ผักตบ โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

เรื่องราวของผักตบชวาแน่นคลองกลับมาเป็นปัญหาน่ากลุ้มในช่วงหน้าฝนนี้อีกครั้ง เพราะไปกีดขวางการระบายน้ำ อีกทั้งยังเติบโตแพร่กระจาย จากที่แห้งแล้งไปเมื่อปีก่อนพอเมล็ดได้รับฝนก็ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

ผู้นำประเทศยังเอ่ยปากว่าทำไมผักตบชวาถึงได้เป็นปัญหาที่แม้แต่นายกรัฐมนตรียังต้องมาสั่งการเอง ทั้งๆ ที่ถ้าทุกคนเห็นผักตบแล้วเก็บกันคนละต้นปัญหานี้คงหมดไปนานแล้ว

พร้อมระบุว่า จะเอาหรือไม่ถ้าใครปล่อยให้มีผักตบอยู่ในบ้านต้องถูกปรับต้นละ 100 บาท

งานนี้บรรดาผู้อยู่อาศัยบนคอนโดมิเนียม หรือบ้านเรือนที่ไม่ติดแหล่งน้ำได้ยินแล้วคงไม่กังวลใจ เพราะไม่มีความเสี่ยงด้วย

Advertisement

ผักตบชวานั้นเป็นปัญหาในบ้านเมืองเราในฐานะชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือเรียกแบบภาษาอังกฤษให้น่ากลัวขึ้นมานิดว่า “เอเลียน สปีชีส์” ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

ข้อมูลในวิกิพีเดียระบุว่า การแพร่ขยายพันธุ์ผักตบชวานั้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว ใน 1 เดือนผักตบชวาเพียง 1 ต้น อาจขยายพันธุ์ได้มากถึง 1,000 ต้น และถึงแม้น้ำจะแห้งจนต้นตายแต่เมล็ดของมันก็ยังมีชีวิตต่อไปได้นานถึง 15 ปี ทันทีที่เมล็ดได้รับน้ำที่เพียงพอมันก็จะแตกหน่อเป็นต้นใหม่ต่อไป

ดังนั้น การให้ทุกคนเห็นผักตบแล้วเก็บคนละต้น หรือคนละ 20 ต้น ก็อาจจะไม่เวิร์กอย่างที่คิด

Advertisement

ส่วนประเด็นถกเถียงเรื่องทำเมนูผักตบนั้นก็ชัดเจนแล้วว่า เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลเรื่องวิถีชาวบ้าน ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหา

ที่ผ่านมาวิธีช่วยกำจัดผักตบชวาอย่างที่เห็นว่าพอไปได้คือนำมาเป็นวัสดุทำงานหัตถกรรม และใช้ในการบำบัดน้ำเสียที่จัดแจงกระบวนการไว้อย่างเป็นระบบ

กรณีของต่างประเทศที่ประสบภัยผักตบชวาแพร่พันธุ์ตามแหล่งน้ำลำคลองแบบไทยกว่า 50 ประเทศ ก็มีผู้พยายามคิดค้นเอาผักตบชวาไปแปลงเป็นวัสดุด้านการผลิต เช่น บริษัทสัญชาติเช็กใช้ผักตบในประเทศเคนยาเป็นวัสดุผลิตกระดาษ

หรือไม่กี่วันมานี้มีรายงานของสำนักข่าวซินหัว ว่ามีนักศึกษาชาวเม็กซิกัน ชื่อ โฆเซ อัลแบร์โต เอสเปเจล คิดหาวิธีจะช่วยกำจัดผักตบในคลองโซจีมิลโก ซึ่งมีทิวทัศน์สวยงามเหมาะแก่การล่องเรือ ด้วยการพัฒนาสูตรใช้ผักตบชวาไปเป็นพลังงานไบโอเอทานอล เตรียมจะนำเสนอโครงการในงานมอบรางวัลผู้ชนะรางวัลโนเบลปีนี้ ที่กรุงสตอกโฮล์ม

แนวคิดนี้จะนำไปสู่การผลิตพลังงานขนานใหญ่หรือไม่ก็ต้องติดตามต่อไป

ส่วนการแก้ปัญหาของบ้านเราด้วยการสั่งให้ทุกคนพร้อมใจกันเก็บ หรือใช้มาตรการสั่งปรับ ดูแล้วคงจะยากในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างหลังนั้น เสี่ยงให้ข้าราชการมีอำนาจไปลงโทษชาวบ้านได้ อาจทำให้เกิดปัญหารีดไถ ข่มขู่ ตามมาอีก

เอาเป็นว่าหน่วยงานรัฐต้องกระตือรือร้นทำงานสมกับที่ได้รับมอบหมายหน้าที่และได้รับงบประมาณไปแล้ว ทั้งกวาดเก็บทั้งชะลอการแพร่พันธุ์ ทั้งคิดวิธีนำผักตบไปใช้ประโยชน์มากกว่าเดิม ให้เป็นการบริหารจัดการที่เป็นระบบ

ถึงอย่างไรผักตบชวาก็คงไม่หมดไปง่ายๆ แน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image