การใช้ที่ดิน เศรษฐกิจจังหวัด และความเปลี่ยนแปลง

ที่ดินของประเทศ/จังหวัดคงที่แต่การใช้ประโยชน์ของที่ดินเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ตามกาลเวลาตามโครงสร้างเศรษฐกิจจังหวัดที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งแน่นอนว่ามีความแตกต่างและหลากหลาย โดยทั่วไปเรามักสันนิษฐานว่าพื้นที่ดินสำหรับการเกษตรลดลง ที่ดินเพื่อการพาณิชย์-ที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น แต่นั่นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น ความจริงเป็นเช่นไรนั้น? และตรวจสอบด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ เป็นที่น่ายินดีที่มีความก้าวหน้าของข้อมูลสนเทศในหน่วยงานของรัฐ ในโอกาสนี้ขอนำข้อมูลของกรมพัฒนาที่ดินเพื่อศึกษาการใช้ประโยชน์ที่ดิน (land_use) ของแต่ละจังหวัด เพื่อสังเกตความเหมือนกันหรือแตกต่างกัน พร้อมข้อสังเกตและวิจารณ์ตามสมควร

นักวิจัยนำข้อมูลมาจัดเรียงใหม่แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ พื้นที่ป่าไม้พื้นที่การเกษตร พื้นที่นอกภาคการเกษตร (หมายเหตุ ในแต่ละรายการแบ่งย่อยเป็นพืชสวนพืชไร่ พื้นที่นอกการเกษตรจำแนกออกเป็นชุมชน-การพาณิชย์ ที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรมที่ตั้งหน่วยงานรัฐและโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ) ช่วงปี 2561/2563 นำมาเป็นข้อสังเกตและอภิปรายผลดังนี้

จังหวัดที่มีพื้นที่ป่าไม้สัดส่วนสูงมาก 4 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน 84% ตาก 76% ลำปาง 73% และเชียงใหม่ 72%

จังหวัดที่พื้นที่เกษตรคิดเป็นสัดส่วนสูง คือ พิจิตร 86% ชัยนาท 80% มหาสารคามและร้อยเอ็ด 82%

Advertisement

การใช้พื้นที่ดินมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจจังหวัดอย่างแน่นอน ตัวอย่างเช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีพื้นที่ป่าไม้ 84% ของพื้นที่ทั้งหมด หมายความว่าพื้นที่เกษตรหรือนอกการเกษตรรวมกันไม่เกิน 16% สะท้อนถึงข้อจำกัดการทำมาหากินของประชาชน อาจจะด้วยเหตุนี้แม่ฮ่องสอนติดอยู่ในกลุ่มจังหวัดยากจนในเชิงเศรษฐกิจโดยตลอด เพราะว่าพื้นที่ป่าไม้มีคุณค่าและประโยชน์ต่อประเทศชาติในมิติสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ เพียงแต่ไม่ได้สร้างเป็นตัวเงินหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

รูปกราฟ 3 รูปภาพแสดงการใช้พื้นที่ดินของจังหวัด เปรียบเทียบ 3 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ และกรุงเทพฯ/ปริมณฑล รูปแรกแสดง 6 จังหวัดในปริมณฑล กทม. นครปฐมยังมีพื้นที่การเกษตรเกินกว่า 60% ปทุมธานีและสมุทรสาครมากกว่า 50% สำหรับ กทม.เป็นพื้นที่นอกการเกษตรถึง 70% (ชุมชน ที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม หน่วยงานรัฐและพื้นที่โครงสร้างพื้นฐาน) นับว่าโดดเด่นกว่าจังหวัดอื่นๆ

Advertisement

รูปภาพที่สอง การใช้พื้นที่ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าไม้ (เช่น แม่ฮ่องสอน) และพื้นที่การเกษตร (พิจิตร พื้นที่การเกษตรสูงที่สุด) พื้นที่นอกการเกษตรมีอยู่แต่เป็นส่วนน้อย (ต่ำกว่า 20%)

รูปภาพที่สาม 14 จังหวัดในภาคใต้ ส่วนใหญ่เพื่อการเกษตรและพื้นที่ป่าไม้ (ระนองพื้นที่ป่าไม้เกิน 60%) ภูเก็ตเป็นกรณีพิเศษที่มีพื้นที่นอกการเกษตรสูงโดยเปรียบเทียบ (35% โดยประมาณ)

ทีมงานวิจัยได้น้อมนำความคิดของสำนักภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ (New Economic Geography) และหลักการกระจายอำนาจมาเป็นเครื่องมือการวิจัย ดังนั้น เราตระหนักถึงความสำคัญของ “มิติพื้นที่” ซึ่งแตกต่างและหลากหลาย พยายามประมวลข้อมูลด้านเศรษฐกิจสังคมและการจัดสรรทรัพยากรที่เน้น “พื้นที่ภูมิศาสตร์” เพื่อเข้าใจว่าเมืองมีปฏิสัมพันธ์กันคือเป็นเมืองหลัก-เมืองรอง การรวมตัวของธุรกิจเป็นคลัสเตอร์ เช่นโรงงานรถยนต์กับโรงงานผลิตอะไหล่มักอยู่ใกล้ชิดกัน การศึกษาผลล้นออก (spillover effect) จากจังหวัดหนึ่งไปยังจังหวัดข้างเคียง และตัวทวีคูณท้องถิ่น

มีข้อสังเกต 6 จังหวัดที่ใช้พื้นที่นอกภาคการเกษตรสูงกว่าจังหวัดทั่วไป ข้อคิดที่ได้รับจากการวิเคราะห์ข้อมูล คือ หนึ่ง จังหวัดที่มีพื้นที่นอกการเกษตรสูงฐานะเศรษฐกิจมักจะดีหรือร่ำรวย เพราะนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สอง สำหรับจังหวัดอื่นๆที่พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้เพื่อป่าไม้หรือการเกษตร ความจริงให้คุณค่าสูงแต่ว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจอาจจะต่ำ เช่น จ.แม่ฮ่องสอนที่พื้นที่ส่วนใหญ่เพื่อป่าไม้และการอนุรักษ์ จังหวัดที่มีพื้นที่การเกษตรก็ให้ความมั่นคงทางด้านอาหาร นับเป็นประโยชน์หรือเป็นสินค้าสาธารณะ (public goods) สาม ในกลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่นอกการเกษตรสูง แน่นอนว่า GPP หรือรายได้จังหวัดย่อมจะสูงกว่า เสียภาษีเข้าคลังแผ่นดินมากกว่าเป็นเรื่องธรรมดา สี่ การที่รัฐจัดสรรรายได้แบ่งปันให้จังหวัดอื่นๆ ที่ไม่ร่ำรวย ในรูปเงินอุดหนุนมีเหตุผลและสมควร

เพราะว่าการที่สังคมไทยอยู่ร่วมกันได้บนความหลากหลายแตกต่าง ต่างก็ทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนกัน ถ้าไม่มีจังหวัดแม่ฮ่องสอนหรือจังหวัดอื่นๆ ที่มีพื้นที่ป่าไม้จำนวนมาก ประเทศชาติจะขาดแคลนแหล่งต้นน้ำธาร ปริมาณน้ำที่ไหลลงในแม่น้ำเจ้าพระยาหรือแม่น้ำสายอื่นๆ ในภาคกลางคงจะเปลี่ยนแปลงผันผวนมากตามฤดูกาล ไม่สวยงามเหมือนกับที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์

ณัฐพล สร้อยสมุทร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image