สุจิตต์ วงษ์เทศ : สุโขทัย “รัฐในอุดมคติ” ประวัติศาสตร์เพิ่งสร้างสมัยกรุงเทพฯ

รัฐสุโขทัยมีจริงในประวัติศาสตร์ โดยทางอยุธยาเรียก “เมืองเหนือ” เพราะอยู่ติดแดนอยุธยาทางทิศเหนือ แล้วถือเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอยุธยา
แต่สุโขทัย “รัฐในอุดมคติ” เป็นประวัติศาสตร์เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ราว 200 ปีมานี้เอง แล้วถูกสถาปนาเป็นประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาไปหาซื้อหนังสือที่ร้านริมขอบฟ้า มุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ผมพบโดยไม่รู้มาก่อนว่ามีเล่มนี้
ประวัติวัดมหาธาตุ สุโขทัย จากมุมมองของประวัติศาสตร์ศิลป์ ของ พิริยะ ไกรฤกษ์
จัดพิมพ์และจำหน่ายโดย มูลนิธิพิริยะไกรฤกษ์ พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ. 2559 (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2557) ราคา 150 บาท
อ. พิริยะ มีงานวิชาการจำนวนมาก เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับนับถือและยกย่องกว้างขวางระดับนานาชาติ แต่ไม่ถูกใจพวกงมงายกระแสหลักในไทย

ปรางค์ยอดกลีบบัว วัดมหาธาตุ สุโขทัย

ผมตื่นเต้นมากเมื่อ อ. พิริยะ บอกในเล่มนี้ว่าจะเรียกเจดีย์ประธานวัดมหาธาตุ สุโขทัย ซึ่งเป็นพระเจดีย์ทรงดอกบัวตูม หรือพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ว่า ปรางค์ยอดกลีบบัว (หน้า 14)
ตามที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้านริศ ทรงอธิบายว่า เป็น “องค์ปรางค์” และ ร.6 ทรงบอกว่า “ยอดปรางค์” โดยมีคำอธิบายพร้อมภาพประกอบ และลายเส้นเทียบกับปรางค์วัดพระคลังยุคอยุธยา

วัดมหาธาตุ ยุคแรกสถาปนา

อ. พิริยะ บอกไว้ท้ายเล่ม (หน้า 70) ว่าจากการศึกษาสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมของวัดมหาธาตุ แสดงให้เห็นว่าวัดมหาธาตุอาจจะก่อตั้งขึ้นเมื่อครั้งพ่อขุนศรีนาวนำถม (ประมาณปี พ.ศ. 1800) เป็นเจ้าเมืองสุโขทัย

Advertisement

เมืองสุโขทัยไม่ร้าง

แล้วบอกอีกว่าเมืองสุโขทัยมิได้ถูกทิ้งร้างเมื่อเสียกรุงครั้งแรก พ.ศ. 2112 ตามกระแสหลักที่เคยเชื่อกัน
แต่ถูกทิ้งรกร้างสมัย ร.1 ให้อพยพผู้คนไปตั้งเมืองใหม่ที่บ้านธานี พ.ศ. 2329

สุโขทัยในนิยาย

อ. พิริยะ บอกไว้ในบทนำ (หน้า 6) ว่านิยายเกี่ยวกับสุโขทัยเป็นของที่ถูกสร้างขึ้นใหม่เมื่อประมาณ 200 กว่าปีที่แล้ว และยังมีหลักฐานทางเอกสารยืนยัน นิยายปรัมปราที่เกี่ยวกับสุโขทัยถูกสร้างขึ้น 3 ขั้นตอนด้วยกัน จะคัดมาดังนี้

เก่าสุด ได้แก่นิทานเรื่องพระร่วง เป็นตำนานการสร้างเมืองสุโขทัยและสวรรคโลกพร้อมกับสาธยายพระปรีชาสามารถของพระร่วงที่คิดประดิษฐ์ชะลอมใส่น้ำส่งส่วยให้ขอม ซึ่งก็คือประวัติศาสตร์บอกเล่าที่เขียนขึ้นในลักษณะของตำนานในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 23-กลาง 24 แม้จะเรียกว่าพงศาวดารเหนือก็ตาม

ขั้นตอนที่ 2 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระสมณศักดิ์เป็นพระวชิรญาณมหาเถระ เสด็จประพาสเมืองเหนือในปี พ.ศ. 2376 และทรงนำศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร ของพระมหาธรรมราชาที่ 1 กลับมากรุงเทพฯ ความรู้เกี่ยวกับสุโขทัยจึงถูกเผยแพร่ขึ้นมาในรูปแบบของนิยายเรื่องนางนพมาศ หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ อัตชีวประวัติพระสนมของพระร่วง รวมทั้งหนังสือเรื่องไตรภูมิพระร่วง ซึ่งบานแผนกอ้างว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของพญาลิไท (มหาธรรมราชาที่ 1 2526, 2) และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2394 พระองค์ทรงนำศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงไปตั้งไว้ในศาลารายหน้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พ่อขุนรามคำแหงจึงเข้ามาแทนที่พระร่วงในความทรงจำของพสกนิกรชาวไทย

ขั้นตอนที่ 3 เริ่มจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จประพาสสุโขทัยในปี พ.ศ. 2450 ในปีต่อมาจึงทรงพิมพ์หนังสือ “เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง” ทรงใช้ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยา ลงกรณ์ทรงแปลไว้เป็นหนังสือนำชมสุโขทัย และเมื่อทอดพระเนตรโบราณสถานแห่งใดที่สอดคล้องกับที่กล่าวถึงในศิลาจารึก จึงทรงกำหนดอายุเวลาให้อยู่ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงหรือก่อนหน้านั้น ศิลปะสมัยสุโขทัยจึงอุบัติขึ้นตั้งแต่นั้นมา จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี พ.ศ. 2534

แม้ว่าทุกคนจะรับทราบว่าพระร่วงเป็นเพียงนิยาย แต่น้อยคนนักที่จะยอมรับว่าพ่อขุนรามคำแหงก็เป็นนิยายเช่นกัน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆ ปริณายก ทรงเป็นบุคคลแรกที่ยอมรับว่าศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นพระราชนิพนธ์ชิ้นแรกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และน้อยคนอีกที่ทราบว่า อายุเวลาของศิลปะสมัยสุโขทัยนั้นผิดพลาดมาตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะระบบวิธีวิจัยไม่ถูกต้อง ดังนั้นนักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศต่างก็ร่วมกันเสริมสร้างตัวตนให้กับนิยาย จนทุกวันนี้กลายไปเป็นประวัติศาสตร์ชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image