สุจิตต์ วงษ์เทศ : รัฐสุโขทัย จัดการควบคุมน้ำป่ากักเก็บไว้ใช้ในเมือง

ร่องรอยคูน้ำคันดินกักเก็บน้ำบริเวณวัดพระพระพายหลวง นอกเมืองสุโขทัย ด้านทิศเหนือ

ถ้าเทียบขนาดและปริมาณกับเมืองพุกาม (พม่า) สถูปเจดีย์เมืองสุโขทัยจะกลายเป็นตุ๊กตาเด็กเล่นขายของ เพราะในเมืองพุกามมีสถูปเจดีย์ขนาดใหญ่โตและจำนวนมากกว่าหลายเท่า

แต่ไทยชอบอวดสถูปเจดีย์เมืองสุโขทัย แล้วไม่สนใจอย่างอื่นที่ควรอวดมากกว่า โดยเฉพาะผังเมืองและระบบการจัดการน้ำทั้งในเมืองและนอกเมือง ซึ่งมีระเบียบขั้นตอนก้าวหน้าอย่างยิ่งของยุคโน้น

เมื่อวาน (อังคาร 30 สิงหาคม 2559) เล่าเรื่องจัดการน้ำในเมือง วันนี้จะบอกถึงการจัดการน้ำป่านอกเมืองสุโขทัย ที่ผมสรุปไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2531 มาจากงานวิจัย พ.ศ. 2530 ของ อ. ศรีศักร วัลลิโภดม

 ระบบน้ำสุโขทัย น้ำป่าล้อมเมือง

เมืองสุโขทัยทั้งหมดมีน้ำกินน้ำใช้ด้วยระบบน้ำป่าล้อมเมืองและน้ำฝน

Advertisement

น้ำป่าเกือบทั้งหมดหลากไหลลงมาจากเทือกเขาที่อยู่ด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

ดังนั้น จึงมีแนวคันดินและร่องน้ำเพื่อชักน้ำและระบายน้ำอยู่ทาง 2 ด้านนั้นมาก

เหตุที่มีระบบชักน้ำป่าเข้ามามากทั้ง 2 ทิศทาง ก็เพราะเมืองเติบโตขึ้น และมีการขยายตัวอยู่เรื่อยๆ เช่น มีการสร้างวัดเพิ่มขึ้น จึงต้องจัดระบบน้ำเพิ่มขึ้นตามความต้องการ

Advertisement

ส่วนทางด้านทิศใต้มักเป็นระบบระบายน้ำป่าในฤดูน้ำหลาก ที่มักหลากล้นรุนแรงออกไปให้พ้นเขตเมืองและเขตชุมชนนอกเมือง

เหมืองฝาย ไขน้ำทำนา

ห่างจากเมืองสุโขทัยขึ้นไปทางเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร ตามลำน้ำแม่ลำพัน มีร่องรอยของการชลประทานแบบเหมืองฝายเพื่อการทำนาอยู่ใกล้วัดคุ้งวารี

เหมืองฝายแห่งนี้ใช้แผ่นหินชนวนกองซ้อนกันเป็นสันฝาย เพื่อชักน้ำจากลำน้ำแม่ลำพันให้ไหลไปตามลำเหมืองที่ชาวบ้านเรียกคลองน้อย

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม สำรวจพบว่า ลำเหมืองนี้มีอยู่ 2-3 สายเป็นแนวขนานไปทางทิศตะวันออกยาวมากกว่า 7 กิโลเมตร

นาหลวงก็มีเหมืองมีฝาย

ด้านทิศตะวันออกของวัดพระพายหลวง มีเหมืองฝายอยู่ฝั่งตะวันออกของลำน้ำแม่ลำพัน

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม สำรวจพบว่ามีร่องรอยสันฝายและมีร่องน้ำเป็นลำเหมืองแยกออกจากลำน้ำแม่ลำพันผ่านเข้าไปในบริเวณนาหลวง เพื่อชักน้ำไปใช้ทำนา

มักเรียกบริเวณนี้ว่า “บาราย” ที่เป็นอ่างเก็บน้ำแบบเขมร

แต่ร่องรอยที่เหลืออยู่เป็นนาหลวงของพระเจ้าแผ่นดินเมืองสุโขทัย

“สรีดภงส” อยู่ตรงไหน?

เนื่องจากระบบน้ำของเมืองสุโขทัยมีขนาดใหญ่โต จึงทำให้ร่องรอยระบบชักน้ำและระบายน้ำมีลักษณะซับซ้อน และสร้างความสับสนให้กับผู้ศึกษาค้นคว้าหลายๆ ฝ่าย        ดังกรณีชื่อ “สรีดภงส”

แม้จารึกพ่อขุนรามคำแหงจะระบุว่าด้านทิศใต้มี “สรีดภงส” (มาจากภาษาสันสกฤต) ที่เชื่อกันว่าหมายถึงเขื่อนหรือทำนบกั้นน้ำของเมืองสุโขทัย แต่จารึกก็ไม่ได้บอกว่ามีรูปร่างลักษณะอย่างไร?

และไม่ได้กำหนดว่า “สรีดภงส” มีตำแหน่งแห่งหนอยู่แน่ๆ ที่ตรงไหน?

หากพิจารณาเจตนาของจารึกพ่อขุนรามคำแหงแล้ว จะเห็นว่าข้อความในจารึกตอนนี้ (และอาจมีตอนอื่นๆ ด้วย) มีลักษณะเป็น “กวีวรโวหาร” พรรณนาบรรยากาศกว้างๆ และอย่างคร่าวๆ โดยบอกแต่เพียงว่ามีสิ่งที่เรียกว่า “สรีดภงส” อยู่ “เบื้องหัวนอน” คือด้านทิศใต้เท่านั้น และจะมีความหมายว่าเขื่อนหรือทำนบกั้นน้ำหรือไม่? ก็ไม่มีใครรู้แน่ๆ

แต่ด้านทิศใต้ต่อเนื่องกับด้านทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัย มีร่องรอยคันดินที่มนุษย์ทำขึ้นมาใช้เป็นเครื่องมือทั้งสกัดกั้นและทั้งเบี่ยงเบนทิศทางการหลากไหลของกระแสน้ำหลายต่อหลายแห่งด้วยกัน

เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรด่วนสรุปว่า “สรีดภงส” หมายถึงเขื่อนหรือทำนบแห่งใดแห่งหนึ่งแต่เพียงแห่งเดียว

ถ้าจะให้สะดวกและปลอดภัยที่สุดก็คือ ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับชื่อ “สรีดภงส”

แต่ศึกษาสภาพร่องน้ำและคันดินที่มีร่องรอยเหลืออยู่จริงๆ ก็น่าจะพอสมควรแล้ว

เขื่อนพระร่วง ใช้ป้องกันน้ำป่า

นอกกำแพงเมืองสุโขทัยออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณไม่ถึง 2 กิโลเมตร มีซอกเขาแห่งหนึ่งอยู่ระหว่างเขาพระบาทใหญ่และเขากิ่วอ้ายม้า

ในซอกในซอยนี้มีลำธารน้ำพุน้ำผุดน้ำโผล่จากน้ำเขาน้ำโคก เรียกชื่อ “โซกพระร่วง” ไหลออกมา แล้วกลายเป็นลำห้วยธรรมชาติที่ชาวบ้านเรียกคลองเสาหอ

น้ำในคลองเสาหอจะไหลลงที่ราบ จนกระทั่งเข้าคูเมืองสุโขทัยทางด้านทิศใต้ แล้วไหลผ่านคูเมืองด้านทิศใต้ไปเข้าคูเมืองด้านทิศตะวันออก ต่อจากนั้นจึงไหลออกจากคูเมืองไปลงลำน้ำแม่ลำพัน (ที่ไหลมาจากทิศเหนือ) ในที่สุดก็ไหลรวมกันไปลงลำน้ำยมทั้งหมด

เพราะฉะนั้นน้ำจากโซกพระร่วงจึงไม่ได้ถูกชักเข้าไปใช้ในเมืองสุโขทัย แต่ไหลผ่านคูเมืองสุโขทัยไปเฉยๆ

ทำไมเป็นอย่างนั้น?

เรื่องนี้อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้เดินทางสำรวจตรวจสอบทั่วบริเวณมาก่อนที่จะมีการสร้าง “เขื่อนพระร่วง” ขึ้นใหม่ แล้วจึงมีคำอธิบายว่า

หลักฐานก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงให้ซอกเขาตรงนั้นกลายเป็นเขื่อนกั้นน้ำขนาดใหญ่โตอย่างทุกวันนี้ก็คือ แต่เดิมเป็นแนวคันดินสูงประมาณ 1 เมตร ตามเส้นขวางเพื่อให้ตีกั้นระหว่างตีนเขาพระบาทใหญ่กับเขากิ่วอ้ายม้า ลักษณะเป็นคันดินใช้สกัดกั้นน้ำที่ไหลออกจากหุบเขาในโซกพระร่วงไม่ให้กระจายไปที่อื่น แต่บีบน้ำหลากให้มารวมกัน แล้วให้ไหลลงไปตามร่องน้ำคลองเสาหอแต่เพียงทิศทางเดียวเท่านั้น

ถ้าไม่ทำคันดินสกัดกั้นไว้ก่อน เมื่อถึงฤดูน้ำหลากลงมาจากซอกเขาโซกพระร่วงซึ่งมีปริมาณมากนักหนาแก่กม มวลน้ำป่าจะไหลทะลักทะลุทะลวงแผ่กระจายอย่างรวดเร็วและรุนแรงไปทำลายเรือกสวนไร่นาและวัดวาอารามในบริเวณที่อยู่ต่ำลงไป

ดังนั้น คันดินที่ซอกเขาโซกพระร่วงสมัยโบราณจึงมิได้มุ่งจะกักน้ำไว้ให้เป็นอ่างเก็บน้ำ แต่ทำไว้เพื่อสกัดน้ำมิให้หลากลงไปทำลายชุมชน และทำไว้เพื่อเบี่ยงเบนกระแสน้ำให้ไหลลงไปในทิศทางที่ปลอดภัยต่อชุมชน

แต่มีประโยชน์ต่อคูเมือง เพราะน้ำป่าจากโซกพระร่วงจะไหลผ่านคูเมืองสุโขทัย เท่ากับช่วยให้มีน้ำโกรกไหลอยู่ตลอดเวลา คูเมืองจึงไม่ตื้นเขิน

คันดินชักน้ำ ด้านวัดศรีชุม

คันดินชักน้ำชุดนี้อยู่นอกกำแพงเมืองไปทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือด้านวัดศรีชุม

แนวคันดินจะหักงอทำมุมข้อศอกอยู่ด้านตะวันตกของวัดศรีชุม ห่างไปราว 100 เมตร ทำให้มีคันดิน 2 แนว

คันดินแนวหนึ่งพุ่งจากวัดศรีชุมไปทิศตะวันตกทางตีนเขาวัดตะพานหิน เพื่อรับน้ำป่าที่ไหลลงมาจากเทือกเขาด้านนั้น

น้ำป่าจะไหลตามคันดินลงมาหามุมข้อศอกที่วัดศรีชุม แล้วแบ่งน้ำส่วนหนึ่งระบายลงคูวัดศรีชุม และอาจระบายต่อไปยังตระพังต่างๆ ในบริเวณนั้น

น้ำอีกส่วนหนึ่งไหลไปตามคันดินอีกแนวหนึ่ง

คันดินอีกแนวหนึ่งหักพุ่งลงไปหาคูน้ำที่กำแพงเมืองสุโขทัยด้านตะวันตก เพื่อดึงน้ำเข้าไปใช้ในเมือง

คันดินรูปเกือกม้า ดักน้ำเข้าเมือง

คันดินดักน้ำชุดนี้เป็นรูปเกือกม้าหรือรูปตัวยู อยู่ตีนเขาตะพานหินกับเขาพระบาทน้อย ซึ่งอยู่นอกกำแพงเมืองสุโขทัยออกไปทางทิศตะวันตก

แนวคันดินบางตอนยังเหลือซากสูงประมาณ 1.50 เมตร คล้ายจะโอบหน้าเขาไว้ดักน้ำป่าที่ไหลลงมาจากเทือกเขาด้านตะวันตก

คันดินส่วนที่เป็นฐานเกือกม้าหรือฐานตัวยู จะมีช่องทางน้ำไหลอยู่ประมาณกึ่งกลางให้น้ำป่าไหลลอดเข้าตระพังช้างเผือกที่เป็นสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ถัดลงไปทางตะวันออก

ตระพังช้างเผือกเป็นแหล่งพักน้ำของระบบคันดินรูปเกือกม้านี้

จากตระพังช้างเผือกจะมีทางน้ำใหญ่ให้ไหลตรงเข้าไปในเมือง

แต่เส้นทางระหว่างตระพังช้างเผือกเข้าเมือง มีวัดอยู่เรียงราย เช่น วัดป่ามะม่วง วัดตึก วัดศรีโทน ฯลฯ จึงมีช่องทางเล็กๆ ชักน้ำจากทางน้ำใหญ่เข้าไปเก็บไว้ในคูน้ำรอบวัดและตระพังประจำวัดด้วย

คันดินด้านทิศใต้ ขนาดใหญ่และซับซ้อน

คันดินและร่องน้ำเพื่อชักน้ำและระบายน้ำนอกกำแพงเมืองสุโขทัยด้านทิศใต้ จัดว่ามีโครงสร้างซับซ้อนและใหญ่โตกว่าที่อื่นๆ

รายงานการสำรวจของ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ระบุว่าคันดินเหล่านี้ตัดจากชานเมืองด้านทิศใต้เข้าไปในบริเวณเวิ้งเขา บางแห่งยาวมากกว่า 5 กิโลเมตร เช่น คันดินที่ตัดพุ่งทางทิศตะวันออกเข้าไปในเขตที่เรียกว่าโว้งบ่อ เป็นต้น

เหตุที่คันดินด้านนี้มีโครงสร้างซับซ้อนและใหญ่โตก็เพราะน้ำป่าไหลแรง และมีปริมาณมาก จึงจำเป็นต้องป้องกันมิให้น้ำป่าทำลายชุมชนและเรือกสวนไร่นา

ในขณะเดียวกันก็มีผลพลอยได้ให้ชักน้ำเข้าตระพังและคูวัดในบริเวณนี้ด้วย

ขุดคลองยาง ไล่น้ำเกินต้องการ

นอกจากบรรดาแนวคันดินและทางน้ำทั้งหลายแล้ว อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ตรวจพบว่ามีการขุดคลองเพื่อระบายน้ำที่มีมากเกินต้องการลงลำน้ำยม โดยไม่ต้องให้ผ่านเข้าไปในเขตเมือง

คลองขุดนี้ชาวบ้านเรียกคลองยาง อยู่ใกล้มุมกำแพงเมืองสุโขทัยด้านตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อไล่น้ำให้ไหลไปลงลำน้ำยมที่อยู่ห่างไปทางทิศตะวันออกประมาณ 12 กิโลเมตร

ผลพลอยได้จากแนวคลองยางก็คือการขยายเขตเมืองเลียบคลองออกไป

ถนนพระร่วง ก็คือถนนหนทาง

เส้นทางคมนาคมระหว่างเมืองสุโขทัยกับเมืองศรีสัชนาลัยตามแนวถนนพระร่วง ทางฝั่งตะวันตกของลำน้ำยม มีอยู่แล้วเมื่อสมัยต้นๆ แต่ตอนนั้นยังไม่เป็นถนน

หลักฐานที่แสดงว่ามีเส้นทางอยู่ก่อนแล้วก็คือจารึกวัดศรีชุม ตอนที่กล่าวถึงศึกขอม สบาดโขลญลำพง เมื่อพ่อขุนผาเมืองและพ่อขุนบางกลางหาวผนึกกำลังร่วมกันสู้รบจนได้เมืองศรีสัชนาลัยแล้ว ก็ยกกองทัพจากเมืองศรีสัชนาลัยผ่านเมือง “บางขลัง” (ในจารึกเรียก “บางขลง” และ บางฉลัง”) เพื่อจะลงไปตีเมืองสุโขทัย ดังมีความตอนนี้ว่า “พ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราดเอาพลมาตบกันที่บางขลง ได้เวนบางขลงแก่พ่อขุนผาเมือง”

เส้นทางนี้ยังคงใช้ต่อเนื่องกันเรื่อยมา เพราะมีชื่อเมืองอยู่ในจารึกสมัยพระยาลิไทยและในพระราชนิพนธ์เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วงของรัชกาลที่ 6 ทรงระบุชื่อตำบลหนึ่งอยู่ริมลำน้ำฝากระดานว่า “เมืองบางขลัง”

ต่อมาจึงยกคันดินขึ้นเป็นถนนตามเส้นทางคมนาคมดังกล่าว แล้วเรียกชื่อกันในสมัยหลังๆ ว่า “ถนนพระร่วง”

ถนนพระร่วงทั้งหมดมี 2 สาย คือ

สายเหนือ จากเมืองสุโขทัยถึงเมืองศรีสัชนาลัย

สายใต้ จากเมืองสุโขทัยถึงเมืองกำแพงเพชร

ยังไม่พบหลักฐานและยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าถนนพระร่วงสร้างขึ้นสมัยไหนแน่?

แต่มีร่องรอยหลายประการส่อว่าถนนพระร่วงอาจสร้างขึ้นสมัยหลังๆ เช่น ปลายสมัยกรุงสุโขทัยหรือต้นสมัยกรุงศรีอยุธยา คราวเดียวกับพัฒนาการของเมืองกำแพงเพชร

ถนนพระร่วงก็คือถนนหนทางเพื่อการคมนาคม ดังมีคำว่า “ถนน” และเรื่องราวต่างๆ อยู่ในจารึกบนฐานพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร

แต่อาจมีผลพลอยได้จากถนนพระร่วง เช่น ใช้ชักน้ำและระบายน้ำให้กับชุมชนบางท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image