สงครามหลายระดับกับถนนสู่สันติภาพในพม่า

ภาพการฝึกฝนของคนรุ่นใหม่ในนาม United Defense Force (UDF)

ข่าวหนึ่งเป็นที่สนใจจากพม่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือทหารที่แปรพักตร์มาเข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืนนายหนึ่งปะทะกับกองทหารอีกชุดหนึ่ง ทำให้มีทหารฝ่ายรัฐบาลรัฐประหารเสียชีวิตไป 3 นาย และบาดเจ็บสาหัสอีก 2 นาย การปะทะกันระหว่างอดีตทหาร หรือตำรวจที่เข้าร่วมขบวนการประชาชน กับกองกำลังที่ยังสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับขบวนการต่อต้านรัฐประหารที่จะเข้มแข็งขึ้น หนุ่มสาวจำนวนหนึ่งเลือกเดินเข้าป่า เพื่อไปฝึกการใช้อาวุธ และยุทธวิธีทางการรบกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะ KNU ที่ประกาศเข้าข้างฝ่ายประชาชนพม่ามาตั้งแต่ต้น เราได้เห็นคลิปความยาว 1.20 นาที ที่สำนักข่าวรอยเตอร์สนำมาเผยแพร่ เป็นเยาวชนที่หนีการปราบปรามของกองทัพพม่าราว 120 คน แต่งตัวด้วยชุดสีดำทั้งชุด กำลังวิ่งเตรียมพร้อมสำหรับการฝึกประจำวัน

สมาชิกของคนหนุ่มสาวกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในวัย 20 กว่าๆ (คนพม่าเรียกติดปากว่าคน Gen Z) แต่ก็มีคนในวัย 30 และ 40 อยู่ด้วยบ้าง พวกเขาตั้งชื่อกลุ่มในนาม “ยูดีเอฟ”หรือ United Defense Force ประกาศว่าจะเข้ารับการฝึกกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นการปฏิวัติของประชาชนก็จะเริ่มขึ้น กลุ่ม UDF ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์สว่า มีผู้เข้าร่วมการฝึก 250 คน แต่ขบวนการนี้แม้เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน แต่ก็มีสมาชิกพม่าถึง 1,000 คนแล้ว นอกจากกลุ่ม UDF ที่ต้องการจับอาวุธขึ้นสู้กับกองทัพพม่าอย่างเปิดเผย รัฐบาลแห่งชาติเมียนมา หรือรัฐบาลเงาที่ตั้งขึ้นมาเพื่อท้ารบกับคณะรัฐประหารโดยตรง ในนาม “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” หรือ NUG (National Unity Government) ผู้นำบางส่วนของ NUG ยังถูกควบคุมตัวอยู่ โดย
เฉพาะด่อ ออง ซาน ซูจี และประธานาธิบดีวิน มยิ้น แต่บรรดารัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาวางแผนในด้านต่างๆ ก็เริ่มทำงานและพูดถึงการจับอาวุธขึ้นต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ มีการพูดถึงการจัดตั้ง “กองทัพแห่งสหพันธรัฐ” (federal army) เพื่อต่อสู้ในระยะยาว

เมื่อมาถึงจุดนี้ เข้าเดือนที่ 3 แล้วหลังเกิดรัฐประหารขึ้น รัฐบาลที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นมายังไม่สามารถบริหารงานได้ เพราะประชาชนยังพร้อมใจกันบอยคอต และข้าราชการส่วนใหญ่ยังนัดหยุดงานประท้วง คำถามที่ตามมาคือ หากคณะรัฐประหารไม่สามารถบริหารงานได้ สภาพการเมือง เศรษฐกิจ และปากท้องของประชาชนหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร เพราะก็ต้องยอมรับว่าสภาพของพม่าในปัจจุบันไม่ต่างจากพื้นที่สงคราม ประเทศยังถูกปิดตายทั้งด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และด้วยกองทัพพม่าเอง ถูกประณามจากนานาชาติ จนทำให้มี “เพื่อน” ที่สามารถคบค้าได้อย่างสนิทใจหน่อยเพียงไม่กี่ชาติ ได้แก่ ไทย จีน รัสเซีย และอินเดีย สถานการณ์ในปัจจุบันจึงแทบไม่ต่างจากยุคที่พม่าปิดประเทศ

แต่การต่อสู้ในครั้งนี้แตกต่างออกไปจากการลุกฮือในปี 1988 หลายขุมนัก ที่ผ่านมามีผู้เปรียบเทียบการประท้วงครั้งใหญ่ในปี 1988 ที่เรียกว่าการลุกฮือ 8888 กับการประท้วงในปัจจุบัน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “การปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ” หรือ “นเว อู ต่อหลั่นเย” (Spring Revolution) เพียงเพราะผู้นำการประท้วงล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ เป็นนักศึกษาที่ต้องการเห็นประชาธิปไตยเบ่งบานในพม่า แต่หากไปถาม Gen Z ที่ออกมาประท้วงกันในขณะนี้ พวกเขาจะรีบตอบแบบไม่คิดเลยว่าการต่อสู้ของพวกเขาต่างจากยุค 1988 ประการแรก การลุกฮือ 8888 ไม่ประสบความสำเร็จ แม้เผด็จการเน วิน จะประกาศลาออกจากทุกตำแหน่ง แต่ก็มีกลุ่มทหารในนามสลอร์ก (SLORC) เข้ามาบริหารงานต่อ และประการที่สอง ข้อเรียกร้องของ Gen Z ในปัจจุบันคือ การสร้างสังคมการเมืองแบบใหม่ เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ซึ่งมีนัยสำคัญที่การกำจัดกองทัพออกไปจากการเมือง และเน้นการสร้างสังคมบนความเท่าเทียมและหลากหลายทางชาติพันธุ์ ที่แม้แต่รัฐบาลเอ็นแอลดีก็ไม่สามารถให้พวกเขาได้

Advertisement

หากเรามองด้วยความเป็นจริง กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ และกองกำลังที่กำลังจัดตั้งขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นในนาม UDF หรือกองทัพแห่งสหพันธรัฐ ไม่สามารถต่อกรกับกองทัพพม่าที่มีความเข้มแข็งและมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยได้ ด้วยกำลังพลที่มีเพียงหลักพันพัน และอาวุธที่มีไม่มาก แต่อย่างไรก็ดี
ชาร์ลส์ เพทรี (Charles Petrie) อดีตผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติ ที่เคยเข้าไปทำงานในพม่าระหว่างปี 2003-2007 เพิ่งเขียนบทความเรื่อง “Myanmar Junta’s Leadership Has No Idea What Forces Have been Unleased” (ผู้นำกองทัพพม่าไม่รู้เลยว่ามีกองกำลังอะไรเกิดขึ้นมาบ้าง) ใน The Irrawaddy มองว่ากองทัพพม่ากำลังประสบปัญหาครั้งใหญ่เพราะไม่สามารถปกครองประเทศได้ ระบบการเงินและเศรษฐกิจในองค์รวมใกล้ล้มครืนเต็มทน ระบบอื่นๆ ทั้งสาธารณสุขและระบบราชการอื่นๆ ก็ล่มสลายลงไปพร้อมการนัดหยุดงานประท้วงตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา พูดง่ายๆ คือพม่ากำลังจะเป็น “รัฐล้มเหลว” (failed state) เต็มตัว และสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า

ในช่วงก่อนรัฐประหาร กองทัพพม่าต้องรับศึกหลายด้านจากกองกำลังของชนกลุ่มน้อย และเครือข่ายขบวนการค้าสิ่งผิดกฎหมาย ตั้งแต่รัฐบาลพลเรือนภายใต้พรรคเอ็นแอลดีเข้ามารับตำแหน่ง มีการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์หลายครั้ง แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเลือกลงนามกับกลุ่มชาติพันธุ์บางส่วน และไม่สามารถนำกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดใหญ่มาร่วมเจรจาได้ แต่อย่างน้อยพันธกิจในด้านการสร้างสันติภาพและความปรองดองในชาติก็เป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาลพลเรือน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจพม่าลืมตาอ้าปากได้อย่างสมศักดิ์ศรี แต่ในปัจจุบันสงครามกลางเมืองที่จะเกิดขึ้น จะเป็นการสู้รบที่กินพื้นที่กว้างที่สุด เพราะกองทัพพม่าต้องรับมือกับกองกำลังหลากหลายกลุ่มในเวลาเดียวกัน เพทรีวิเคราะห์ว่าผู้นำกองทัพพม่าคาดการณ์ผลกระทบจากรัฐประหารในครั้งนี้ผิดพลาด

เพราะคนเหล่านี้ติดอยู่ในวังวนวิธีคิดแบบกองทัพ พวกเขาไม่เคยเชื่อมั่นศักยภาพของประชาชน ทำให้ไม่ได้คาดว่าขบวนการอารยะขัดขืนจะประสบความสำเร็จ เพทรียังฟันธงอีกว่ารัฐประหารครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ และในท้ายที่สุดแล้ว กองทัพพม่าจะแพ้สงครามในครั้งนี้อย่างแน่นอน ไม่ว่ากองทัพจะเข่นฆ่าผู้คนไปมากแค่ไหน แต่ยิ่งสงครามนี้ยืดเยื้อ หายนะที่จะตามมาโดยเฉพาะในเชิงเศรษฐกิจก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นไปด้วย

Advertisement

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image