CSR ที่แท้ คอลัมน์ คุณภาพคือความอยู่รอด โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

กระแสของ CSR ในวันนี้ เป็นไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว จนผู้บริหารของ (แทบ) ทุกกิจการ (ใหญ่ๆ) โดยเฉพาะ “โรงงาน” ต่างต้องกล่าวอ้างถึงกิจกรรม CSR ที่ทำให้กับสังคม

CSR ที่ว่านี้มาจากคำว่า “Corporate Social Responsibility” ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ”

พัฒนาการของ CSR น่าจะมาจากมาตรฐานสากลขององค์กร ISO ชื่อ “SA8000” ที่เป็นเรื่องของ “Social Accountability” (SA) เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ที่ว่าด้วย “มาตรฐานของการจ้างแรงงาน” และ “มาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทำงาน” เป็นหลัก ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นมาตรฐาน “ISO 26000” ที่ว่าด้วย CSR โดยตรง

ว่าไปแล้ว แก่นแท้ของ CSR ประกอบด้วยประเด็นสำคัญๆ ที่ว่าด้วยเรื่องของ “การลงทุนที่มีความรับผิดชอบ” (Responsible Investment) ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) กับธุรกิจอุตสาหกรรม อันได้แก่ ผู้ถือหุ้น พนักงานลูกจ้าง (ผู้ใช้แรงงาน) คู่ค้า ลูกค้า ชุมชน และสังคมที่ได้รับผลกระทบจากกิจการ รวมถึงเรื่องการประกอบกิจการอย่างมีธรรมาภิบาล และไร้คอร์รัปชั่นด้วย

Advertisement

แต่ในวันนี้ ส่วนใหญ่เราจะพูดถึง CSR ในแง่ของการบริจาคสิ่งของหรือเงินให้กับชุมชน หรือสังคม และเน้นในเรื่องของกิจกรรมที่ทำให้กับชุมชน หรือสังคม เช่น ถางป่า ปลูกป่า ปลูกปะการัง ทำความสะอาดชุมชนหรือวัด หรือทาสีตีเส้นจราจร การช่วยกิจการสังคม เป็นต้น ส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับ “การลงทุนที่มีความรับผิดชอบ” จะมีการพูดถึงกันบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก จนดูคล้ายไม่ใช่ประเด็นหลัก โดยเฉพาะในประเด็นของการประกอบกิจการอย่างมีธรรมาภิบาล และการไม่มีคอร์รัปชั่น ซึ่งกลายเป็นเรื่องรองๆ ลงไป ทั้งที่การคอร์รัปชั่นจะมีผลกระทบต่อธุรกิจ เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าแพงขึ้น

การประชุม CSR ทั้งระดับประเทศหรือระดับโลกในวันนี้ มักจะให้ความสำคัญกับ “รูปแบบ” ของ CSR มากขึ้น ได้แก่ การจัดทำรายงานเกี่ยวกับ CSR (Sustainability Report) การกำหนดมาตรฐานที่ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย จรรยาบรรณ จริยธรรม ธรรมาภิบาล และการส่งเสริมให้คู่ค้าของเราเข้าร่วม CSR เป็นต้น ประเด็นเหล่านี้แม้เกี่ยวข้องกับ CSR แต่ก็เป็นในเชิงของรูปแบบเท่านั้น นอกจากนี้การรณรงค์เรื่อง CSR ยังขยายขอบเขตออกไปสู่ “การทำดีต่อสังคม” (Doing Good / Doing Well) ในรูปแบบต่างๆ อีกมากมาย โดยยังไม่ได้เน้นในเนื้อหาของ “การประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีความรับผิดชอบ” อย่างชัดเจน

แม้ทุกภาคส่วนในสังคมควรจะร่วมกันให้ความช่วยเหลือและแบ่งปันให้สังคมด้วย แต่การแก้ปัญหาสังคมก็ควรจะต้องทำกันอย่างเป็นระบบ ครบวงจร เพื่อไม่ให้การแก้ปัญหาในที่หนึ่งไปสร้างปัญหาในอีกที่หนึ่ง และต้องไม่ใช่การทำดีเพื่อจะได้หน้า หรือสร้างภาพอย่างเดียว หรือมีเจตนาแอบแฝงอื่นๆ ด้วย

Advertisement

วันนี้ จึงควรเน้นที่ CSR ที่ว่าด้วย “การลงทุนที่มีความรับผิดชอบ” และ “การประกอบกิจการที่มีความรับผิดชอบ” ตั้งแต่ต้นทางอย่างแท้จริง ครับผม !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image