กลยุทธ์ ขยายผล จาก ประชามติ โมเดล สู่ “การเลือกตั้ง”

แรกที่ได้ยินเสียง นายไพบูลย์ นิติตะวันออกมาเสนอ “แจแปน โมเดล” ในการบริหารจัดการ “การเลือกตั้ง” ตามโรดแมปปลายปี 2560

หลายคนอาจ “หัวเราะ”

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ และ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อาจมองว่าจะไม่เป็นผลดีกับผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่ ซึ่งก็หมายถึงพรรคประชาชนปฏิรูปของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เอง

ขณะที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ สรุปว่า “เลอะเทอะ”

Advertisement

พร้อมกับเสนอด้วยความปรารถนาดีว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรออกมา “ปราม” มิให้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เสนออะไรที่เลอะเทอะมากยิ่งไปกว่านี้

แต่พลันที่เห็น “รายงาน” จาก “สปท.”

เป็นรายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ทุกคนก็ต้องร้อง “อ๋อ” อย่างพร้อมเพรียง

เพราะประธานคณะกรรมาธิการคือ นายเสรี สุวรรณภานนท์

ยิ่ง นายวันชัย สอนศิริ ซึ่งเป็นกรรมาธิการร่วมอยู่ด้วยออกมาส่งเสียงเจื้อยแจ้วจำนรรจาถึงรายละเอียดที่จะเสนอไปยัง กรธ.เพื่อจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ

ทุกคนย่อมถึง ZATORI โดย AUTOMATIC

การเสนอของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน

อาจมีบางส่วนเห็นว่าเป็นเรื่องเลอะเทอะ แต่การขับเคลื่อนของคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านการเมือง สปท.

ยากยิ่งที่จะเป็นเรื่องเหลวไหล ไร้สาระ

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า “คำถามพ่วง” ก็ชงขึ้นโดยที่ประชุมของ สปท.และคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองชุดนี้ มิใช่หรือ

สปท. “ร้อง” สนช. “รำ”

ขณะเดียวกัน ร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญอาจมีรากงอกมาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ในที่สุดก็ออกมาเป็น พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 โดยที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

และคนที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จนออกมาได้อย่างสดสวยงามตาก็คือ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม

อดีตคือผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

อดีตได้สะสมบทเรียนและประสบการณ์ในการบริหารจัดการการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 อย่างใกล้ชิด จึงสามารถผลักดันเนื้อหาของ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ออกมาได้เช่นนั้น

ทั้งหมด คือ การประสานและร่วมมือกันระหว่าง “แม่น้ำ 5 สาย”

ไม่ว่านักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่านักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ ต่างมองเห็นความไม่เหมือนกันระหว่าง “ประชามติ” กับ “การเลือกตั้ง”

จึงไม่เชื่อว่า พ.ร.บ.การเลือกตั้งจะไม่เป็น

อย่าง พ.ร.บ.ประชามติ

จึงมีบทสรุปตรงกันว่า ข้อเสนอจาก นายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นเรื่องประเภทอิมพอสสิเบิล เป็นเรื่องประเภทเลอะเทอะ

หลุดจาก “สมอง” ของคนที่ไม่มีประสบการณ์ “การเลือกตั้ง”

แต่พลันที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ และ นายวันชัย สอนศิริ 2 เกลอจาก สปท.ออกมาขานรับผ่านบทรายงานที่เสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

ก็เริ่มสงสัย และเริ่มมองได้ออก

มองออกได้ว่ามีความเป็นไปได้สูงอย่างยิ่งที่จะมีการต่อยอดความสำเร็จจากกระบวน

การควบคุมการออกเสียงประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม

กระทั่ง ก่อรูปเป็น “ประชามติ โมเดล”

“ประชามติ โมเดล” นั้นแหละจะกลายเป็นพิมพ์เขียวอันทรงความหมาย แสดงบทบาทเป็นเครื่องมือให้กับการบริหารจัดการเรื่อง “การเลือกตั้ง”

เท่ากับเป็นการประกัน “ชัยชนะ”

เพื่อมิให้กระบวนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นประมาณปลายปี 2560 ซ้ำรอยกับความพ่ายแพ้เหมือนกับการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550

ยุทธศาสตร์ก็คือ มิให้เป็น “รัฐประหารเสียของ” อีก

บทบาทของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน แห่งพรรคประชาชนปฏิรูป คือ บทบาทในการนำร่องเป็นหัวหมู่

เป็นบทบาทเช่นเดียวกับบทบาทของ นายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นบทบาทเช่นเดียวกับบทบาทของ นายวันชัย สอนศิริ ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

เป็นบทบาทตาม “ใบสั่ง” เพื่อบรรลุ “เป้าหมาย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image