กฎหมายห้ามคนพูดได้ แต่ห้ามคนคิด…ยาก โดย ผศ.นพดล ปกรณ์นิมิตดี

เคยได้ยินได้ฟังอาจารย์ท่านหนึ่ง สอนไว้ว่า “สั่งให้คนอื่นทำอะไรมันง่าย แต่การได้ใจคนมันยาก” อาจด้วยความวัยเยาว์ จึงไม่เข้าใจสิ่งที่อาจารย์สอนในตอนนั้น กาลเวลาผ่านไปเห็นคนมากขึ้นทำงานกับคนมากขึ้น จึงรู้ว่า การรู้จักแต่การใช้อำนาจที่ตนมี คงไม่เพียงพอ หากแต่ต้องรู้จักศิลปะของการเข้าไปอยู่ในใจคนด้วย ตัวอย่างเพื่อนบ้านเก่าผมครับ คุณป้าคิดว่าฉันเป็นนายจ้าง สักแต่คิดเพียงว่าฉันจ้างเธอวันละ 500 บาท เธอต้องทำงานให้ฉันทุกอย่างตั้งแต่เช้า ยัน 1 ทุ่ม ถึงกลับบ้าน พอลูกจ้างบ่น ก็หันหน้าถามทันทีว่าเธอพูดว่าอะไรฉัน ลูกจ้างสาวก็ได้แต่ทำตาเศร้า ทำงานและบ่นในใจแทน

คุณป้าคนนี้โชคดีหาลูกจ้างใหม่ได้ทุกครั้งที่ต้องการ แต่ลูกจ้างที่คุณป้าได้มาทุกคนก็ล้วนแล้วแต่อยู่ไม่เกินครึ่งเดือนสักคน

ไม่นานนี้ จึงไม่แปลกใจอะไรเมื่อเห็น blog ในเฟซ ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้เขียนเรื่อง นินทานายจ้าง มีความผิดตามกฎหมายนะจ๊ะ ทำให้งงๆ อยู่เหมือนกัน มีความผิดฐานนี้ในกฎหมายอาญาของไทยด้วยหรือ

หากย้อนเวลากลับไปในอดีต เพื่อประโยชน์ในการศึกษา ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

Advertisement

มาตรา 45 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน

ข้อความในมาตรา 45 ของกฎหมายสูงสุดของประเทศ สะท้อนให้เห็นหลักการที่ว่า บุคคลทุกคนย่อมมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น โดยที่การพูดเป็นลักษณะหนึ่งของการแสดงความคิดเห็น แต่แน่นอนละ การพูดของบุคคลแต่ละคนก็ไม่อาจกล่าวอ้าง คำว่าเสรีภาพได้อย่างไร้ขอบเขต ชนิดที่ว่า นึกจะพูดอะไรก็พูด ตามใจฉัน

Advertisement

ด้วยเพราะมาตรา 45 วรรคสอง เปิดช่องให้รัฐออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพในการพูดได้ หากมีเหตุผลตามที่กฎหมายกำหนดไว้

ขอยกตัวอย่างกฎหมายฉบับที่เป็นปัจจุบันอีกเรื่อง

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 82 ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องกระทำการอันเป็นข้อปฏิบัติดังต่อไปนี้

(4) ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการ โดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการ โดยไม่ขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง แต่ถ้าเห็นว่าการปฏิบัติตามคำสั่งนั้นจะทำให้เสียหายแก่ราชการ หรือจะเป็นการไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการจะต้องเสนอความเห็นเป็นหนังสือทันทีเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนคำสั่งนั้น

และเมื่อได้เสนอความเห็นแล้ว ถ้าผู้บังคับบัญชายืนยันให้ปฏิบัติตามคำสั่งเดิม ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตาม

ตัวอย่างของมาตรา 82 ให้สิทธิข้าราชการแสดงความคิดเห็นในรูปแบบที่ดีกว่าการให้พูด คือให้ทำเป็นหนังสือ แสดงความเห็นแย้งได้ แต่กฎหมายกลับเขียนต่อท้ายว่า หากผู้บังคับบัญชายืนยัน ก็ต้องทำ ฉะนั้น หากข้าราชการบางคนเกิดคิดมาก ไม่สบายใจ กลัวมีเรื่องกับเจ้านายหรือหัวหน้า ไม่พูดดีกว่า อย่างเก่งก็คิดแย้งในใจกับหัวหน้าเท่านั้น

จริงๆ แล้ว ถ้ามองในทางกลับกัน กฎหมายลักษณะแบบนี้อาจเป็นการห้ามคนพูดไปโดยปริยาย เพราะแม้จะมีกระบวนการให้โต้แย้งคำสั่งได้ แต่ถ้าหัวหน้ายืนยัน ก็ต้องตามนั้น สำหรับวัฒนธรรมแบบไทยๆ ไม่พูดซักดีกว่า เพราะหากพูดไปแล้วเขาโกรธ ใจไม่กว้าง ก็คงมีเรื่องบาดหมางใจกันได้

ในทางวิชาการ การแสดงความคิดความเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองทางกฎหมาย หากได้มีการแสดงทัศนคติได้อย่างเปิดเผย สร้างสรรค์ ไม่กล่าวร้ายว่าใคร ประโยชน์ที่ได้จากการรับฟัง แม้จะเป็นความคิดเห็นต่าง แต่หากเปิดใจรับฟังกัน ความคิดเห็นต่างในทางกฎหมาย ย่อมเสริมและป้องกันปัญหาการตีความกฎหมาย โดยไม่จำเป็นที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้นะครับ

แต่แน่นอนว่า หากการแสดงความคิดเห็นไปกระทบถึงบุคคลอื่น กฎหมายอาญาของไทยก็มีทางออกให้กับผู้เสียหาย ดังความในตัวบท

มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษ

ท้ายสุดนี้ การทำให้คนรู้สึกกลัวว่า พูดอะไรไปจะผิดกฎหมาย จะต้องคอยถามว่าอะไรผิด อะไรไม่ผิด ย่อมสร้างปัญหาต่อทัศนคติของผู้คน ซึ่งทัศนคติหรือความคิดของคน ถ้าเขาคิดเขาเชื่อในสิ่งที่ผิดจริง เราจะแก้ไขให้เขาคิดให้ถูกคงจะยากนะครับ เพราะถ้าเขาไม่พูดเราก็คงไม่รู้ว่าเขาคิดอะไร และจะห้ามเขาไม่ให้คิดคงยาก จริงไหมครับ

บรรยากาศการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่และแบบสร้างสรรค์จึงเป็นสิ่งสำคัญในสังคมประชาธิปไตย พ่อแม่ พี่น้อง คนในครอบครัวเดียวกัน ยังคิดเห็นไม่เหมือนกันเลย ยิ่งนักกฎหมาย ยิ่งอายุการทำงานมากขึ้น ก็มีความเห็นเป็นของตัวเองกันมาก เพราะฉะนั้นจะนับประสาอะไรกับการแสดงความคิดเห็นของคนโดยส่วนใหญ่ในประเทศ คิดเห็นต่างกันได้ แต่อย่าทะเลาะกันเลยครับ เพื่อประเทศไทยของเรานะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image