สุจิตต์ วงษ์เทศ : ข้าวเหนียว ข้าวเจ้า ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย

ข้าวเป็นอาหารหลักในชีวิตประจำวันของคนในอุษาคเนย์อาเซียนมาแต่ดึกดำบรรพ์ มีพัฒนาการสัมพันธ์กับการเติบโตของบ้านเมืองจนเป็นรัฐและอาณาจักร

ข้าวเหนียว เป็นอาหารหลักหลายพันปีมาแล้วของคนพื้นเมืองดั้งเดิมทุกชาติพันธุ์ในสุวรรณภูมิ แผ่นดินใหญ่ของอาเซียน รวมทั้งคนภาคกลางและภาคใต้ของไทย

ข้าวเจ้า ในตระกูลอินดิกา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าวบอกว่ามีแหล่งกำเนิดในอินเดีย แพร่กระจายถึงอาเซียน โดยมากับพ่อค้าและนักบวช ราวหลัง พ.ศ. 1000

ข้าวเจ้าในไทย ปลูกมากในภาคกลาง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมื่อหลัง พ.ศ. 2000 ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี (นักปราชญ์ทางโบราณคดีของไทย) บอกไว้ในบทความเรื่องข้าว (พ.ศ. 2517) สรุปดังนี้

Advertisement

(1.) ก่อน พ.ศ. 1500 ปลูกข้าวเหนียวทั่วไป ปลูกข้าวเจ้าบ้างทางอีสาน แต่ไม่พบข้าวเจ้าในภาคกลาง (2.) ระหว่าง พ.ศ. 1500-1900 ยังปลูกข้าวเหนียวทั่วไป แต่ปริมาณลดลง ส่วนข้าวเจ้าปลูกมากขึ้นในภาคกลาง (3.) ระหว่าง พ.ศ. 1900-2200 ปลูกข้าวเหนียวทั่วไป แต่ปลูกข้าวเจ้าเพิ่มขึ้นมากอย่างฉับพลัน (4.) หลัง พ.ศ. 2200 ปลูกข้าวเจ้ามากในภาคกลาง ส่วนข้าวเหนียวปลูกมากทางภาคเหนือและอีสาน

มีผู้รู้ตั้งข้อสังเกตว่า

1.ข้าวเจ้าสัมพันธ์กับวัฒนธรรมขอม (เขมร) นับถือศาสนาพราหมณ์ พุทธมหายาน เพราะปลูกกันกว้างขวางในกัมพูชาและลุ่มน้ำมูลบริเวณที่ราบสูงโคราช แล้วแพร่ขยายลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง ราวหลัง พ.ศ. 1500

Advertisement

2.ข้าวเจ้าเป็นอาหารหลักของพ่อค้าและนักเดินเรือนานาชาติพันธุ์ บรรดาคนในราชธานีเริ่มปลูกข้าวเจ้าเพื่อขายให้พ่อค้า นักเดินเรือ แล้วกลายเป็นอาหารหลักของคนพื้นเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง

ไทยฟูมฟายอาหารไทย แต่ในประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยไม่มีเรื่องข้าวและอาหารไทย ความรู้เลยหยุดนิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image