ก้าวข้ามความกลัวไปสู่ความปรารถนาที่เหมือนกัน

นักการเมืองที่เคยเป็นนักวิชาการคนหนึ่ง โพสต์ข้อความยาว 15 ข้อเพื่อตอบคำถามว่าเขากลัวอะไร สรุปได้ว่าเขากลัวว่าประเทศไทยจะเป็นสาธารณรัฐ โดยอธิบายว่าสิ่งที่น่ากลัวคือ สาธารณรัฐบางแห่งเป็นประชาธิปไตยเพียงในนาม แต่เนื้อแท้เป็นเผด็จการที่ฉ้อฉล กอบโกย กดขี่ และต่ออายุผู้นำให้อยู่ในอำนาจไปเรื่อย ๆ เขากลัวว่าประเทศไทยจะเป็นแบบนี้ แล้วกล่าวโทษนักการเมืองที่เคยมีอำนาจ (โดยไม่ระบุชื่อ) ว่าชักใยให้ประเทศไทยไปสู่สาธารณรัฐ ขณะเดียวกัน เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาเชิดชูซึ่งได้แก่ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ฉ้อฉลด้วยมีองค์พระประมุขผู้ทรงธรรม กำลังถูกคุกคาม จึงขอเชิญชวนผู้ที่เชิดชูเหมือนเขา ให้แปลงความกลัวเป็นพลังการเมืองที่ต่อต้านเล่ห์กลของนักการเมืองผู้ฉ้อฉล

ผมเคารพความรู้สึกของเขา แต่ไม่อยากให้ใช้ความกลัวมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อโค่นล้มนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม ใช้สติและกาลามสูตรจะดีกว่าใช้ความกลัวไหม อันที่จริงเราอาจจะกลัวเผด็จการเหมือนกัน แต่คนละคนกันได้ไหม ขณะนี้ผมกลัวโควิด จึงอยากชวนให้คิดว่า เราน่าจะอยู่กันได้ในความกลัวที่ต่างกัน หากแต่ควรเปลี่ยนมาเน้นความกลัวที่เหมือนกัน (เช่น กลัวโควิด) และความปรารถนาที่เหมือนกัน (เช่น ความทันสมัยที่ยั่งยืน) มากกว่า

อย่างไรก็ดี นักการเมืองคงมีมุมมองของเขา จึงขอเบนความสนใจจากความขัดแย้งระหว่างนักการเมือง มาสู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับขบวนการเยาวชนดูบ้าง ในเรื่องนี้จะมีทางที่จะลดราวาศอกกันบ้างได้ไหม เรื่องแรกที่อยากขอร้องคือ ทำอย่างไรจึงจะช่วยเพนกวินให้ออกจากมุมอับของการอดอาหาร เขาเริ่มอดอาหารในวันที่ 15 มีนาคม 2564 ครบ 6 สัปดาห์ในวันที่ 25 เมษายน นับแต่นี้ไป ชีวิตอาจเข้าสู่อันตราย

ในระยะแรก ขบวนการเยาวชนมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือรัฐบาลหยุดรังแกพวกเขา แก้ไขรัฐธรรมนูญ และนายกรัฐมนตรียุบสภาฯ ต่อมาจึงเพิ่มเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้สร้างความหวั่นวิตกและความกลัวแก่คนหลายคน รวมทั้งนักการเมืองคนที่ผมพาดพิงถึงในตอนต้น นายกรัฐมนตรีที่เคยบอกว่ามีกระแสรับสั่งมิให้ใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ก็ออกมาประกาศว่าจะใช้มาตรการทางกฎหมายทุกข้อ แล้วมีการตั้งข้อหาการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ต่อเยาวชนหลายคน โดยบางคนไม่ได้รับการประกันตัว

Advertisement

ตอนนี้มีการชุมนุมของประชาชนจำนวนหนึ่งที่ออกมาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ด้วยเหตุผลว่าขาดความสามารถและความชอบธรรม การชุมนุมในความหมายเดิมคือหมู่ชนที่มารวมกันมาก ๆ แต่ปัจจุบัน เยาวชนชอบจัดชุมนุมฉับไว (flash mob) ที่ไม่ต้องการหมู่ชนมากๆ ไม่ต้องการมารวมกันเป็นเวลานาน ต้องการเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อสื่อสารให้สังคมเกิดการตระหนักรู้ใหม่ ๆ นอกจากนี้ มีการใช้อินเตอร์เน็ต เพื่อจัดชุมนุมออนไลน์โดยมีหมู่ชนมารวมตัวกันในโลกไซเบอร์ การชุมนุมในรูปแบบต่าง ๆ ย่อมมีผลไม่มากก็น้อยในการเปิดโปงผู้มีอำนาจ โดยหวังว่าผู้ที่ไม่ยอมรับอำนาจที่ไม่ชอบมาพากลจะมีมากขึ้นเป็นลำดับ แต่อันที่จริง ผู้มีอำนาจอาจไม่นำพาการเปิดโปงใดๆ มิหนำซ้ำมักจะใช้กฎหมายและกลไกรัฐเพื่อสื่อสารตอบโต้หรือสร้างความลำบากแก่ผู้ที่ไม่ชอบตน ดังที่เห็นอยู่ในขณะนี้ ความขัดแย้งทางการเมืองจึงยืดเยื้อเรื้อรัง

ถ้าจะให้เดา นายกรัฐมนตรีคงไม่ลาออก เพราะพูดเองว่า “ผมทำผิดอะไร” การใช้กฎหมายและกลไกรัฐเพื่อค้ำจุนตำแหน่งคงดำเนินต่อไป แถมยังชักจูงคนจำนวนมากให้เชื่อว่า กำลังใช้อำนาจเพื่อปกปักอุดมการณ์ของรัฐ นั่นคือ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” การปกปักดังกล่าวรวมถึงการสร้างระบบความเชื่อผ่านเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ที่มุ่งผลทางการเมืองมากกว่าการค้นหาความจริงทางวิชาการ อุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” จึงถูกท้าทายโดยคนรุ่นใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องเชื่ออย่างที่คนรุ่นก่อนถูกบอกให้เชื่อ คือให้เชื่อตำราเรียนแม้จะขาดหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีมารองรับ เช่น ตำราเรียนเคยสอนว่าชนชาติไทยมีถิ่นกำเนิดในเอเซียกลางแถบทะเลแคสเปียนหรือเทือกเขาอัลไต ต่อมามีความเชื่อว่าชนชาติไทยเคยอยู่ในมณฑลเสฉวนแถบดินแดนทิเบตต่อกับจีน เมื่อประมาณสองพันปีก่อนจึงอพยพลงใต้สู่มณฑลยูนนาน ตำราเรียนเก่า ๆ มักเขียนด้วยความเชื่อว่า ชนชาติไทยมีประวัติความเป็นมาและมีความยิ่งใหญ่มานานมากแล้ว เราที่เป็นลูกหลานจะต้องภูมิใจในบรรพบุรุษของตน

ในส่วนของรัฐก็มีเรื่องเล่าเช่นกัน เช่นว่ารัฐสยามมีความเป็นหนึ่งเดียวและต่อเนื่องมาแต่รัฐสุโขทัย-รัฐยุทธยา-และรัฐธนบุรี/กรุงเทพฯ แต่เมื่อพิจารณาความเป็นรัฐจากปริมณฑลอำนาจ จะพบว่ารัฐอยุธยา แม้ในสมัยที่มีความเข้มแข็งมาก ก็ไม่สามารถควบคุมเขตขัณฑสีมาที่อ้างว่าเป็นของรัฐทั้งหมดได้โดยตรง เขตที่สามารถควบคุมได้มีจำกัดอยู่รอบ ๆ ศูนย์กลาง ส่วนหัวเมืองก็เป็นศูนย์อำนาจที่ควบคุมพื้นที่ใกล้ๆ หัวเมืองนั้นๆ รัฐสยามที่อ้างถึงจะเข้าทำนองมณฑลแห่งอำนาจหลาย ๆ มณฑล มากกว่ารัฐที่กว้างใหญ่ไพศาล

Advertisement

กษัตริย์สมัยก่อนเป็นผู้ปกครองมณฑลร่วมกับราชวงศ์และขุนนาง ซึ่งนอกจากจะรับใช้กษัตริย์แล้วยังต้องหารายได้จากการปกครองอาณาบริเวณของตน รัฐจึงมีลักษณะเป็นรัฐศักดินามาโดยตลอด อย่างไรก็ดี ยุคแห่งการค้าที่เริ่มต้นในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ได้สร้างความเข้มแข็งและความร่ำรวยให้แก่รัฐต่าง ๆ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ การปกครองจึงเคลื่อนตัวจากระบอบศักดินามาสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือกษัตริย์สามารถกระชับอำนาจเพิ่มมากขึ้นตามลำดับและโอกาส

ในหนังสือ “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ของกุลลดา เกษบุญชู มิ๊ด ผู้เขียนเสนอว่า การสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยามเพิ่งเสร็จสมบูรณ์ก็ในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งช้ากว่าหลายประเทศในยุโรป แต่เมื่อเทียบกับอิตาลีและเยอรมนีก็ไม่ถือว่าช้านัก เพราะทั้งสองประเทศมีการรวมมณฑลต่าง ๆ กันเป็นรัฐในปี ค.ศ. 1870 และ 1871 ตามลำดับ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีลักษณะที่พร้อมมูลคือ มีเขตแดนแห่งอำนาจที่แน่นอน มีรัฐบาลที่ปกครองทั้งอาณาเขตผ่านข้าราชการประจำที่รับเงินเดือน และมีการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นองค์อธิปัตย์ อย่างไรก็ดี ภายในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เอง ก็เริ่มมีความเชื่อเรื่องรัฐชาติและรัฐราชการเกิดขึ้นแล้ว

รัฐชาติเป็นรัฐสมัยใหม่ที่เกิดพร้อมกับลัทธิชาตินิยม ชาติเป็นศัพท์เกิดใหม่ที่มาพร้อมกับการติดต่อกับโลกตะวันตก ชาติหมายถึงกลุ่มคนที่มีความคล้ายคลึงกันทางภาษาและวัฒนธรรม ฯลฯ ลัทธิชาตินิยมหมายถึงความรักความสามัคคีของคนชาติเดียวกัน หรือความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์ของบ้านเมืองมากกว่าส่วนตน อย่างไรก็ดี กลุ่มคนที่อาศัยในดินแดนของรัฐส่วนใหญ่ รวมทั้งรัฐสยาม จะมีอยู่หลายชาติพันธุ์ หลายภาษาแม่ หลายศาสนา ฯลฯ การสร้างรัฐชาติคือการสร้างชุมชนสมมุติ (imagined community) ที่ถือว่าทุกคนที่อาศัยอยู่ในรัฐเป็นชาติเดียวกัน (อย่างน้อยก็มีสัญชาติเดียวกัน) ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีการช่วงชิงทางความคิดว่าข้าราชการควรภักดีต่อชาติ (ประชาชน บ้านเมือง) มากกว่าต่อกษัตริย์หรือไม่ การช่วงชิงนี้มาถึงจุดเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้กฎหมายในปี 2475 แต่การช่วงชิงดังกล่าวยังไม่จบ หากดำเนินต่อมาจนถึงวิกฤตการณ์ในวันนี้

การสร้างรัฐชาติคงดำเนินต่อไป ส่วนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์คงค่อย ๆ เลือนไปพร้อมกับจินตนาการของอดีต แต่คงใช้เวลาอีกพอสมควร คนที่กลัวสาธารณรัฐจะยังกลัวอยู่ แม้ประเทศส่วนใหญ่จะเป็นสาธารณรัฐและคนที่อยากเปลี่ยนการปกครองของไทยให้เป็นสาธารณรัฐจะมีเพียงส่วนน้อย แต่ความกลัวคงลดลงยากด้วยการใช้เหตุผล จึงขอเสนอให้กลัวอีกเรื่องหนึ่งแทน เช่น กลัวว่าคนในชาติจะอยู่ร่วมกันไม่ได้อย่างปกติสุข กลัวการถูกเบียดเบียนด้วยโรคโควิดและโรคการเมืองอยู่ร่ำไป

จึงขอเสนอให้ลดความเครียดในการปกป้องอุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ลงไปบ้าง แล้วหันมาคิดเรื่องการสร้างความปรองดองของคนในชาติด้วยอุดมการณ์ของรัฐสมัยใหม่ให้มากขึ้น นั่นคือ รัฐที่มีรัฐธรรมนูญเป็นธงนำในการเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองนั่นเอง

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image