มาตรการ เด็ดหัว บทเรียน ต่อ ‘เพื่อไทย’ ก่อน การเลือกตั้ง

เห็นชะตากรรมของนายประชา ประสพดี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศแล้ว

ก็พอมอง “เส้นทาง” ข้างหน้าได้

ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางของนายอุดมเดช รัตนเสถียร นายวรชัย เหมะ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์

ในที่สุด คือ เส้นทางของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

Advertisement

สรุปได้อย่างรวบรัดว่า ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะ “รอด” ได้อย่างราบรื่น เพราะมีการชงเอาไว้แล้วอย่างเสร็จสรรพ ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช.ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งหมดนี้ คือ กระบวนการชำระสะสาง

เป็นกระบวนการชำระสะสางอันต่างไปจากยุคหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ต่างไปจากยุคหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

Advertisement

ปลายหอกพุ่งเข้าใส่ “พรรคเพื่อไทย” อย่างไม่ลังเล

ผลก็คือ มีความจำเป็นที่พรรคเพื่อไทยจะต้องจัดแถว จัดกระบวนใหม่ หากยังคิดจะเข้าสู่กระบวนการของการเลือกตั้งในปลายปี 2560

เป้าหมาย คือ ความอ่อนแอ เสื่อมทรุด

ถามว่าพรรคเพื่อไทยจะยังดำรงเอกภาพภายในเหมือนๆ กับที่สัมผัสได้ผ่านพรรคพลังประชาชนภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 หรือไม่

ตอบได้เลยว่า ยากและยากส์อย่างยิ่ง

ความจริง ผลสะเทือนจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ก็มีความเด่นชัด ในเบื้องต้น มีการแตกแถวไปจัดตั้งพรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย

ต่อมาในเดือนธันวาคม 2551 ก็ “แตก” อีก

นั่นก็คือ บางส่วนซึ่งกลายมาเป็นพรรคภูมิใจไทยในทุกวันนี้ โดยเข้าร่วมในการสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

กระนั้น การเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 ก็ยังให้ “บทเรียน” อันใหญ่หลวง

เป็นบทเรียนซึ่งตอกย้ำไม่เพียงแต่ยืนยันถึงสภาวะ “เสียของ” จากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และสภาวะ “เสียของ” แห่งกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ต่อพรรคพลังประชาชน หากบ่งบอกว่าการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 มิได้ทำให้เกิดความระส่ำระสาย

ผลก็คือ พรรคเพื่อไทยกำชัยเหนือพรรคประชาธิปัตย์ ผลก็คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งๆ ที่ใช้เวลาทางการเมืองในภาคสนามเพียง 49 วัน

จึงจำเป็นต้องมีมาตรการ “ชัตดาวน์” โดย กปปส. จึงจำเป็นต้องเข้าสู่โหมดแห่งรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

เพราะประเมินว่ารัฐประหารเดือนกันยายน 2549 “เสียของ” ดังนั้น รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 จึงต้องอุดช่องว่างและรอยโหว่ตรงนี้ให้ได้

การจัดการกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงเฉียบขาด

เห็นได้จากมาตรการ “ถอดถอน” ในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เห็นได้จากมาตรการรุกไล่ในเรื่องค่าเสียหายอันเนื่องจาก “จำนำข้าว”

ถือได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หมดสิทธิอย่างสิ้นเชิงในทาง “การเมือง”

จากนั้นก็นำไปสู่การจัดการเป็นรายบุคคลอันเป็นมาตรการเหมือนกับที่เคยทำกับพรรคไทยรักไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2550 เหมือนกับที่เคยทำกับพรรคพลังประชาชนในเดือนธันวาคม 2551

ตัดทุกองค์ประกอบ ให้ความอ่อนแอ ระส่ำระสาย บังเกิด

ทั้งนี้ แทบไม่ต้องกล่าวถึงมาตรการผ่านกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญไม่ว่าฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ไม่ว่าฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์

ตั้งแต่กระบวนการเลือกตั้ง กระทั่งที่มา ส.ว. ที่มานายกรัฐมนตรี

เป้าหมายเพื่อทำให้การเลือกตั้งนำไปสู่สภาวะเบี้ยหัวแตก ไม่มีพรรคการเมืองใดกุมเสียงข้างมากได้อย่างเบ็ดเสร็จ

เป้าหมายเพื่อประกันโอกาสให้กับนายกรัฐมนตรี “คนนอก”

เหมือนกับจะนำเอา “เปรมโมเดล” มาเป็นบรรทัดฐาน แต่แท้จริงแล้วคือ “ประยุทธ์โมเดล” อย่างเด่นชัด ตรงไปตรงมา

เมื่อเด็ดเอาแถวที่ 1 ด้วยการยุบพรรคไทยรักไทย กับการเด็ดแถวที่ 2 ด้วยการยุบพรรคพลังประชาชน

ที่เหลืออยู่กับพรรคเพื่อไทยจึงเท่ากับเป็น “แถวที่ 3” อันเป็นส่วนที่ตกค้างและเหลือมาจากพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน

การดำรงอยู่ของ “พรรคเพื่อไทย” จึงมากด้วยความเหน็ดเหนื่อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image