ฟื้นเศรษฐกิจอีกครั้ง

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนมาถึงการระบาดรอบที่ 3 ล่าสุด ความเดือดร้อนมีไปทุกหย่อมหญ้า เมื่อพูดถึงภาพรวมของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคเอกชนในส่วนผู้ประกอบการทุกขั้นตอนการผลิต จนถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ที่ผ่านมา ภาคเอกชนเปิดเกมรุกเสนอขอจัดซื้อวัคซีนทางเลือกเอง เพราะมองว่า การฉีดวัคซีนในช่วงแรกๆ ที่ผ่านมา ช้าเกินไป แผนของเอกชนกะว่าจะประเดิมฟื้นตัวช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีผู้ประกอบการหลายแห่งโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่วางแผนไว้อย่างดี กระทั่งเกิดคลัสเตอร์ย่านสถานบันเทิงขึ้นมา ต่อมาเกิดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ

ขณะที่ต่อมา โพลของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้สำรวจการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2564 จำนวน 1,256 ตัวอย่าง

การใช้จ่ายเทศกาลสงกรานต์ปีนี้หงอยถนัดใจ มีเงินสะพัด 1.12 แสนล้านบาท ลดลง 16.6% เทียบกับสงกรานต์ปี 2562 และยังเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่ปี 2556 ที่มีมูลค่าการใช้จ่าย 114,119 ล้านบาท ทั้งที่เคยประเมินไว้ว่าจะมีเงินสะพัดช่วงสงกรานต์ที่หยุดยาว ประมาณ 140,000 ล้านบาท

Advertisement

ทำให้เห็นบรรยากาศของเศรษฐกิจไม่ปรากฏสัญญาณการฟื้นตัวแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยืนยันเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมาว่า ขณะนี้หาออเดอร์วัคซีนอีก 35 ล้านโดส รวมกับที่มีไว้แล้ว 65 ล้านโดส รวมเป็น 100 ล้านโดส สามารถฉีดให้ประชาชนทุกกลุ่มในประเทศได้อย่างเพียงพอ เดิมภาคเอกชนจะขอมีส่วนร่วมจัดหาก็ไม่ต้องอีกแล้ว ประกอบกับการจัดหาวัคซีนของภาคเอกชนไม่ใช่จะมีวัคซีนส่งถึงประเทศไทยในช่วงประมาณ 2-3 เดือนนี้ แต่ต้องรอไปถึงไตรมาส 4 ใกล้เคียงกับที่รัฐบาลทยอยได้วัคซีนเข้ามา

ตามเป้าหมายจะฉีดให้คนไทย 50 ล้านคน หรือ 70% ของประชาชนทั้งประเทศ หรือรวมประมาณ 100 ล้านโดสในปีนี้

Advertisement

อมรเทพ จาวะลาผู้ช่วยกรรมการผู้จัดใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ชี้ให้เห็นว่า บรรยากาศเศรษฐกิจตอนช่วงก่อนสงกรานต์แตกต่างอย่างชัดเจนจากช่วงสัปดาห์ก่อน

สามารถสรุปจากสิ่งที่ผู้บริหารใหญ่ท่านนี้พูด ออกมาได้ว่า ปลายเดือนมีนาคมยังมีกำลังซื้อในประเทศที่คึกคักขึ้น กลุ่มผู้ประกอบการมีการสต๊อกสินค้า กลุ่มโรงแรม ร้านอาหารก็พร้อมรับผู้มาเยือน กระทั่งเกิดยอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้นต่อเนื่อง สุดท้ายกิจการทางเศรษฐกิจก็สะดุดลง ลามไปทั่วประเทศ

หรือการระบาดรอบที่ 3 ที่ล่าสุดภาคเอกชนหวังยอมเจ็บแล้วต้องจบให้เร็วที่สุดก่อนจะเริ่มเข้าสู่ไตรมาสที่ 3

ดังนั้น สิ่งที่ผู้บริหารซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวก็ทำนองเดียวกับผู้บริหารภาคเอกชนที่มองว่า ประเทศจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วอีกครั้งก็ต่อเมื่อมีการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ที่อย่างน้อยต้องมีการฉีดครอบคลุมถึง 70%

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติก็ยอมรับถึงผลการระบาดของโควิดในรอบที่ 3 เฉพาะเมษายนเดือนเดียว ส่งผลกระทบหนักต่อเศรษฐกิจ เคยมีการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจโตหรือจีดีพีไว้ที่ 3% ก่อนหน้านั้นรัฐบาลลุ้นเป้าหมายที่ 4 % คาดกันว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ในสัปดาห์นี้ จะมีการทบทวนกันใหม่

ส่วนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง มีการประเมินใหม่ล่าสุดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวที่ 2.3% ต่อปี ลดลงจากเมื่อเดือนมกราคม ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ที่ 2.8% ต่อปี เพราะตอนนั้นมองไปที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยอย่างน้อย 5 ล้านคน หรือมีการทยอยเปิดประเทศ แต่เมื่อเกิดการระบาดรอบที่ 3 จึงลดเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 2 ล้านคนเท่านั้น รวมรายได้เข้ามา 1.7 แสนล้านบาท จากเดิมคาด 2.6 แสนล้านบาท จึงส่งผลกระทบต่อการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไปด้วย

วันนี้รัฐบาลจะเร่งฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศหรือเป็นล็อตใหญ่ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป รัฐบาลวางแผนฉีดให้ประชาชนได้กว่าวันละ 5 แสน-1 ล้านโดส โดยมีภาคเอกชนสนับสนุนสถานที่จัดฉีดกระจายไปทั่วประเทศกว่า 1 พันแห่ง

ต้องช่วยกันลุ้นและภาวนาทุกอย่างจะต้องเดินไปตามแผน ไม่น่ามีอะไรมาสะดุดเด็ดขาด

เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image