นายกฯรับเชิญ โดย วีรพงษ์ รามางกูร

กระแสข่าวเรื่อง “นายกฯรับเชิญ” ดูจะเป็นกระแสของข่าวการเมืองที่ผู้คนสนใจอยู่เป็นอันมาก ประกอบกับนายกรัฐมนตรีก็มิได้ปฏิเสธ ก็แสดงว่านายกรัฐมนตรีก็สนใจที่อยู่ทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีต่อไป เพราะคงได้ความมั่นใจยิ่งขึ้นหลังจากผลของการลงคะแนนเสียง “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ เป็นไปอย่างท่วมท้น คำถามพ่วงก็ได้รับการตอบรับจากผู้ลงคะแนนเสียงประชามติอย่างท่วมท้นเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะทำความผิดหวังให้กับนักประชาธิปไตยและนักวิชาการบริสุทธิ์หลายคนก็ตาม แต่ที่น่าชมเชยก็คือทุกคนอยู่ในความสงบและเคารพต่อเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน

เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็คงจะคาดได้ว่านายกรัฐมนตรีน่าจะเป็นนายทหารบกที่ดำรงตำแหน่ง หรือเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ส่วนที่ว่าสมาชิกวุฒิสภาไม่สามารถเสนอนายกรัฐมนตรีได้แต่มีสิทธิร่วมลงมติให้ความเห็นชอบได้เท่านั้น ตามบทเฉพาะกาลใน 5 ปีแรกก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะจะมีพรรคการเมืองขนาดเล็กหรือขนาดกลางช่วยเสนอให้ได้

ที่ว่าจะต้องให้พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอชื่อผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไป พรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ คงจะไม่เสนอชื่อ “คนนอก” มาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถ้ารายชื่อนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองใหญ่เสนอไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากสภาสูง ผู้ที่จะได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรล้วนๆ ก็คงจะเป็นไปได้ยาก

เพราะต่างได้รับคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า 375 เสียงจากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน กล่าวคือต้องได้เสียงไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 ของสภาผู้แทนราษฎร คงจะไม่มีพรรคใดรวบรวมเสียงจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มากมายขนาดนั้น

Advertisement

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ เมื่อไม่มีเสียงสนับสนุนจากวุฒิสมาชิก เพราะวุฒิสมาชิกเท่าที่ผ่านมาจะลงมติตามมติของ “วิป” ที่ปรากฏตามโผที่แจกก่อนเข้าประชุม ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการลงมติ ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎร

เพียงแต่ในสภาผู้แทนราษฎรจะมี “วิป” ของพรรคร่วมรัฐบาลและ “วิป” ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องลงมติตามนั้น ไม่ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นจะเป็น “คนดี” หรือ “คนไม่ดี” เพราะการเมืองประชาธิปไตยระบอบ “รัฐสภา” โดยพรรคการเมือง เขาเป็นไปเช่นนั้นตามหลัก “พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค”

ยิ่งมีสมาชิก “บัญชีรายชื่อ” ก็ยิ่งทำให้การเมืองระบบพรรคเข้ามาแข็งยิ่งขึ้น ไม่เป็น “เบี้ยหัวแหลกหัวแตก” ส.ส.วิ่งย้ายพรรค เพิ่มอำนาจต่อรองให้กับพรรคเล็กพรรคน้อย

Advertisement

สื่อมวลชนต่างมีความเห็นว่า คณะรัฐประหารต้องการรูปแบบการปกครองตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2521 ที่มีการแบ่งอำนาจกันระหว่าง สภาผู้แทนราษฎรกับกองทัพผ่านวุฒิสภา เพื่อให้รัฐบาลนายกรับเชิญมีเสถียรภาพอาจจะอยู่ไปได้ถึง 8 ปี

แต่รูปแบบดังกล่าวก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะมีเสถียรภาพอยู่ได้นานเสมอไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ดังจะเห็นได้จากปีแรกของรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ก็ประกาศลาออกจากความเป็นนายกรัฐมนตรี โดยอ้างเหตุผลของการขึ้นราคาน้ำมัน ประชาชนเดือดร้อน

แต่ความเป็นจริงเพราะไม่อาจจะสนองความต้องการของกลุ่มนายทหาร จ.ป.ร.รุ่น 7 ที่รวมกลุ่มกันคุมเสียงในสภาได้ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บังคับการกรมและผู้บังคับการกองพันทั้งหมด ไม่ต้องการเลื่อนเป็นรอง ผบ.พล.ต้องการข้ามไปเป็น ผบ.พล.เลย เพราะตำแหน่ง “รอง” ทุกตำแหน่งไม่มีอำนาจสั่งการ นอกจากได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการตัวจริง

จึงได้เชิญ ผบ.ทบ.ในขณะนั้นขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป นายทหารกลุ่ม “ยังเติร์ก” หมดอำนาจลงเมื่อเกิดกรณี “เมษาฮาวาย” เพราะไม่อาจจะบีบบังคับให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นยังเป็น ผบ.ทบ.รับเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร แต่เดินทางออกจากกรุงเทพฯไปตั้งหลักอยู่ที่นครราชสีมา การทำรัฐประหารซ้ำจึงประสบความล้มเหลว ไม่สำเร็จ

เมื่อบทเฉพาะกาลของรัฐมนตรีปี 2521 สิ้นสุดลง หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2526 อำนาจของสมาชิกวุฒิสภาที่จะมาร่วมลงมติกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็สิ้นสุดลง ตามบทเฉพาะกาล

ก่อนการเลือกตั้งปี 2526 มีหลายฝ่าย เช่น พรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลรวมทั้งนายทหารในกองทัพ เห็นว่านายกรัฐมนตรีควรจะตั้งพรรคการเมืองและลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี “คนใน” จะสง่างามกว่าการเป็นนายกรัฐมนตรี “คนนอก” หรือจะเรียกให้สวยก็คือ “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” แต่คณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วย จึงเป็นนายกรัฐมนตรีมาได้อีกหนึ่งสมัย เพราะสมาชิกวุฒิสภาชุดเดิมก็ยังอยู่

การเป็นนายกรัฐมนตรี “คนนอก” ตามบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภามาร่วมลงคะแนนเสียงด้วยสำหรับญัตติสำคัญ เช่น ญัตติเห็นชอบนโยบายของรัฐบาลก่อนเข้าทำหน้าที่ ญัตติผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีและญัตติผ่านร่าง พ.ร.บ.การเงิน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้วินิจฉัยว่ากฎหมายใดเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน เสถียรภาพของนายกรัฐมนตรีรับเชิญในช่วงที่เป็นระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ จึงอยู่ที่การมีวุฒิสภาเข้ามาเป็นสภาพี่เลี้ยงในช่วงการใช้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ แต่หลังจากนั้นเมื่อหมดระยะเวลาของการใช้บทเฉพาะกาล เสถียรภาพของรัฐบาลก็จะอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีรับเชิญก็จะมีปัญหาสำหรับการต่อรองกับพรรคการเมืองที่มาร่วมรัฐบาล

สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับที่จะออกมานี้ สมาชิกวุฒิสภาซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลปัจจุบัน ก็คงจะให้ความเห็นชอบกับนายกรัฐมนตรีรับเชิญจากพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง แล้วมีสมาชิกวุฒิสภาร่วมอยู่ในที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบ

ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว จัดตั้งคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อจะต้องขอความเห็นชอบในเรื่องนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน หากรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ปัญหาก็จะเกิดขึ้นทันที ถ้าเสียงจากพรรคการเมืองต่างๆ ที่ร่วมเป็นรัฐบาลมีไม่ถึง 375 เสียง หรือเมื่อจะต้องผ่านญัตติต่างๆ โดยไม่มีวุฒิสภาเป็นพี่เลี้ยง

วุฒิสภากลับไปเป็นสภากลั่นกรองกฎหมายและให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งกรรมการองค์กรอิสระเท่านั้น

มองไปข้างหน้าก็ยังมองไม่ออกอยู่ดีว่า “นายกฯรับเชิญ” หรือ “นายกฯคนนอก” ที่อาศัยเสียงสนับสนุนให้ความเห็นชอบของสมาชิกวุฒิสภาเท่านั้นจะอยู่ทำงานได้อย่างไร ถ้าไม่อาศัยกองทัพในการหนุนหลัง

หลังจากการทำรัฐประหาร ในปี 2534 เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2535 ก็มีความพยายามที่จะใช้สูตรหรือโมเดลอย่างเดียวกัน สำหรับรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเกิดกรณีพฤษภาทมิฬหลังจากเข้ารับตำแหน่งได้เพียง 47 วัน ยังไม่ทันได้ทำงานอะไร

ถ้าการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งในปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561 มีพรรคการเมืองขนาดเล็กแต่มีจำนวน ส.ส.มากพอที่จะทำการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งก็ได้ประกาศตัวไปแล้วและคิดว่าน่าจะได้จำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร เพียงพอที่จะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอก อาจจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน หรือ คนในคณะ คสช.คนใดคนหนึ่งและได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล เพราะมี ส.ว.จำนวน 250 คน ร่วมให้ความเห็นชอบด้วย

ปัญหาคงจะไม่มีถ้าพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาลมีจำนวนที่นั่งในสภาเกิน 250 คน กล่าวคือประมาณ 300 ที่นั่งมาช่วยรัฐบาล ซึ่งน่าจะหาได้ไม่ยากเพราะพรรคการเมืองต่างๆ มักจะวิ่งเข้าหาศูนย์อำนาจ ปัญหาเสียงในสภาไม่น่าจะเป็นปัญหา

ปัญหามักจะเกิดอยู่นอกสภาและมักจะเกิดจากกองทัพที่สนับสนุนนายกฯรับเชิญนั่นเอง จะยึดมั่นสนับสนุนอยู่ไปได้นานเท่าใด ที่เคยปรากฏมาแล้วในช่วงปี 2521 ถึงปี 2531 ที่ความกดดันจากกองทัพมีอยู่ตลอดเวลา ถ้าสนองตอบไม่ได้ก็จะเกิดกระแสการปฏิวัติรัฐประหาร เสถียรภาพของนายกคนนอกจึงอยู่ที่กองทัพ ไม่ได้อยู่ที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา

ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะเขียนว่าอย่างไรก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image