สุจิตต์ วงษ์เทศ : ประวัติศาสตร์โบราณคดีของไทย รับใช้การเมืองของคนกลุ่มน้อย

สุจิตต์ วงษ์เทศ-แฟ้มภาพ

ประวัติศาสตร์โบราณคดีที่เป็นจริงและไม่หยุดนิ่ง ไม่แบ่งตายตัวแข็งทื่อเป็นยุคทวารวดี, ศรีวิชัย, เชียงแสน, ลพบุรี, สุโขทัย, อยุธยา ฯลฯ

แต่โครงเรื่องประวัติศาสตร์ไทย (ต้นแบบประวัติศาสตร์แห่งชาติ สำนวนที่ใช้แพร่หลายปัจจุบัน) แต่งขึ้นใหม่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ร.5 มองเห็นปัญหาบางประการ ทรงชี้ว่าประวัติศาสตร์ที่เขียนกันในสมัยนั้น ไม่ได้รวมประวัติศาสตร์ยุคก่อนอยุธยาซึ่งมียาวนานก่อน พ.ศ.1893 (ปีที่เชื่อว่าพระเจ้าอู่ทองสถาปนาพระนครศรีอยุธยา)

ประวัติศาสตร์แห่งชาติ เพิ่งสร้างใหม่ เพื่อธำรงรักษาอำนาจของชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยกีดกันส่วนใหญ่ที่เป็นคนกลุ่มต่างๆ ออกไป คนเหล่านั้นอยู่ในลุ่มน้ำทางภาคเหนือ, ภาคอีสาน, และภาคใต้ ไม่มียุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง มีแต่รัชสมัย (หรือ ราชธานี) ที่หยุดนิ่ง เช่น กรุงสุโขทัย, กรุงศรีอยุธยา

Advertisement

ความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ จึงเหลือแค่เปลี่ยนหน้าตัวละคร หรือเปลี่ยนฉากเท่านั้น [นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกไว้ในบทความเรื่องอนาคตในความทรงจำ พิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ประจำวันที่ 26 สิงหาคม-1 กันยายน 2559 หน้า 30]

แม้ถูกทักท้วงทางวิชาการบ้าง ก็ทักท้วงที่ไม่เปลี่ยนท้องเรื่อง เช่น ราชวงศ์พระร่วงมีกษัตริย์กี่พระองค์กันแน่? ศิลปกรรมอย่างนี้ควรเรียกศิลปะเขมร หรือลพบุรี? ฯลฯ

แต่ครูบาอาจารย์นักวิชาการในสถาบันการศึกษา ทั้งระดับมหาวิทยาลัยและอื่นๆ ไม่พิจารณาตามที่ ร.5 ทรงชี้ให้ดู

Advertisement

หนัก ข้อกว่านั้นคือตัดทิ้งสิ่งที่ ร.5 บอกไว้ แล้วยกย่องเทิดทูนประวัติศาสตร์แห่งชาติสำนวนกีดกันคนส่วนใหญ่เพื่อธำรง รักษาอำนาจของคนกลุ่มน้อย

เท่ากับมีการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ โบราณคดีเพื่อ รับใช้การเมืองของคนกลุ่มน้อย เหล่านั้นให้มีอำนาจ แล้วเบียดเบียนเอาเปรียบคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ

แต่พากันอ้างศีลธรรมโอ้อวดบอกคนทั่วไปว่า พวกตนเป็นอาจารย์เป็นนักวิชาการบริสุทธิ์ ไม่ยุ่งการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image