออเอง ด้วยการเอาสิ่งที่เป็น “ภัย” ใส่ตัวเองไม่รู้ตัว เราจึงต้องเข้าใจชีวิตให้ “ถูกต้อง” ด้วย “คิดเห็น” ว่ามีชีวิตเพื่อหน้าที่มีความยินดี พอใจ ไม่มองอะไร “เพื่อตัว” สิ่งที่น่ากลัว คือ “อุปทาน” (ยึดติด)

จึงควรใช้ “เคล็ดลับในการดำเนินชีวิต” ด้วยคติที่ว่า…

ชีวิตจะมีค่าถ้าใช้เป็น ชีวิตจะโดดเด่นเพราะสันโดษชีวิตไม่มีโทษเพราะเห็นถูก ชีวิตต้องฝังปลูกความไม่ยึดติด

ขออำนวยพรให้คุณธรรมเหล่านี้ จงบังเกิดปรากฏแก่เพื่อนพ้องน้องพี่ ที่เป็นสมาชิกมติชน หรือคนไทยทั้งประเทศ จะได้รู้ เข้าใจ และตระหนัก พูดกับตัวเองได้ว่า “วันนี้เธออยู่กับข้า แต่วันหน้าไม่แน่” คิดได้ พูดได้ ทำได้ แค่นี้ก็ถือว่าสำเร็จแล้วนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image