อาการ สะดุด สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กับ ‘เกษตร’

สภาพที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี “ประสบ” ในกรณีของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

อาจมิได้เป็นเรื่อง “เกาเหลา”

เพราะคำสั่งของนายกรัฐมนตรีก็เพียงแต่มอบหมายให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีอีกคน 1 มาทำหน้าที่แทน

เท่านั้น ไม่มีอะไรมากยิ่งไปกว่านั้น

Advertisement

ถามว่า “สภาพ” เช่นนี้จะทำให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ บังเกิดความหงุดหงิดและคับข้องใจหรือไม่ ในทางความคิดและในทางการเมือง

ไม่

ประสบการณ์ระดับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ตั้งแต่เป็น “อาจารย์” ตั้งแต่ทำหน้าที่ “ที่ปรึกษา” ให้กับนักธุรกิจระดับบิ๊กเบิ้ม กระทั่งเข้ามาดำรงตำแหน่งทาง “การเมือง”

ทำให้เรื่องซึ่งเกิดขึ้น “จิ๊บจ๊อย

ตอนอยู่กับรัฐบาลพรรคไทยรักไทยก็เคยถูก “โยกย้าย” ยิ่งกว่าลูกฟุตบอล จากกระทรวงการคลังไปยังกระทรวงพาณิชย์ ก็ประสบมาแล้ว

แค่ไม่ได้รับผิดชอบ “เกษตร” จึง “เนฟเวอร์ มายด์”

กระนั้น กระบวนท่าอันทำให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ไม่ต้องกำกับและดูแลงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็อดไม่ได้ที่จะทำให้หลายคนต้องคิด

คิดว่าเหมือนกับที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เคย “ประสบ”

จำได้หรือไม่ว่า แม้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล จะเป็น “รองนายกรัฐมนตรี” แต่ก็มีบางกระทรวงที่มิอาจแตะเข้าไปได้

ตอนนั้นดูเหมือนจะมี “กระทรวงพาณิชย์” รวมอยู่

ยิ่งกว่านั้น เมื่อคิดไปถึงสภาพ “เกาเหลา” ในยุครัฐบาล นายชวน หลีกภัย ยิ่งทำให้บังเกิดอาการหวาดเสียวเป็นทบเท่าทวีคูณ

นั่นก็คือ ระหว่าง นายศุภชัย พานิชภักดิ์ กับ นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์

ระยะกาลนี้ แม้ นายศุภชัย พานิชศักดิ์ จะดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ได้ชื่อว่าเป็นรองนายกรัฐมนตรี “ฝ่ายเศรษฐกิจ”

แต่ความเป็นจริงก็คือ นายศุภชัย พานิชภักดิ์ ไม่สามารถกำกับและดูแลงานกระทรวงการคลังได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่ต้องส่งเรื่องผ่าน นายศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรี หากต่อสายตรงไปยัง นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีได้เลย

เป็นเรื่องใน “อดีต” เป็นอดีตของรัฐบาล “นักการเมือง”

ถามว่าทั้งๆ ที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ แต่สามารถกำกับและดูแลงานของกระทรวงเศรษฐกิจได้ทุกกระทรวงหรือ

แตะไปยังกระทรวงพลังงานได้หรือไม่

แตะไปยังกระทรวงคมนาคมได้หรือไม่

ยิ่งตอนนี้มีคำสั่งให้พ้นจากความรับผิดชอบต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยิ่งทำให้กรอบและขอบข่ายของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ยิ่งจำกัด

จำกัดยิ่งกว่าที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประสบด้วยซ้ำ

ในฐานะเจ้าของความเชื่อที่ว่า “แปรวิกฤตเป็นโอกาส” ตามกระสวนความเชื่อในแบบจงหยวน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จึงต้องใช้ “พลัง” อย่างมากเป็นพิเศษ

เป็นพลังอย่างที่เรียกว่า “วิริยภาพ”

คำประกาศที่โรงแรมโนโวเทล สมุทรปราการ ที่ว่า “ผมเชื่อว่าจะไม่มีอะไรมาหยุดยั้งการเติบโตของเศรษฐได้เพราะพิสูจน์แล้วว่าเศรษฐกิจไทยยืนได้ด้วยตัวเองไม่ต้องพึ่งการส่งออก”

อาจสะดุด หยุดชะงัก ก็ได้

ลำพังเพียง “คำประกาศ” อาจฟังดูดี ได้ยินแล้วให้บังเกิดความคึกคัก แต่ที่ชี้ขาดอย่างแท้จริงอยู่กับ “ผล” อันจะตามมามากกว่า

สภาพที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประสบอาจเป็นสถานการณ์ “ชั่วคราว”และ “ชั่วขณะ”

ในที่สุดแล้วด้วยความเข้มแข็งประสานกับความเฉียบขาดในการบริหารแบบ “มิลิตารี” สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นเพียงเรื่องเล็ก-เล็กเรื่องหนึ่ง

ท่ามกลางการทะยานไปของ “เศรษฐกิจ4.0” อันสดใส กาววาว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image