คอร์รัปชั่นระดับแสนล้าน จะป้องกันอย่างไร? โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร

ประเด็นคือ ทำอย่างไรจึงจะป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจมาก เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และข้าราชการระดับสูง ลุแก่อำนาจ คอร์รัปชั่น จนถึงขั้นเอาสินทรัพย์ของประชาชนไปใช้เสมือนเงินส่วนตัวเป็นแสนล้านบาท แต่สถาบันในประเทศไม่อาจทำอะไรได้เลย กรณีอื้อฉาวซึ่งนายกฯ นาจิบของมาเลเซียถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวโยงกับคอร์รัปชั่นและการฟอกเงินในวงเงินกว่าแสนล้านบาทในขณะนี้ น่าสนใจมากว่า ในท้ายที่สุด สถาบันใดจะสามารถกำกับพฤติกรรมของนักการเมืองระดับสูงและเอาผิดกับเขาได้

หากข้อกล่าวหาต่างๆ เป็นจริง กรณีนี้เข้าข่ายที่ว่า “อำนาจฉ้อฉลฉันใด อำนาจเบ็ดเสร็จฉ้อฉลเบ็ดเสร็จฉันนั้น” โดยมีพรรคพวกเป็นลูกคู่จำนวนมาก

นาจิบ เป็นชนชั้นสูงของมาเลเซีย เรียนที่อังกฤษ เป็นบุคคลสาธารณะมากว่าสี่สิบปี มีชื่อเสียงว่าเป็นสุภาพบุรุษ เขาเป็นนายกฯมาเลเซียเมื่อปี พ.ศ.2552 และหวังว่าจะได้รับเลือกตั้งอีกในปี พ.ศ.2561 เขาก่อตั้งกองทุน 1MDB เป็นกึ่งรัฐวิสาหกิจ ตั้งตัวเองเป็น รมต.คลัง จึงกำกับ 1MDB ซึ่งเป็น บริษัทที่ลงทุนเพื่อพัฒนามาเลเซีย แต่เบื้องหลังได้มีการผันเงินของชาติไปลงทุนเสมือนเป็นเงินส่วนตัว ถูกกล่าวหาว่าโอนเงินเข้าบัญชีตนเองที่ต่างประเทศ ต่อมามีข้อมูลเพิ่มว่า เงินจากกองทุนนี้ได้ถูกนำไปซื้อคฤหาสน์ อาคารชุดหรู เครื่องบิน ภาพวาดราคาแพง รวมทั้งสร้างภาพยนตร์ที่ฮอลลีวู้ด นักข่าวได้ข้อมูลจากนักการเงินที่บริหาร 1MDB ซึ่งผิดใจกันแล้วติดคุกอยู่ที่ภูเก็ต จึงแก้แค้นโดยเสนอขายข้อมูลให้สื่อ

เมื่อเรื่องอื้อฉาวปะทุขึ้น อัยการสูงสุดของมาเลเซียเตรียมดำเนินคดีกับนายกฯนาจิบ แต่ก็ถูกปลดเสียก่อน และรัฐบาลได้ผ่านกฎหมายความมั่นคงภายในที่ให้อำนาจนายกฯมากขึ้น ดูเหมือนว่าไม่มีองค์กรยุติธรรมหรือสถาบันใดในมาเลเซียจะทำอะไรนายกฯได้ เพราะอัมโนพรรคใหญ่ที่สุดสนับสนุนเขาเต็มที่ โดยสมาชิกสำคัญของอัมโนรับคอนแทรกต์งานจากรัฐบาลเป็นประจำ

Advertisement

ต้นเดือน ก.ค.2559 กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ หรือ DOJ ประกาศยื่นคำร้องกับศาล ริบแพ่งกับทรัพย์สินที่ใช้เงิน 1MDB ซื้อ ข้อกล่าวหาคือ 1MDB ใช้เงินในลักษณะเป็นการฟอกเงินนานาชาติถึงกว่าแสนล้านบาท และเมื่อต้นปีนี้สิงคโปร์ยึดบัญชีธนาคาร และปิดธนาคารสวิสแห่งหนึ่งที่พบว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการฟอกเงินที่โยงกับทุน 1MDB รัฐบาลอังกฤษก็ตรวจสอบกรณีฟอกเงินนี้ด้วย เพราะธนาคารของอังกฤษแห่งหนึ่งรับโอนเงินจาก 1MDB

การฟ้องของ DOJ ไม่ได้เอ่ยชื่อนายกฯ โดยกล่าวถึง Malaysian official number 1 และเอ่ยชื่อลูกบุญธรรมของนาจิบว่าเป็น “บุคคลที่เกี่ยวโยง” DOJ แถลงว่ามีการใช้เงินจาก 1MDB เล่นพนันที่ Las Vegas ด้วย

ทำไมสหรัฐจึงฟ้องริบแพ่งทรัพย์สินที่ใช้เงิน 1MDB ได้?

Advertisement

เพราะสหรัฐมีกฎหมายป้องกันการทุจริตในต่างประเทศ (FCPA) กม.นี้ ป้องกันไม่ให้ธุรกิจสหรัฐติดสินบนใครๆ ที่ต่างประเทศ แต่มีขอบเขตกว้าง โดยให้อำนาจทางการสหรัฐเอาผิดกับวิสาหกิจ บุคคล และนิติบุคคลใดๆ ก็ได้ ที่อาจจะไม่ใช่คนอเมริกัน แต่เกี่ยวข้องกับสหรัฐทางใดทางหนึ่ง เช่น ใช้เงินดอลลาร์เพื่อการทุจริตหรือการฟอกเงิน โดยสหรัฐสามารถตรวจสอบได้ในทุกกรณีและเมื่อมีหลักฐานพอก็ฟ้องได้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทอเมริกัน บริษัทต่างประเทศที่ซื้อขายหุ้นที่สหรัฐ คนสัญชาติอเมริกัน ผู้พักอาศัยที่มีพฤติกรรมคอร์รัปชั่นในต่างประเทศ และไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ในสหรัฐหรือไม่

ต่อมาสหรัฐชักชวนให้กลุ่ม OECD เข้าร่วมขบวนด้วย โดยกำหนดให้ประเทศที่ลงนามต้องปรับกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับหลักการของ FCPA ขณะนี้ 41 ชาติ ใน OECD และนอก OECD ลงนามแล้ว และบางประเทศเริ่มประกาศใช้ กม.ในลักษณะคล้ายกัน

กม.เหล่านี้ ทำให้รัฐบาลหลายแห่งในโลก สามารถตรวจสอบธุรกรรมการเงินผิดปกติของบุคคล นิติบุคคล ในชาติและต่างชาติ

ที่ใช้สถาบันการเงินที่รัฐบาลนั้นๆ กำกับได้ เราจึงได้เห็นบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ถูกดำเนินคดี เสียค่าปรับ และมีกรณีที่ซีอีโอบริษัทที่จ่ายสินบน ถูกออก บ้างถูกดำเนินคดีอาญา เป็นเรื่องอื้อฉาวมาก

แต่กรณีที่นักการเมืองถูกดำเนินคดีในประเทศของตน เพราะถูกตรวจสอบธุรกรรมผิดปกติในประเทศอื่นยังมีน้อย ยกเว้นกรณีหนึ่งที่ดังมากเมื่อปี พ.ศ.2526 ซึ่งนายกฯญี่ปุ่น ถูกศาลลงโทษจำคุก และถูกปรับ เพราะมีหลักฐานว่ารับเงินสินบนจากบริษัทขายเครื่องบินสหรัฐ

กรณีคอร์รัปชั่นที่มาเลเซียเกิดขึ้นที่บ้านเราได้ไหม?

ได้แน่นอน เกิดขึ้นแล้วด้วย และผู้เกี่ยวข้องก็ยังลอยนวลอยู่ได้

แล้วจะทำอย่างไร เพื่อป้องกัน และขีดกรอบให้ผู้นำมีธรรมาภิบาล?

การมีข้อกำหนดให้ประชาชนเข้าชื่อเช่น 50,000 ราย เพื่อร้องขอให้ ส.ว.หรือสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินกระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ เมื่อมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เมื่อมีการถูกเปิดโปงหรือมีส่วนในธุรกรรมการเงินไม่ปกติในต่างประเทศ น่าจะช่วยเป็นตัวกำกับได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งก็จะดีกว่าไม่มีเลย

เข้าใจว่ามาเลเซียไม่มี กม.นี้ ไทยเคยมีในกรณีการคอร์รัปชั่นภายในประเทศในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 และฉบับปี พ.ศ.2550

แต่ใน รธน.ฉบับที่เพิ่งผ่านประชามติไปนี้บทบาทภาคประชาชนในส่วนนี้ถูกตัดออกไป โดยให้ ส.ส. ส.ว. กกต. ป.ป.ช. มีอำนาจเสนอให้มีกระบวนการถอดถอน ผ่านการพิจารณาของศาล รธน.เท่านั้น และไม่มีข้อพิจารณาเรื่องข้อกล่าวหาจากต่างประเทศ เมื่อ รธน.ดึงอำนาจจากมือประชาชนไปฝากไว้กับข้าราชการ ความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์คล้ายๆ กับที่มาเลเซียจะสูงขึ้นแน่นอน

รัฐบาลปัจจุบันตั้งเป้าไว้ว่าจะกำจัดคอร์รัปชั่น จึงน่าจะนำหลักการเดียวกันใน รธน.ฉบับ พ.ศ.2540 มาใช้ใหม่โดยปรับปรุงให้รัดกุมขึ้นกว่าเดิม ครอบคลุมถึงกรณีธุรกรรมการเงินผิดปกติในต่างประเทศด้วย ที่เสนอเช่นนี้เพราะการให้อำนาจประชาชน เป็นการคานกับอำนาจองค์กรอิสระ และเสริมขึ้นมาเพราะองค์กรอิสระอาจไม่เป็นอิสระจริง เช่น อาจมีปัญหาการแต่งตั้งพวกเดียวกันเอง หรือ “การลากตั้ง” ฯลฯ ซึ่งพบเห็นบ่อยในบ้านเราอยู่แล้ว

ใครจะขับเคลื่อนให้เกิดกรอบสถาบันนี้ขึ้นได้? ก็ต้องเป็นกลุ่มประชาสังคม รวมทั้งนักวิชาการ เอ็นจีโอที่ต่อต้านคอร์รัปชั่น เช่น สมาคมคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมนักกฎหมาย โดยต้องมีสื่อเสรีช่วยด้วย อย่างที่คุณรสนา โตสิตระกูล เคยล่าลายเซ็น 50,000 ชื่อเพื่อดำเนินการถอดถอนอดีต รมต.สาธารณสุขรายหนึ่งที่คอร์รัปชั่น จนในท้ายที่สุดถูก ป.ป.ช.ตรวจสอบและถูกเข้าคุกไป

แน่นอนว่าการขับเคลื่อนดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้ ก็จะต้องมีระบอบการเมืองเปิดและมีรัฐธรรมนูญที่ประชาชนคนธรรมดามีสิทธิมีเสียงตามมาตรฐานสากลอย่างเต็มที่ ซึ่งจะยากมากถ้ายังไม่มี เมื่อนั้นแหละคำกล่าว “อำนาจฉ้อฉลฉันใด อำนาจเบ็ดเสร็จฉ้อฉลเบ็ดเสร็จฉันนั้น” ก็จะเป็นจริง และความพยายามของรัฐบาลหรือขององค์กรใดๆ ที่จะลดคอร์รัปชั่นก็จะไม่เป็นผลเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image