เดินหน้าชน : เร่งฉีดวัคซีน

น่าสนใจอย่างยิ่ง กรณีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 3/64 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี เพราะมองว่ามาตรการสินเชื่อและการเร่งปรับโครงสร้างนี้จะช่วยลดภาระการเงินได้ตรงจุดมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ย

กนง.มองว่าโควิด-19 ระลอก 3 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าระลอก 2 กระทบทั้งการใช้จ่ายในประเทศ การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว และกระทบต่อผู้ประกอบการ รวมถึงภาคครัวเรือน เรียกได้ว่ากระทบแทบทุกหย่อมหญ้า

ดังนั้น กนง.จึงมองเหมือนทุกคนว่า หัวใจหลักการฟื้นตัวเศรษฐกิจอยู่ที่การจัดหาและกระจายวัคซีน โดยตั้งสมมุติฐาน 3 กรณี ได้แก่

1.หากไทยจัดหาและกระจายวัคซีน 100 ล้านโดสในปี 2564 และเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หรือเฮิร์ด อิมมูนิตี้ (Herd Immunity) ภายในไตรมาส 1/65 คาดว่าจีดีพีไทยปี 2564 จะอยู่ที่ 2% จะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 1.2 ล้านคน จีดีพีปี 2565 จะฟื้นตัวที่ 4.7%

Advertisement

2.หากฉีดได้ 64.6 ล้านโดส ตามแผนเดิมของรัฐบาล จะเกิดเฮิร์ด อิมมูนิตี้ ล่าช้าออกไปเป็นไตรมาส 3/65 คาดว่าจีดีพีปี’64 จะอยู่ที่ 1.5% มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 ล้านคน จีดีพีปี’65 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.8% ผลกระทบต่อไทยราว 3.0% ของจีดีพี หรือราว 4.6 แสนล้านบาท

3.หากปีนี้ฉีดได้น้อยกว่า 64.6 ล้านโดส และเกิดเฮิร์ดอิมมูนิตี้ ล่าช้าออกไปเป็นไตรมาส 4/65 คาดว่าจีดีพีปี’64 จะอยู่ที่ 1.0% นักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 8 แสนคน จีดีพีปี’65 จะอยู่ที่ 1.1% ผลกระทบต่อไทยราว 5.7% ของจีดีพี หรือราว 8.9 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ กนง.มองว่าปัจจัยเปราะบางคือตลาดแรงงาน เพราะไตรมาส 1/64 ผู้ว่างงานระยะยาวอยู่ที่ 60,000 ราย เพิ่มขึ้นถึง 181% จากไตรมาสก่อนหน้า และคาดว่ากลุ่มผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนราว 260,000 คน อาจเพิ่มขึ้น หลังมาตรการจ้างงานเด็กจบใหม่ปีก่อนสิ้นสุดลง

Advertisement

ดังนั้น กนง.ประเมินว่าระยะถัดไปยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1.การกระจายและประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19 2.การฟื้นตัวแตกต่างกันและไม่ทั่วถึง ทำให้ตลาดแรงงานมีความเปราะบางมากขึ้น และส่งผลต่อรายได้ครัวเรือนและการบริโภคภาคเอกชน 3.ฐานะการเงินที่เปราะบางเพิ่มเติม โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีและธุรกิจท่องเที่ยว มีความสามารถชำระหนี้ลดลงตามรายได้ลดลง ภาคครัวเรือนมีสัดส่วนเงินออมต่อรายได้ลดลง ทำให้ความสามารถรองรับค่าใช้จ่ายได้ลดลง

เสียงสะท้อนจาก กนง.คือรัฐบาลต้องเร่งทำทุกวิถีทาง ระดมสรรพกำลังอย่างเต็มที่ จัดหาวัคซีนและรีบฉีดให้ประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยเร็วที่สุด ไม่ว่าจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นแค่ไหน เพราะวัคซีนจะตอบโจทย์ทุกอย่าง

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะมองไปไกลถึงขั้นว่า พยายามหาวัคซีนให้ได้มากกว่า 100 ล้านโดส อาจจะเป็น 150-200 ล้านโดสด้วยซ้ำ เพราะไม่แน่ว่าการแพร่ระบาดของโควิดจะยืดเยื้อยาวนาน เชื้อกลายพันธุ์ ทำให้ต้องฉีดวัคซีนกันถึง 3 เข็มหรือไม่

แต่นั่นเป็นเรื่องไกลตัว ทางที่ดีรีบหาเข้ามาให้ได้มากๆ เร็วๆ ก่อนประชาชนจะเดือดร้อนหนักกว่านี้ มีคนฆ่าตัวตายรายวันมากกว่านี้

เพราะยังมีเรื่องการรณรงค์ให้ประชาชนอย่ากลัวการฉีดวัคซีน ถือเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่อง

นับตั้งแต่วันที่ 1 พค.64 รบ.เปิดให้ประชาชนกลุ่มแรกมาลงทะเบียนฉีดประมาณ 16 ล้านคน แต่จนถึงวันนี้ลงทะเบียนฉีดจริงไม่ถึง 2 ล้านคนเท่านั้น

ยังมีคนอีกมากกลัวตาย ไม่กล้าฉีด ทำให้ขณะนี้บรรดาหมอต่างออกมาเรียกร้องให้ประชาชนฉีดวัคซีนกันมากๆ ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้ออะไร ฉีดย่อมดีกว่าไม่ฉีด เพราะความรุนแรงหากติดโควิดจะลดลง และผลไม่พึงประสงค์จากการฉีดก็เกิดน้อยมาก เพราะเพื่อให้เกิดเฮิร์ด อิมมูนิตี้ เร็วที่สุด

รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อมั่น ให้ประชาชนเห็นข้อดีของการฉีดวัคซีนโดยด่วน
อย่าให้ถึงขั้นต้องจัดโปรโมชั่นเหมือนในสหรัฐอเมริกา ให้คนมาฉีดวัคซีนจะได้สิทธิพิเศษได้รับโดนัท และเบียร์ ฟรี กันเลย

เพราะนอกจากเสียงบประมาณเพิ่มเติมแล้ว ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลแค่ไหน ถึงต้องจ้างฉีดวัคซีนกันเลยทีเดียว

สุรพล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image