โควิดกับปัญหาแรงงาน

แม้ประเทศไทยจะได้เผชิญกับการระบาดของโควิดซึ่งเป็นส่วนสำคัญของภัยภิบัติด้านสุขภาวะรอบล่าสุดมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีแล้ว แต่การรับมือกับปัญหาก็ยังมีเรื่องให้ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมาโดยตลอด

ส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือเรื่องของการแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ อันเป็นผลมาจากภัยพิบัติโควิด

การทำความเข้าใจง่ายๆ ในเรื่องของโควิดกับปัญหาเศรษฐกิจนั้น ไม่ใช่ว่ารัฐบาลไม่ทำ แต่ที่เกิดการวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดก็คือที่ทำไปมันได้ผลไหม และมันสะท้อนความเข้าใจเรื่องของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน

ยิ่งเมื่อผ่านวันแรงงานในปีนี้มาไม่กี่วัน สิ่งที่เราเห็นก็คือ ตกลงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ความสำคัญไปที่ไหนกันแน่

Advertisement

เพราะเท่าที่ผ่านมาถ้าไม่นับเรื่องความล่าช้า จะพบว่าเรื่องการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจจะมองเรื่องแรงงานไม่ค่อยเป็นระบบเท่าไหร่

คือไปเน้นที่การเยียวยาและช่วยเหลือตามหลัง ไม่ได้เน้นการคงการจ้างงาน

ยิ่งในรอบล่าสุด ความล่าช้าในการตอบสนองต่อปัญหาที่มีการงดกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ใช่น้อย เช่น สถานบันเทิง ที่ปิดเลยในระยะวันเวลาที่กำหนด และร้านอาหารในบางพื้นที่ที่ให้แต่ซื้อกลับบ้าน แต่กระบวนการเยียวยาและช่วยเหลือยังไม่ได้ตามมา

Advertisement

เกิดอะไรในหนึ่งปีนี้ที่ยังไม่มีการตั้งคำถามว่าหัวใจสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจคือการจ้างงาน ไม่ใช่แค่การบริโภคผ่านการแจกเงินเล็กน้อยซึ่งไม่ได้สัมพันธ์กับค่าใช้จ่ายจริง และยังซ้ำเติมด้วยการบอกว่าคนที่มีเงินเก็บให้เอาออกมาบริโภคช่วยชาติ

ประการแรก สิ่งที่ควรจะพูดถึงในเรื่องของแรงงานและการจ้างงานในช่วงโควิดที่ประเทศในโลกเขาพูดกันก็คือการพูดถึงความปลอดภัยของแรงงานที่ยังต้องทำงาน ไม่ใช่เพราะแค่เขาต้องทำมาหากิน แต่หมายถึงการต้องหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจและชีวิตของสังคมให้ดำเนินต่อไป

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ไม่ใช่แค่มองว่ามีมาตรการที่แรงงานและนายจ้างจะต้องปฏิบัติตาม เช่น การเว้นระยะห่าง การทำความสะอาดในที่ทำงาน ที่หมายรวมไปถึงสถานที่ให้บริการด้วย

ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สิ่งหนึ่งที่ควรจะพิจารณาก็คือ เมื่อเกิดวิกฤตโควิดแรงงานจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้ตกงาน คือยังต้องทำงานอยู่ เขาอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงขึ้น ตั้งแต่การออกจากบ้านมาทำงาน การติดเชื้อในที่ทำงาน และยังมีผลไปสู่การนำเชื้อกลับไปที่บ้าน เรื่องนี้ในสหรัฐอเมริกามีการต่อสู้กันอยู่มาก

นั่นหมายความว่า ในประเทศไทยเราจะตกอยู่ในวาทกรรมเรื่อง “อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ” และ “ทำงานที่บ้าน” ทั้งที่ยังไม่ได้สำรวจเลยว่ามีคนอีกแค่ไหนที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ ไม่ใช่เพราะเขาต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเขาเท่านั้น แต่หมายถึงงานของเขาเป็นงานที่ต้องทำให้ความเป็นปกติของสังคมนั้นๆ ดำเนินอยู่ไปได้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานการขนส่งของรัฐ เช่น คนขับและกระเป๋ารถเมล์ ในแง่ของรัฐ หรือคนงานในโรงงานผลิตอาหาร แม่ค้าในตลาด ผู้คนในภาคบริการ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถแท็กซี่ รถสองแถว รวมทั้งคนงานแพลตฟอร์มซึ่งหมายถึงคนที่ทำงานในภาคการขนส่งใหม่ที่ไม่ใช่แค่ส่งของรับของจากเรา แต่ยังต้องถูกกำหนดชีวิตและความว่องไวต่างๆ ผ่านระบบการตัดสินใจและประเมินผลด้วยเทคโนโลยีมากกว่าตัวมนุษย์ (ที่เรียกว่าเอไอ)

นอกเหนือจากที่เขาหยุดงานแล้วไม่มีกิน เขายังต่อหล่อเลี้ยงให้เมืองมีชีวิต และคนเหล่านี้ก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อและกระจายเชื้อต่อได้เช่นกัน ดังที่เราทราบกันว่ากรณีแรกที่พบการติดสู่ประเทศไทยคือพี่คนขับแท็กซี่ที่สนามบิน

ในแง่นี้การทำความเข้าใจเรื่องของการจ้างงานในช่วงโควิดก็คือเรื่องของการยกระดับสวัสดิการและการป้องกันส่งเสริมการปลอดภัยให้กับแรงงานที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง รวมถึงการพยายามช่วยเหลือให้เขาอยู่รอดอย่างปลอดภัยในช่วงเวลานี้ ซึ่งน่าจะต้องรวมถึงการเพิ่มความคุ้มครองในหลายๆ ด้านให้กับเขา เช่น เบี้ยประกัน หรือเพิ่มเงินในกิจการเสี่ยงที่จำเป็น

เรื่องที่ว่ามานี้มันจะลามไปถึงเรื่องการย้อนพิจารณาว่าก่อนหน้าจะเข้าวิกฤตโควิดนั้น แรงงานเหล่านี้ได้รับการเหลียวแลมากแค่ไหนด้วย

เรื่องของการมองไม่เห็นแรงงานกลุ่มเสี่ยงในฐานะผู้ที่แบกความเสี่ยงมากกว่าคนธรรมดานี้ ยังจะต้องรวมไปถึงแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีจำนวนมหาศาลและไม่ได้มีคุณภาพชีวิตและการทำงานที่ดี

ไม่ใช่เพราะเขาเลือกหรือมีชุดทางวัฒนธรรมเช่นนั้น แต่หมายถึงว่าคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ที่เสี่ยงนั้นคือเงื่อนไขที่เขาต้องทนให้ได้ในการมีชีวิตในระบบเศรษฐกิจเช่นนี้

ประเด็นที่สำคัญอยู่ที่ว่าแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ไม่ว่าจะถูกหรือผิดกฎหมายพวกเขามีส่วนสร้างสรรค์เศรษฐกิจในสังคมไทย ดังนั้น พวกเขาจึงควร
มีสิทธิที่จะต้องได้รับการคุ้มครองดูแลจากประเทศไทยเช่นกัน และการทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีและปลอดภัยก็เป็นเงื่อนไขสำคัญในวันนี้ที่ทำให้เราปลอดภัยด้วย

ดังนั้น ไม่ว่ากลุ่มเสี่ยงพิเศษหรือกลุ่มที่เปราะบางจากการได้รับสิทธิตามกรอบของความเป็นพลเมืองไทย (หมายความว่าระบบที่จะได้รับการคุ้มครองที่น้อยกว่าคนไทย) ก็ย่อมจะต้องได้รับการพิจารณาเข้าถึงระบบการตรวจหาเชื้อและการดูแลจากประเทศนี้

ยังไม่นับว่าจะมีการจัดลำดับความสำคัญอย่างไรในการฉีดวัคซีนกับแรงงานแต่ละส่วน

ประการต่อมาในเรื่องของแรงงานก็คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากโควิดให้ความสำคัญในการจ้างงานน้อยเมื่อเทียบกับการแก้ปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ กล่าวคือไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพยุงกิจการที่ทำให้การจ้างงานดำรงอยู่ได้ แม้ในช่วงแรกจะมีความพยายามที่จะเพิ่มการจ้างงานโดยการจ้างงานใหม่ แต่ก็พบว่าในหลายกิจการเขาต้องการเอาแรงงานเก่าไว้ให้ได้ ไม่ใช่รับแรงงานใหม่เลย

ในการกู้เงินมาแก้วิกฤตตาม พ.ร.บ.เงินกู้ของรัฐบาลนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจ้างงานในฐานะการพยุงเศรษฐกิจ และการเปิดให้สินเชื่อเป็นเรื่องของการให้ผ่านธนาคารซึ่งทำให้เงื่อนไขการได้สินเชื่อนั้นค่อนข้างยาก

พูดอีกอย่างก็คือวิกฤตนี้รูปธรรมหนึ่งที่สำคัญคือการตกงาน ไม่ใช่แค่ขาดเงินใช้ง่ายแล้วเอาเงินเล็กน้อยไปผ่านมือประชาชน การไม่มีงานทำเป็นเงื่อนไขสำคัญทำให้เขาไม่มีเงิน ไม่ใช่เพียงแค่เขาไม่มีเงิน สิ่งสำคัญจึงควรไปเน้นที่การจ้างงานให้เขามีรายได้ ไม่ใช่เอาเงินส่วนที่น้อยกว่าที่เขาได้นั้นไปใส่ในมือเขา

ในเรื่องนี้มีสองประเด็นที่จะต้องพิจารณากัน เรื่องแรก คือยังไม่มีข้อมูลและการศึกษาว่าเงินเยียวยาที่มอบให้ประชาชนเพียงพอ หรือได้สัดส่วนกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจแค่ไหน เรายังไม่เห็นการสำรวจว่าเอาเข้าจริงแล้วค่าใช้จ่ายที่แท้จริงของแรงงานมีอยู่แค่ไหน

อย่าลืมว่าแรงงานจำนวนไม่น้อยไม่ได้อยู่รอดได้จากค่าแรงรายวัน แต่เขาอยู่รอดด้วยการทำงานเกินเวลา และในหลายกรณีการอยู่รอดทำได้โดยการทำงานหลายงานในแต่ละวัน และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจแบบแรงงานแพลตฟอร์มชั่วคราว หมายถึงเขาอาจไม่ได้ทำงานส่งอาหารหรือส่งเอกสารทั้งวัน แต่อาจต้องออกมาทำบางช่วงเวลา

การคำนวณเงินในการช่วยเหลือเรื่องการบริโภคใช้สอยในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่ได้พาเราเข้าไปเข้าใจโครงสร้างของแรงงานได้มากกว่าจำนวนของผู้เดือดร้อน และก็เพิกเฉยต่อปริมาณการช่วยเหลือที่ไม่พอ เช่น การลงทะเบียนในโครงการต่างๆ

ส่วนการทำความเข้าใจความเสียหายจริง และการต้องการได้ข้อมูลเศรษฐกิจฐานรากจริงๆ ของสังคมไทยเราแทบจะไม่เห็นในเรื่องนี้

จนถึงวันนี้เรายังไม่ทราบเลยว่าแรงงานใช้จ่ายเป็นค่าเช่าบ้านเท่าไหร่ มีกี่รายที่มีบ้านของตัวเอง เรื่องของค่าใช้จ่ายในการศึกษาของลูก และการใช้จ่ายบริโภคอีกมากมาย ยิ่งแรงงานต่างเมืองต่างย่านกันเรื่องราวความเดือดร้อนเหล่านี้่ย่อมไม่เท่ากันเป็นธรรมดา

เรายังไม่ได้นับเรื่องของการลดค่าสาธารณูปโภคอย่างเป็นระบบ และส่วนใหญ่การช่วยเหลือหลายด้านก็ไม่มีความต่อเนื่อง รวมทั้งระบบหนี้ที่ยังมีอยู่

ในสภาพสังคมที่ยังไม่สามารถมีค่าจ้างที่เป็นจริงที่ทำให้มีชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี (living wage ไม่ใช่ minimum wage) แถมไม่ได้คำนวณว่าคนหนึ่งคนนั้นควรจะอยู่ได้จากค่าแรงที่ดูแลคนได้อีกสองคน หรือมองว่าการจ้างงานเป็นตัวเลขที่ง่ายคือ ถ้ามีงานทำสักชั่วโมงก็ถือว่ามีงานทำแล้ว เราก็ยังไม่สามารถทำความเข้าใจระบบการจ้างงานและสภาวะของปัญหาของคนใช้แรงงานได้มากนัก

ในประการที่สาม ในเรื่องของการจ้างงานนั้น เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจเรื่องที่ซับซ้อนในมิติเพศสภาวะด้วย เพราะผู้หญิงในฐานะแรงงานย่อมได้รับผลกระทบทางด้านการจ้างงานมากกว่าผู้ชายในหลายมิติ ด้วยว่าเดิมผู้หญิงก็ทำงานทั้งสองลักษณะคือ งานที่มีรายได้ (ซึ่งมักจะได้น้อยกว่าผู้ชายในสถานะ/ตำแหน่งเดียวกัน) และงานที่ไม่มีรายได้ อาทิ การทำอาหาร การเลี้ยงลูก และการดูแลคนชรา ซึ่งหมายความว่า เดิมนอกจากผู้หญิงจะไม่ได้รับค่าแรงในหลายๆ กรณีแล้ว พวกเขายังเป็นด่านหน้าในการให้สวัสดิการทางสังคมโดยที่เดิมเขาก็อาจจะไม่ได้รับค่าแรงและการตอบแทนที่ได้สัดส่วนหรือเหมาะสมอยู่แล้วมาในวันนี้

ในประการสุดท้าย ไม่ใช่แค่ปัญหาที่ยังไม่แก้ไขในเรื่องการดูแลแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันอยู่แล้วแต่ในอนาคตคือเรายังมองไม่เห็นว่าอนาคตของเศรษฐกิจไทย และการพัฒนาทั้ง “คุณภาพ” และ “สวัสดิการ” ของแรงงงานจะแปรเปลี่ยนจากปัจจุบันอย่างไรบ้าง นอกจากคำสวยๆ ประเภทการพัฒนาแรงงาน การยกระดับแรงงาน ที่ไม่มีความเป็นรูปธรรมมากนัก

ผมยังไม่เชื่อว่าการระบาดของโควิดจะไม่มีระลอกใหม่ และอาจมีความเป็นไปได้ว่าการระบาดระลอกใหม่ หรือระลอกใหม่ๆ อาจจะมาถึงก่อนที่เราจะได้รับวัคซีนกันจนถึงระดับที่มีภูมิต้านทานหมู่ก็อาจเป็นได้

ผมก็ยังกังวลใจว่าปัญหาแรงงานอาจไม่ได้รับการแก้ไขด้วยความเข้าใจและเห็นใจอย่างเป็นระบบที่แรงงานได้ประโยชน์จริงๆ และเรื่องนี้มันจะสะท้อนว่าประเทศไทยหลังโควิดจะเหลือหน้าตักมากน้อยแค่ไหนในการอยู่รอดครับ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image