นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ : ซีพีอาร์ กับ “ตับแตก”

พ.ต.อ.นพ.โสภณ กฤษณะรังสรรค์

เป็นข่าวใหญ่ที่ยังไม่นิ่งสำหรับกรณีคุณธวัชชัย ผู้ต้องหาคดีปลอมแปลงเอกสารสิทธิที่ดินซึ่งเสียชีวิตขณะถูกคุมขังอยู่ในห้องขังของดีเอสไอ

เมื่อแรกเป็นข่าว พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีดีเอสไอบอกว่าดีเอสไอไม่เคยซ้อมผู้ต้องหา คุณธวัชชัยพยายามฆ่าตัวตายเองด้วยการใช้ถุงเท้าผูกคอกับบานพับประตู เมื่อเจ้าหน้าที่ไปพบนั้นคุณธวัชชัยยังมีลมหายใจอยู่ เจ้าหน้าที่จึงช่วยปั๊มหัวใจหรือ “ซีพีอาร์ (Cardio-pulmonary resuscitation)” ก่อนนำส่งโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ซึ่งมีการทำซีพีอาร์ต่อ แต่คุณธวัชชัยก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา

จากนั้น ญาติของคุณธวัชชัยได้ออกมาเปิดเผยข้อความในใบรับรองการเสียชีวิตจากโรงพยาบาลว่า คุณธวัชชัยเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ ตับแตก และตกเลือดในช่องท้อง

นำไปสู่คำถามอื้ออึงว่าคุณธวัชชัยเสียชีวิตเพราะอะไรกันแน่ ตกลงว่าการพยายามใช้ถุงเท้าผูกคอหรือปั๊มหัวใจนั้น ทำให้ตับแตกได้ไหม?

Advertisement

พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ต้องรีบออกมาแถลงว่าได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว โดยเร่งรัดให้รู้ผลใน 7 วัน และขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานชันสูตรอย่างเป็นทางการจากสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ก็บอกว่ารอผลการชันสูตรทางการของแพทย์ก่อนเถิด อย่าเพิ่งวิพากษ์วิจารณ์กันล่วงหน้าให้เกิดความเสียหาย

ส่วน น.พ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ออกมาเขียนเฟซบุ๊กยืนยันว่า ปั๊มหัวใจในกระบวนการช่วยฟื้นคืนชีพไม่ทำให้ตับแตกแน่ๆ เพราะตับเป็นอวัยวะที่อยู่ในช่องท้องคนละช่อง คนละตำแหน่งกับการปั๊มหัวใจ แต่ตับจะแตกด้วยเหตุใด นักข่าวต้องไปถามนิติเวชผู้ชันสูตรโดยตรง

Advertisement

ระหว่างนี้ พ.ต.อ.นพ.โสภณ กฤษณะรังสรรค์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ก็ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ปกติแล้วจะไม่พบการเสียชีวิตด้วยอาการตับแตกเพราะปั๊มหัวใจกู้ชีพ ถ้าพบก็คือน้อยกว่าร้อยละ 1
นั่นหมายความว่า ในทางการแพทย์ที่ไม่เคยมีคำว่า 100 % ซีพีอาร์ “มีโอกาส” ทำให้ตับแตก

ผู้เขียนลองไปค้นข้อมูลเพิ่มเรื่องซีพีอาร์กับตับแตกตามคำแนะนำของแพทย์ท่านหนึ่ง พบว่ามีรายงานตับแตกหรืออุบัติการณ์การบาดเจ็บของตับที่เกิดจากการซีพีอาร์ในประเทศต่างๆ ทุกภูมิภาค

บทความล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาในวารสาร Turkish Journal of Emergency Medicine เรื่อง “Liver laceration related to cardiopulmonary resuscitation” ก็เสนอกรณีศึกษาคนไข้ 2 รายที่ตับบาดเจ็บจากการซีพีอาร์เพื่อช่วยฟื้นคืนชีพ โดยคณะแพทย์ผู้ศึกษาเสนอว่า พูซ้ายของตับกับกระดูกสันอกบริเวณลิ้นปี่มีความสัมพันธ์กันทางกายวิภาคและถ้าผู้ป่วยมีความเสี่ยงอื่นๆ อยู่เช่นมีภาวะตับอักเสบขาดเลือด โอกาสตับแตกยิ่งเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้น แม้เป็นการยากที่ซีพีอาร์จะทำให้เกิดการบาดเจ็บของอวัยวะต่างๆ ในช่องท้อง (ไม่เพียงเฉพาะตับ) โอกาสเป็นไปได้ก็มีอยู่ ประมาณร้อยละ 0.6-3 ถึง 3 จากตำแหน่งการวางมือและน้ำหนักมือขณะกดนวดหัวใจภายนอก

เมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้นแล้วผู้รับผิดชอบพยายามอธิบายไปคนละทางสองทางอย่างไม่สมเหตุสมผลและไม่สอดคล้องกัน ผู้คนย่อมอยากรู้ว่าอะไรคือความจริง กรณีคุณธวัชชัยก็เช่นกัน น่าติดตามอย่างยิ่งว่านี่เป็นเรื่องเขียนใบรับรองการเสียชีวิตผิด หรือเป็นเรื่อง “มีโอกาสเกิดขึ้น แต่ยาก” ในกระบวนการซีพีอาร์  หรือเป็นเรื่อง “ตับแตก” เพราะ “พยายามใช้ถุงเท้าผูกคอตาย”?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image