ให้อภัย ให้โอกาส

จากสถานการณ์การระบาดของโควิดระลอกที่ 3 ในประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต

ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากระบบบริการดูแลรักษาที่เข้าถึง ทั่วถึง และเท่าเทียมแล้ว สิ่งที่เราทุกคนต้องการมากที่สุดในยามนี้คือ “กำลังใจ”

และในเรื่องกำลังใจนี้ พระเมธีวชิโรดม หรือท่าน ว.วชิรเมธี ได้เขียนบทความเพื่อให้กำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงคนไทยทั้งประเทศ เพื่อใช้ชีวิตในภาวะวิกฤตนี้ได้อย่างน่าสนใจยิ่ง

“วิชา เห็นอกเห็นใจคนอื่น” การเผชิญกับภัยคุกคามอย่างโควิด-19 นับว่าเป็นเรื่องแย่มากพออยู่แล้วสำหรับสังคมไทย แต่เรายังมีเรื่องแย่มากกว่านั้นซ้ำเติมเข้ามาอีกนั่นคือ การที่เราเอาแต่ด่าทอ และด่วนตัดสินกันและกันหนักข้อมากขึ้นทุกวัน เสียงด่าทอนั้นเกิดขึ้นจากความไม่พอใจรัฐบาลบ้าง ไม่พอใจตำรวจที่หละหลวมในการรักษากฎหมายบ้าง ไม่พอใจคนที่ไม่รักษามาตรการทางสาธารณสุขอย่างเข้มข้นบ้าง ไม่พอใจดาราหรือศิลปินบางคนที่ติดเชื้อโควิดแล้วไม่ดูแลตัวเองให้เป็นตัวอย่างแก่คนอื่นบ้าง ไม่พอใจเหล่าอภิสิทธิ์ชนที่ทำตัวเหนือมนุษย์ทั่วไปจนกลายเป็นที่มาของระลอกที่ 3 บ้าง ไม่พอใจวัคซีนที่ไม่แน่ใจว่าปลอดภัยจริงๆ หรือเปล่าบ้าง และที่แย่ที่สุดก็คือ ไม่พอใจประเทศไทยไปเสียทุกเรื่องที่อะไรๆ ก็ไม่ได้ดั่งใจไปเสียทั้งหมด แม้แต่เตียงสนามก็สู้สิงคโปร์ อังกฤษ ออสเตรเลีย อเมริกาไม่ได้ โดยหลงลืมความจริงไปว่าเราเป็นเพียงประเทศที่กำลังพัฒนาเมื่อเทียบกับประเทศที่กล่าวมาเหล่านั้น ถ้าเราจะหาเรื่องด่าทอกัน ตัดสินกัน ต่อให้มีพันปาก ด่ากันพันวัน ก็คงไม่จบไม่สิ้นในสังคมที่เต็มไปด้วยเสียงด่าทออย่างนี้ยังจะมีใครกี่คนที่มีความสุขกันล่ะ ผู้นำรัฐบาล คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ แพทย์ พยาบาล จิตอาสา สักกี่คนกันที่จะมีกำลังใจปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท เสียสละ ผู้คนทุกวันนี้ทำตัวเหมือนเม่นเข้าไปทุกที เจอกันทีต้องสลัดขนพิษใส่หน้ากันจนปวดแสบปวดร้อนไปหมด น้อยคนนักที่จะทำตัวเป็นแม่ไก่ที่เจอกันเมื่อไหร่ก็โอบปีกปกป้องลูกด้วยความรัก

Advertisement

วิกฤตโควิดก็หนักหนาแล้ว แต่วิกฤตความโกรธและเกลียดชังที่เริ่มก่อขึ้นมาในใจคนซึ่งหากเราไม่ระวังและไม่สำเหนียกก็จะเป็นการซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายหนักลงไปอีก ถ้าในสังคมมีแต่คนก่นด่าความมืดแต่ไม่มีคนจุดตะเกียงให้แสงสว่างกันเลยเราจะหาความสุขกันได้จากที่ไหน เราจะมีกำลังใจไขว่คว้าหาทางออกร่วมกันได้อย่างไร

เติมพลังบวกเข้าไปในใจคน ดีกว่าหยดยาพิษใส่แก้วน้ำให้คนอื่นกันดีไหม?

ผู้เขียนเข้าใจดีว่าในสังคมไทยที่เต็มไปด้วยผู้คนร้อยพ่อพันแม่และมีความซับซ้อนเสียยิ่งกว่ากรุงสุโขทัยเมื่อหลายร้อยปีที่แล้วมักจะเต็มไปด้วยเสียงตะเบ็งเซ็งแซ่ของคนที่อยากให้ความต้องการของตนได้รับการตอบสนองอย่างทันท่วงที แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าคนที่ปฏิบัติงานทั้งหลาย เพื่อให้ความต้องการของเราถูกมองเห็นและได้รับการตอบสนองนั้นเขาก็เป็นคนเหมือนกันกับเรานั่นเอง เขาก็มีครอบครัว มีพ่อมีแม่ มีลูกมีหลานเขาก็อยากมีคุณภาพชีวิตเช่นเดียวกันกับเรา และแน่นอน เขาก็อ่อนไหว เสียอกเสียใจเป็นพอๆ กับเราด้วย

Advertisement

หากเราไม่เห็นอกเห็นใจกัน ไม่พยายามเข้าอกเข้าใจกัน ไม่ส่งเสริมกำลังใจให้แก่กันและกัน สถานการณ์เลวร้ายทั้งหลายจะดีขึ้นง่ายๆ ได้อย่างไรกัน ด่าทอกันมามากพอแล้วเราลองมาส่งพลังบวกให้กันบ้างดีไหม?

วันก่อนผู้เขียนได้อ่านพบบทความธรรมดาๆ เรื่องหนึ่งที่เขียนโดยใครก็ไม่รู้ที่ส่งต่อๆ กันมาทางไลน์ แต่เนื้อหานั้นไม่ธรรมดาเลยเพราะสารที่บทความนี้ต้องการจะสื่อคือสิ่งที่สังคมไทยและสังคมโลกกำลังขาดแคลนอยู่ในตอนนี้ และเราก็ต้องการมันพอๆ กับวัคซีนป้องกันโควิดเลยทีเดียว

“แม่ของผมเป็นคนทำอาหารที่บ้านเป็นประจำทุกวัน คืนหนึ่ง หลังจากที่แม่ทำงานหนักมาตลอดทั้งวัน แม่กลับบ้านมาด้วยความเหนื่อยล้า และทำอาหารเย็นให้เราตามปกติ ที่โต๊ะอาหาร แม่วางจาน ที่มีปลาทูไหม้เกรียมบนโต๊ะต่อหน้าพ่อและทุกๆ คน ผมรอว่า แต่ละคนจะว่าอย่างไร แต่พ่อไม่พูดอะไร และตั้งหน้าตั้งตากินปลาทูไหม้ตัวนั้น และหันมาถามผมว่า ที่โรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง

คืนนั้น หลังอาหารเย็น ผมจำได้ว่า ได้ยินแม่ขอโทษพ่อที่ทอดปลาทูไหม้ และผมไม่เคยลืมที่พ่อพูดกับแม่เลย ‘โอย… ผมชอบ ปลาทูทอด เกรียมๆ อร่อยมากนะแม่’ คืนต่อมา ผมเก็บคำถามไว้ในใจก่อนนอน และถามพ่อว่า ‘พ่อชอบปลาทูทอดเกรียมๆ จริงๆ เหรอ พ่อลูบหัวผม และตอบว่า แม่ของลูกทำงานหนักมาทั้งวัน ปลาทูไหม้ 1 ตัว ไม่เคยทำร้ายใคร แต่คำพูดที่ต่อว่ากันนั้นต่างหากที่จะทำร้ายกัน’

ชีวิตคนเราเต็มไปด้วยความไม่สมบูรณ์แบบ และแต่ละคนก็ไม่ได้เกิดมาสมบูรณ์แบบ ตัวเราเองก็ไม่ได้มีอะไรดีกว่าใครๆ แต่สิ่งที่พ่อเรียนรู้มาในช่วงชีวิต ก็คือการเรียนรู้ที่จะยอมรับความผิดพลาดของคนอื่น และของตัวเอง การเลือกที่จะยินดีกับความคิดต่างกันของแต่ละบุคคลเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาชีวิตครอบครัว ที่มีความสุข และยืนยาว ชีวิตเรานั้นสั้นเกินกว่าที่จะตื่นขึ้นมาพร้อมกับความเสียใจที่ว่า เราทำผิดกับคนที่เรารักและรักเรา ให้ดูแลและทะนุถนอมคนที่รักเรา และพยายามเข้าใจและให้อภัยจะดีกว่า”

ถ้าเรารู้ เราจะทำไหม เรื่องราวในชีวิตประจำวันของคนขับรถบนท้องถนน

เราจะบีบแตรใส่คนที่ยืนยึกยักริมถนนตรงแยกที่ผ่านมาไหม ถ้าเรารู้ว่าเค้าใส่ขาเทียมเราจะเบียดชนคนข้างหน้าที่เดินช้ามากไหม ถ้าเรารู้ว่า เค้าเพิ่งตกงาน เราจะขำคนที่แต่งตัวเชยไหมถ้าเรารู้ว่าเค้ามีชุดเก่งแค่ชุดเดียว เราจะรำคาญสาวโรงงานที่มาเดินพารากอนไหมถ้าเรารู้ว่านั่นคือการฉลองวันเกิดของเธอ เราจะหมั่นไส้ลุงที่หัวเราะเสียงดังลั่นคนนั้นไหม ถ้ารู้ว่าแกเป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย เรารู้แจ่มชัดเสมอว่าชีวิตเรากำลังเจออะไรแต่เราไม่มีวันรู้ว่าคนที่เราเจอกำลังเจอกับอะไร โลกกว้างกว่าเงาของเรา และโลกก็ไม่ได้หมุนรอบตัวเรา มองข้ามเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไปบ้าง ให้โอกาสและให้อภัย มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน

จะได้รัก และอยู่ด้วยกัน อย่างยั่งยืนยาวนาน

จากเรื่องราวที่กล่าวมาข้างต้นนั้นผู้เขียนสรุปออกมาเป็น “กฎทองของชีวิต” ซึ่งเมื่อใครนำไปปฏิบัติแล้วจะทำให้เป็นคนที่กลายเป็น “แหล่งพลังงานทางบวก” สำหรับคนที่อยู่ข้างหน้าเสมอนั่นก็คือ

1.หัดมองข้ามเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เสียบ้าง อย่าจริงจังกับทุกเรื่อง จนความสัมพันธ์กับคนรอบข้างตึงเครียดไปหมด

2.ไม่มีใครที่ทำอะไรได้สมบูรณ์แบบไปเสียทั้งหมด จงให้อภัยในความผิดพลาดของคนอื่นเหมือนกับที่เราชอบให้อภัยแก่ตัวเอง

3.สิ่งใดที่เราไม่ชอบ ก็จงอย่ามอบสิ่งนั้นแก่คนอื่น สิ่งใดที่เราชอบ ก็จงมอบสิ่งนั้นแก่คนอื่น

4.อย่ารำคาญความปรารถนาดีเล็กๆ น้อยๆ ของคนอื่นที่พยายามแสดงออกต่อเราด้วยความจริงใจ

5.เรารักสุข เกลียดทุกข์ และกลัวความตายฉันใด คนอื่นก็รักสุข เกลียดทุกข์ และกลัวความตายฉันนั้น เอาใจเขามาใส่ใจเรา (อตฺตานํ อุปมํ กเร) ชีวิตก็จะเต็มไปด้วยพลังบวกที่พุ่งทะยานจากตัวเราไปยังคนรอบข้าง พร้อมๆ กับรับจากคนรอบข้างสู่ตัวเรา ไงเล่าครับ

นพ.วิชัย เทียนถาวร
อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image